รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG ชี้เทรนด์โลกเปลี่ยน ผู้บริโภคใส่ใจเรื่องความยั่งยืน ESG จึงเป็นโอกาส ถ้าทำได้เร็ว สามารถเป็นผู้นำในเซ็กเตอร์ได้ดีจะส่งผลให้ขายของได้ และเป็นตัวเปลี่ยนเกมธุรกิจ ถ้าไม่เปลี่ยน ไปไม่รอด
วันที่ 25 กรกฏาคม 2566 นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เปิดกล่าวในงานสัมมนา ESG : Game Changer #เปลี่ยนให้ทันโลก ในหัวข้อ ESG เส้นทางใหม่ไร้ขีดจำกัดซึ่งจัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความท้าทายที่ภาคธุรกิจต้องเจอในปัจจุบัน หากมองระยะสั้น คือ หนึ่ง เรื่องค่าครองชีพที่แพงขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้กำลังซื้อของคนลดลงไปมาก
สอง ภาคเศรษฐกิจใช้เวลาฟื้นตัว ถึงแม้ประเทศไทยฟื้นตัวดีที่สุดในอาเซียน เพราะมีภาคท่องเที่ยวมาช่วย แต่ต้องยอมรับว่า การฟื้นตัวไม่เท่ากันในแต่ละเซ็กเตอร์ เพราะภาคที่ไปได้ดีจะเกี่ยวข้องกับการบริโภค เรื่องอาหาร แต่ภาคส่งออกเหนื่อย ตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป จะเข้าเกณฑ์เอลนีโญ ที่เราต้องบริหารจัดการน้ำ เพราะมีความไม่แน่นอน ถึงแม้มีฝนตกไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ภาพรวมฝนตกน้อยลง 20%
ส่วนความท้าทายในระยะยาว คือ หนึ่ง สังคมผู้สูงอายุ แรงงานจะน้อยลง การหารายได้น้อยลง ส่งผลกับการบริโภค
สอง การลงทุน ไทยไปเน้นการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนมีน้อยมาก ตรงนี้ต้องให้ความสำคัญ
และสาม ESG เรื่องภาวะโลกร้อน ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงอากาศ ฝนตกมาก หรือน้ำแข็งละลาย แต่หลาย ๆ ประเทศตื่นตัว เรื่องอื่น ๆ ด้วย และเริ่มมีกฎเกณฑ์ระดับหนึ่ง ดังนั้น ภาคธุรกิจจะปรับตัวให้เข้ากับ ESG อย่างไร
นายรุ่งโรจน์ กล่าวด้วยว่า SCG ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนมานานแล้ว โดยธุรกิจของ SCG ขายสินค้าอยู่ในประเทศไทย 55% ต่างประเทศ 45% และจะเพิ่มต่างประเทศมากขึ้น เพราะหลายอย่างที่เอสซีจีทำ ขายได้ดีในต่างประเทศ เนื่องจากทำได้สอดคล้องกับ demand ของต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อย่างในเรื่องการทำแพ็คเกจจิ้งต้องรีไซเคิลได้หมด
“ที่ SCG เรามี core value ที่เน้นความรับผิดชองต่อสังคม ปลูกฝังพนักงานกว่า 5 หมื่นคนให้ตระหนักเรื่องนี้ เพราะในฐานะที่เราทำอุตสาหกรรมหนัก ใช้พลังงานและปล่อยคาร์บอนค่อนข้างมาก คิดเป็น 7-8% ของทั้งประเทศ ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ ลดคาร์บอนอย่างจริงจัง มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2593 โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ของปีฐาน 2563 ภายในปี 2573 และเป็น net zero ภายในปี 2595”
“หากถามว่า ESG เป็นโอกาสหรือไม่ ? วันแรก ๆ ผมไม่ได้คิดถึงตรงนี้ แต่ก็เน้นดำเนินธุรกิจให้ครบตามข้อกำหนดต่าง ๆ เช่น 4-5 ปีที่แล้ว ที่เริ่มเข้าร่วมสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development) แล้วเขาบังคับให้เรากำหนดเป้าหมาย net zero ถ้าทำไม่ได้ก็จะหลุดจากการเป็นสมาชิก”
“แต่ตอนนี้ผมมองว่า เทรนด์ในโลกเปลี่ยนไป ผู้บริโภคมีความใส่ใจเรื่องความยั่งยืน ทั้งคนรุ่นใหม่และ supply chain ก็ตื่นตัว ดังนั้น ESG เป็นโอกาส ถ้าทำได้เร็ว ทำได้หนักแน่น และสามารถเป็นผู้นำในเซ็กเตอร์ได้ดี จะส่งผลให้ขายของได้ ยืนอยู่ได้ มองหน้าผู้อื่นได้ และดึงดูดพนักงานเก่ง ๆ ได้”
“เรื่อง ESG จึงเป็นตัวเปลี่ยนเกมธุรกิจ ตอนนี้เริ่มเห็นภาพชัดแล้วว่าถ้าไม่เปลี่ยนไปไม่รอด ซึ่งหมายถึง ถ้าเราสามารถเปลี่ยนและพัฒนาตัวเอง หาอะไรใหม่ ๆ ที่อยู่ภายใต้กรอบหรือทิศทางที่เราจะเดินไป เราก็มีโอกาสรอด” กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG กล่าว
ความเห็น 0