โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คุณพุ่ม กวีหญิงแห่งรัตนโกสินทร์ | วัชระ แวววุฒินันท์

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 14 ส.ค. 2566 เวลา 19.11 น. • เผยแพร่ 11 ส.ค. 2566 เวลา 15.48 น.
คุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง 2243

หลายตอนก่อนหน้านี้ ผมได้เคยเขียนถึงละครแนวประวัติศาสตร์เรื่อง “บุษบาลุยไฟ” ไปแล้ว เป็นละครที่นำเรื่องราวด้านศิลปวัฒนธรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 มาผูกเข้ากับการเดินเรื่องของตัวละครที่แต่งขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจ

ในเรื่องนี้มีตัวละครที่มีชีวิตจริงอยู่หลายคน รวมทั้งกวีเอกอย่าง “สุนทรภู่” ที่คนไทยรู้จักดี

และยังมีตัวละครอีกตัวหนึ่งที่มีตัวตนจริงและมีบทบาทสำคัญต่อการเดินเรื่องของละครเรื่องนี้ด้วย นั่นก็คือ “คุณพุ่ม” ที่มีฉายาว่า “บุษบา ท่าเรือจ้าง” ซึ่งคนไทยทั่วไปอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน และไม่รู้เรื่องราวของคุณพุ่มนี้เลย

ชื่อตอนนี้มีว่า “คุณพุ่ม กวีหญิงแห่งรัตนโกสินทร์” ซึ่งจะบอกเล่าถึงความเป็นตัวตนที่น่าสนใจในตัวของคุณพุ่มนี้

ในสมัยก่อนนั้น หายากนักที่ผู้หญิงจะรู้หนังสืออย่างลึกซึ้ง และมีความสามารถในเรื่องกาพย์กลอนสักวาจนโดดเด่นเทียบเคียงผู้ชายที่เป็นใหญ่ในสังคมได้ เรียกว่าพื้นที่นี้แทบไม่มีการเปิดโอกาสให้สตรีเลยก็ว่าได้

แล้วเหตุไฉนคุณพุ่มจึงถีบตัวเองขึ้นมาได้ถึงเพียงนี้

คุณพุ่มเกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 ไม่แจ้งวันเวลาแน่นอน มาเติบโตมีชื่อเสียงในยุคสมัยของรัชกาลที่ 3 โดยเกิดในตระกูลสูง เป็นบุตรีของพระยาอภัยราชมนตรี (ภู่) ซึ่งเป็นแต้มต่อที่ทำให้คุณพุ่มได้มีโอกาสเล่าเรียนเขียนอ่าน ที่หญิงสามัญชนทั่วไปจะไม่มี

คุณพุ่มนั้นนอกจากจะมีความงามจนเป็นที่กล่าวขวัญถึงแล้ว ยังรักเรื่องการแต่งบทกวีและสักวามาแต่เดิมแล้ว เป็นคนรักอิสระ ชอบทำอะไรตามใจตัว แม้เมื่อได้ถวายตัวเข้าไปอยู่ในวังเป็นข้าหลวงของรัชกาลที่ 3 ก็อยู่ได้ไม่นาน ขอทูลลากลับมาบ้าน บอกว่าไม่ค่อยสบาย

แท้จริงแล้วคุณพุ่มอยากได้ทำอะไรที่ตนเองชอบได้อย่างง่ายดายนั่นเอง นั่นก็คือการแต่งกลอน นอกเหนือจากการรับคัดลอกหนังสือให้คนทั่วไปแล้ว

ฝีมือการแต่งกลอนของคุณพุ่มเป็นที่กล่าวขวัญว่าฝีปากกล้า มีอารมณ์ขัน จะมีนักกลอนผู้ชายหลายต่อหลายคนแวะเวียนมาที่บ้านเพื่อต่อกลอนสดประชันกันเป็นที่สนุกสนาน

หนึ่งในนั้นก็คือ “สมเด็จพระปิ่นเกล้า” ที่ตอนนั้นทรงมีพระยศเป็น “กรมขุนอิศเรศรังสรรค์”

ครั้งหนึ่งได้มีการว่าสักวากันระหว่างกรมขุนอิศเรศฯ และคุณพุ่ม โดยนำเรื่องอิเหนามาแสดง กรมขุนฯ นั้นเป็นอิเหนา ส่วนคุณพุ่มเล่นเป็นบุษบา ว่ากันว่าการต่อสักวาสดระหว่างอิเหนาและบุษบาครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือมาก เพราะคุณพุ่มหาได้เกรงกลัวกรมขุนฯ ไม่ แต่งสักวาย้อนกลับอย่างถึงพริกถึงขิง ถูกใจผู้ได้ชมเป็นยิ่งนัก

นี่ก็คือความสามารถอันเอกอุ บวกกับความมั่นใจชนิดเกินคาราเบลของสตรีในยุคนั้นอย่างมาก ประกอบกับทั้งสองคงมีความสนิทสนมกันอยู่เดิมด้วย เพราะเล่ากันว่า ถึงขึ้นคุณพุ่มเคยไปแย่งพระแสงมาจากมือของกรมขุนอิศเรศฯ เลยทีเดียว

จากเหตุการณ์ที่ประชันเรื่องอิเหนานี้เอง คุณพุ่มเลยได้รับฉายาว่า “บุษบา” ส่วนท่าเรือจ้างนั้นมาจากที่ว่า บ้านของคุณพุ่มเป็นบ้านเรือนแพที่จอดอยู่ใกล้ท่าเรือจ้างท่าพระ ซึ่งบิดาของคุณพุ่มเป็นเจ้าของอยู่ เวลาว่างจากการแต่งกลอน ก็ได้ช่วยเก็บค่าเรือจ้างด้วย

จึงมีสร้อยเติมจากชื่อว่า “บุษบา ท่าเรือจ้าง”

สําหรับกวีเอกอย่างสุนทรภู่ก็มีความคุ้นเคยกับคุณพุ่มดี ได้มีการต่อกลอนสดประชันกันเป็นครั้งคราว ซึ่งตอนนั้นทั้งสองท่านนั้นโด่งดังมีชื่อเสียงมาก หากเป็นตอนนี้คงเทียบได้กับศิลปินดังๆ อย่าง เบิร์ด ธงไชย กับ ใหม่ เจริญปุระ ประมาณนั้น

ในยุคสมัยนั้นที่ยังไม่มีการพิมพ์เกิดขึ้น จึงมีการเผยแพร่บทประพันธ์โคลงกอนและนิทานต่างๆ โดยการคัดลอก กล่าวคือ เมื่อผู้แต่งเขียนบทที่แต่งลงในหนังสือเสร็จ หากผู้ใดสนใจจะอ่าน ก็ต้องมาคัดลอกไป และผู้แต่งก็คิดเงินจากการคัดลอกนั้น ซึ่งเป็นรายได้ไม่น้อยสำหรับคุณพุ่มทีเดียว

เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินสู่รัชกาลที่ 4 คุณพุ่มก็เข้าสู่วัยกลางคน และสิ้นบุญของบิดาแล้ว ก็ได้รับจ้างแต่งกลอนตามที่คนมาว่าจ้างเพื่อเลี้ยงชีพ พอจะมีรายได้เลี้ยงดูตนเองอยู่บ้าง

เพราะจากประวัติไม่ปรากฏว่าคุณพุ่มได้แต่งงานกับผู้ใด ซึ่งเข้าใจได้ว่าด้วยความเก่งเกินสตรีของคุณพุ่ม และด้วยความเชื่อมั่นในตนเองสูง พวกเหล่าชายจึงไม่มีใครกล้าจีบ คงกลัวและขยาดนั่นเอง

คุณพุ่มได้รับเมตตาจากเจ้านายสองพระองค์ที่ทรงรับไปดูแล ซึ่งต่อมาเจ้านายทั้งสองก็สิ้นพระชนม์ลง รวมทั้งในหลวงรัชกาลที่ 4 ที่เสด็จสวรรคต

ผลัดแผ่นดินสู่รัชกาลที่ 5 คุณพุ่มซึ่งสูงวัยก็ได้รับพระกรุณาธิคุณจากในหลวง โปรดให้รับมาอยู่ในวัง โดยการดูแลของสมเด็จกรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร ซึ่งเป็นพระอภิบาลของรัชกาลที่ 5 นั่นเอง

ผลงานของคุณพุ่มที่ปรากฏก็มี เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5, เพลงยาวสามชาย, เพลงยาวบวงสรวงฉลองสระบางโขมด และ นิราศวังบางยี่ขัน

ผลงานหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการจินตนาการและการเก็บรายละเอียดในเรื่องต่างๆ ของคุณพุ่มได้อย่างดี คือ มีผู้ได้ไปเที่ยวที่ฮ่องกงมา และได้มาเล่าถึงเรื่องราวในการเดินทางครั้งนั้นให้คุณพุ่มฟัง ซึ่งคุณพุ่มก็ได้แต่งออกมาเป็น “นิราศฮ่องกง” ได้อย่างเห็นภาพเหมือนกับได้เดินทางไปเสียเอง

การที่คุณพุ่มใช้ชีวิตตามที่เล่านี้ ได้สร้างชื่อและผลงานออกมาได้นั้น ต้องฝ่าฟันกับความเชื่อและอคติของสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ มีความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศชายและหญิงอยู่เสมอ ในละครเรื่อง “บุษบาลุยไฟ” ได้มีบางช่วงบางตอนที่คุณพุ่มได้สะท้อนถึงเรื่องดังกล่าวนี้เหมือนกัน

ตอนหนึ่งที่คุณพุ่มได้รับเลี้ยงดูลำจวน นางเอกของเรื่อง ที่มาขอฝากชีวิตด้วย คุณพุ่มได้กล่าวกับลำจวนว่า

“เกิดเป็นหญิง แท้จริงยากแท้นัก เจ้าไม่อาจทำสิ่งที่เจ้าปรารถนาได้ดอก”

อีกตอนหนึ่งที่คุณพุ่มรำพึงกับคนสนิทเชิงน้อยเนื้อต่ำใจว่า

“หากข้าเป็นชาย จะไปไหนมาไหนให้มากกว่าท่านภู่ จะได้เขียนนิราศกี่เรื่องต่อกี่เรื่อง แต่นี่นิราศสักเรื่องข้าก็ยังไม่ได้เขียน”

และเมื่อพูดถึงว่าสังคมนั้นมองตนอย่างไร คุณพุ่มก็กล่าวอย่างปลงตกว่า

“สาวใหญ่ตัวคนเดียว หวงหลานหนุ่มน้อยรูปงามไว้ในบ้าน เจ้าว่ามันดูเป็นอะไรกัน แค่สหายชายมาพบข้าด้วยธุระปะปังต่างๆ คนเขายังพูดกันนักหนาเลยว่า บุษบา ท่าเรือจ้าง คบผู้ชายพายเรือ ขึ้นๆ ลงๆ แพกันครึ่กๆ เรือลำนี้เข้า เรือลำนี้ออก ก็ยังโดนนินทาไม่บ่อยรึไงวะ”

ในละครผู้ที่รับบทคุณพุ่ม คือบัว-ภัทรสุดา อนุมานราชธน จบปริญญาตรี ภาคศิลปะการละคร จากอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และไปศึกษาต่อปริญญาโททางด้านการแสดงจาก Goldsmith college, University of London

ภัทรสุดา สวมบทบาทของคุณพุ่มได้อย่างดี มีทั้งความแข็งแกร่งเด็ดเดี่ยวอยู่ในที แต่ก็แฝงไว้ด้วยความเป็นศิลปินที่มีจินตนาการสูง และมีเมตตาต่อผู้อื่น โดยเฉพาะกับ “ลำจวน” นางเอกของเรื่องที่รับบทโดย เฌอปรางค์ อารีย์กุล

เรื่องราวของคุณพุ่มนั้น เคยได้ปรากฏในละครเรื่องอื่นมาแล้วเหมือนกัน เช่น “หมอหลวง” ทางช่อง 3 และ “เภตรานฤมิต” ทางช่อง 7 สำหรับตอนนี้กำลังวาดบทบาทอยู่ในละคร “บุษบาลุยไฟ”

หากใครสนใจก็ชมได้ทางสถานี TPBS ในวันศุกร์-อาทิตย์ และจะได้พบกับสตรีที่น่าทึ่งที่ชื่อ “คุณพุ่ม” หรือ “บุษบา ท่าเรือจ้าง” นั่นเอง •

สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj

— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น