คนมองหนัง
‘Jade Dynasty : กระบี่เทพสังหาร’
‘หนังกำลังภายในลูกผสม’
“Jade Dynasty” หรือในชื่อภาษาไทย “กระบี่เทพสังหาร” เป็นภาพยนตร์จีนแนว “แฟนตาซี-กำลังภายใน” เรื่องดังของปี 2019 ซึ่งทำรายได้มหาศาลในจีนแผ่นดินใหญ่ และทำรายได้ในเมืองไทยไปไม่น้อย
ตามประสาคนเชยๆ ผู้เขียนจึงเพิ่งได้ดูหนังเรื่องนี้ (อย่างสนุกสนานเพลิดเพลินตามสมควร) ผ่านทางเน็ตฟลิกซ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง
เข้าใจว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ “กระบี่เทพสังหาร” ได้รับความนิยมอย่างสูง ก็คือความฮอตฮิตของดารานำชาย
อย่างไรก็ดี ในมุมมองผู้บริโภคคนหนึ่งที่เติบโตมาท่ามกลางอิทธิพลของสื่อบันเทิงฮ่องกงยุค 90 “กระบี่เทพสังหาร” นั้นมีความน่าสนใจ ตรงที่หนังเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับฯ ของ “เฉิงเสี่ยวตง” ซึ่งสร้างชื่อจาก “ไตรภาคโปเยโปโลเย” และ “ไตรภาคเดชคัมภีร์เทวดา”
จึงมิใช่เรื่องแปลก ที่ “Jade Dynasty : กระบี่เทพสังหาร” จะมี “ความเป็นลูกผสม” ระหว่างหนังแฟนตาซีจากจีนแผ่นดินใหญ่ยุคใหม่ ซึ่งมุ่งโชว์ความอลังการตระการตา (จนถึงขั้นฟุ้งเฟ้อ) ของการใช้เทคนิคพิเศษทางคอมพิวเตอร์ และหนัง/ซีรีส์กำลังภายในแบบฮ่องกง ซึ่งใส่ใจกับคุณธรรมน้ำมิตรสลับซับซ้อนในยุทธจักรที่สับสนวุ่นวายเสมือนผืนธงอันปลิวไสวไม่เคยหยุดนิ่ง
พล็อตของ “กระบี่เทพสังหาร” ไม่ได้แปลกใหม่มากมายนัก เพราะนี่คือหนังจีนกำลังภายในอีกหนึ่งเรื่อง ซึ่งกล่าวถึงพรมแดนอันพร่าเลือนระหว่าง “เทพ” กับ “มาร” การก้าวเข้าสู่ “ด้านมืด” ของตัวละครเด็กหนุ่มผู้มีจิตใจดีงาม และสุขนาฏกรรมที่ต้องลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมรวมถึงการแบ่งมิตรแยกศัตรู
ในเชิงรายละเอียด องค์ประกอบหลายๆ อย่างของหนังเรื่องนี้ อาจเชิญชวนให้คนดูบางรายย้อนระลึกถึงหนัง/ซีรีส์กำลังภายในฮ่องกงยุครุ่งเรือง ตลอดจนความบันเทิงอื่นๆ ของยุค 80-90-ต้น 2000
(โดยที่ผู้เขียนบทความยังไม่เคยอ่านนิยายต้นฉบับ รวมทั้งไม่เคยดูซีรีส์ “จูเซียน กระบี่เทพสังหาร” ที่ยาวและละเอียดกว่าเวอร์ชั่นภาพยนตร์)
การดำรงอยู่ของขุนเขาทั้งเจ็ดใน “สำนักชิงหยุน” (เมฆาเขียว) ย่อมทำให้คอกำลังภายในจำนวนไม่น้อยมองเห็นภาพรางๆ ของ “ห้าขุนเขากระบี่” ใน “กระบี่เย้ยยุทธจักร/เดชคัมภีร์เทวดา”
ยิ่งกว่านั้น ความรักอันไม่สมหวังระหว่างศิษย์พี่-ศิษย์น้องร่วมสำนัก หรือความรักความผูกพันระหว่างพระเอกกับธิดาพรรคมาร ที่ปรากฏใน “กระบี่เทพสังหาร” ก็เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ซึ่งเคยดำรงอยู่ใน “กระบี่เย้ยยุทธจักร” เช่นเดียวกัน
ขณะที่สายสัมพันธ์อันเคร่งเครียด-กดดันระหว่างอาจารย์หญิงกับศิษย์เอกสตรี ก็ทำให้อดนึกถึง “มิกจ้อซือไท่” และ “จิวจี้เยียก” แห่ง “สำนักง้อไบ๊” ใน “ดาบมังกรหยก” ไม่ได้
นอกจากนี้ หากพิจารณาในบริบทข้ามวัฒนธรรม การที่พระเอกของ “กระบี่เทพสังหาร” มีอาวุธคู่กายเป็น “ไม้เท้า” หรือ “ไม้ดูดวิญญาณ” ทั้งยังมีสัตว์เลี้ยงคู่ใจเป็น “หมา” และ “ลิง” ก็อาจทำให้คอจักรๆ วงศ์ๆ หลายคนหวนนึกถึงเรื่องราวใน “ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” ที่ตัวละครเอกมี “ไม้เท้าวิเศษ” เป็นอาวุธ ส่วนตัวละครนำอีกรายมีเพื่อนคู่หูเป็น “สุนัขแสนรู้”
โดยยังไม่ต้องนับรวมสภาวะที่ตัวละครนำของ “กระบี่เทพสังหาร” ค่อยๆ เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “ด้านมืด” ซึ่งเป็นประเด็นสากล อันสามารถพบเห็นได้ในเรื่องเล่า/ภาพยนตร์แนวมหากาพย์จากทั่วทุกมุมโลก เช่น “Star Wars” เป็นต้น
การเป็น “หนังแฟนตาซีกำลังภายในยุคใหม่” ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่ ส่งผลให้ “กระบี่เทพสังหาร” ต้องขับเน้นความใหญ่-เยอะ ผ่านการสร้างภาพด้วยเทคนิคพิเศษทางคอมพิวเตอร์ (จนหลายฉากแทบจะกลายเป็นวิดีโอเกม)
“ความต้องการใหม่” ดังกล่าว มีส่วนทำให้บุคลิกลักษณะของตัวละครภายใน “หนังจีนกำลังภายในรุ่นหลังๆ” เปลี่ยนแปลงผันแปรไป
แม้จะเป็นที่รับรู้กันดีว่า “นิยายกำลังภายใน” ตั้งแต่ยุคของ “โกวเล้ง” และ “กิมย้ง” มักเต็มไปด้วยเหล่าตัวละครอันมากมายหลายหลาก
โดยที่ตัวละครแทบทั้งหมดคือปัจเจกบุคคล ผู้มีชีวิตจิตใจและลักษณะเด่น-ด้อยเฉพาะด้านของตนเอง (ส่วนแต่ละคนจะมีบทบาทมากน้อยเท่าใดนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง)
บ่อยครั้ง จำนวนที่มากมายของตัวละครในนิยายกำลังภายในคลาสสิค ก็สะท้อนผ่านอัตลักษณ์ความเป็นสำนัก/หมู่/คณะ/กลุ่ม/ก๊วน อาทิ เจ็ดนักพรตช้วนจินก่า, เจ็ดจอมยุทธบู๊ตึ๊ง และเจ็ดประหลาดกังหนำ
แต่เป็นเรื่องตลกร้ายเหมือนกัน ที่อาจารย์ของขุนเขาแห่งหนึ่ง ภายใต้สังกัด “สำนักชิงหยุน” ใน “กระบี่เทพสังหาร” ถูกอาจารย์จากขุนเขาอื่นๆ พูดจาอำ-ล้อเลียน-เสียดสีว่า เขารับศิษย์น้อยมากๆ (จนแลดูด้อยประสิทธิภาพ) คือมีศิษย์อยู่แค่เจ็ดคนเท่านั้นเอง
แล้วหนังก็ฉายภาพ (ที่ปรุงแต่งด้วยเทคนิคคอมพิวเตอร์) ให้ผู้ชมเห็นว่าขุนเขาอื่นๆ นั้นมีศิษย์มากมายเหลือคณานับ (เกินจำนวนเจ็ดคนไปไกล) ทว่า ศิษย์เหล่านั้นกลับไม่ใช่ปัจเจกบุคคล หากเป็นไพร่พลจำนวนมหาศาลหรือเครื่องจักรสังหาร ซึ่งใช้ต่อสู้กับพรรคมาร
ถ้าพูดตามภาษาของ “ประชา สุวีรานนท์” (ซึ่งเคยวิเคราะห์พิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกปี 2008 ที่ปักกิ่งไว้อย่างแหลมคม) ก็ต้องบอกว่าศิษย์จำนวนนับไม่ถ้วนของ “สำนักเมฆาเขียว” นั้น มีลักษณะไม่ต่างอะไรจาก “พิกเซล”
กล่าวคือ พวกเขามีคุณค่าเป็นเพียงส่วนเสี้ยวปลีกย่อยเล็กน้อยของภาพรวมอันยิ่งใหญ่อลังการตระการตา ซึ่งปรากฏกายขึ้นชั่วครู่ชั่วคราว ก่อนจะถูกทำลายให้ปลิดปลิวตายจากไปอย่างง่ายดาย
ท่ามกลางตัวละครระดับ “พิกเซล” ที่เกลื่อนกล่น มีตัวละครเด่นๆ ไม่มากนักใน “กระบี่เทพสังหาร” ซึ่งถูกกำหนดสร้างบุคลิกลักษณะเฉพาะตนไว้อย่างชัดเจนมีชีวิตชีวา เช่น พระเอกและตัวละครนำหญิงอีกสามราย
ตัวละครอีกกลุ่มที่มีบุคลิกภาพน่าจดจำเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ เหล่ายอดฝีมือของพรรคมาร แม้พวกเขาจะปรากฏกายขึ้นแว้บเดียว และมีซีนสำคัญอยู่แค่คนละซีน
เช่น ยอดฝีมือรูปร่าง-หน้าตาอัปลักษณ์ซึ่งมีอาวุธเป็น “หุ่นชัก” ยอดฝีมือที่มีศีรษะเป็น “หมูป่า” และมนุษย์ล่องหนไร้หน้าที่ดูดกลืนคู่ต่อสู้เข้าไปในเรือนร่างว่างเปล่าของตัวเอง
ในแง่ความบันเทิงโดยรวม “เฉิงเสี่ยวตง” ดูจะทุ่มเทเวลากว่าค่อนเรื่องของ “กระบี่เทพสังหาร” ไปกับฉากตลกฝืดๆ เฝือๆ ตั้งแต่ตอนที่พระเอกยังเป็นคนทำครัว ไปจนถึงช่วงประลองยุทธ์ระหว่างศิษย์ของขุนเขาต่างๆ
ผิดกับสถานการณ์เข้มข้น นับจากพรรคมารปรากฏตัว ฝ่ายเทพถูกแฉความผิดบาปครั้งอดีต และคนบริสุทธ์ค่อยๆ ล่วงถลำสู่ด้านดำมืด ซึ่งรายละเอียดเยอะแยะยิบย่อยซับซ้อนตรงส่วนหลัง ได้เวลาของภาพยนตร์ไปเพียงไม่ถึง 30 นาที
นี่คือจุดอ่อน-ความไม่ลงตัว ที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด ของ “ภาพยนตร์จีนกำลังภายในลูกผสม” เรื่องนี้
ความเห็น 0