โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

“Big six” พรีเมียร์ลีก วัดจากอะไร?

Soccersuck

เผยแพร่ 04 ส.ค. 2564 เวลา 09.52 น. • Soccersuck


ถ้าย้อนกลับไปกว่า 10 ปีก่อนคอบอล พรีเมียร์ลีก มักจะได้ยินคำว่า “บิ๊ก โฟว์” อันประกอบด้วยพี่เบิ้มอย่าง แมนฯยูไนเต็ด, เชลซี, อาร์เซนอล และ ลิเวอร์พูล
สาเหตุหลักมาจากการที่โควต้าเวที แชมเปี้ยนส์ลีก 4 ทีมมักจะไปตกที่พี่เบิ้มเหล่านี้มากที่สุด
แต่นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา พลังเม็ดเงินได้ทำให้ แมนฯซิตี้ ก้าวขึ้นมาเป็นขาใหญ่ในเกาะอังกฤษรวมถึงการผลักดันตัวเองของ สเปอร์ส ที่หลุดมาเล่น แชมเปี้ยนส์ลีก 4 ฤดูกาลติดตั้งแต่ปี 2016-2020
เลยทำให้มีคำว่า “Big six” เข้ามาแทนที่ เป็นการขยายอำนาจให้กับทีมที่มีศักยภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตามการจะก้าวขึ้นมาอยู่ในกลุ่ม “ขาใหญ่” มีองค์ประกอบมากกว่าแค่ไปเล่น แชมเปี้ยนส์ลีก
มันมีเรื่องของความ “สม่ำเสมอ” ต่อความสำเร็จและการ “ยืนระยะ” ไม่ให้ถูกกลืนหายไปตามกาลเวลา
- แชมป์
แน่นอนสิ คุณไม่ได้เตะบอลเพื่อสุขภาพแต่เพื่อแชมป์ คุณจะเป็นทีมชั้นแนวหน้าให้ทีมอื่นโค่นล้มคุณต้องได้แชมป์ ถ้าไม่ถี่ก็ต้องมีบ้างประปรายเพื่อรักษาระดับเอาไว้
แมนฯยูไนเต็ด รอคอยแชมป์ลีกหนแรกนับตั้งแต่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน รีไทร์เมื่อปี 2013 แต่พวกเขาก็ยังมีแชมป์ ยูโรป้า ลีก 2016/17 , เอฟเอ คัพ 2015/16 และ ลีก คัพ 2017 ก่อนเสริมหนักเพื่อทวงบัลลังก์แชมป์ในซีซั่นนี้
แมนฯซิตี้ ไม่ต้องพูดถึง 10 ปีหลังกวาดแชมป์ได้มากที่สุดในเกาะ อังกฤษ ภายใต้สามกุนซือ โรแบร์โต้ มันชินี่, มานูเอล เปเญกรินี่ และ เป๊ป กวาดิโอล่า รวมกัน 16 แชมป์
เชลซี เป็นทีมที่ไม่เคยห่างหายจากถ้วยรางวัลแม้ว่าจะเปลี่ยนผู้จัดการทีมบ่อยถึง 11 คนใน 15 ปี
แต่ตลอดการเข้ามาเป็นเจ้าของ “สิงห์บลู” ของ โรมัน อับราโมวิช ตั้งแต่ปี 2003 พวกเขากวาดแชมป์มากถึง 19 รายการโดยทีเด็ดอยู่ที่แชมป์ยุโรปที่ได้ 2 สมัยที่เจ้าตัวอยากได้จนตัวสั่น
ลิเวอร์พูล ถูกล้อมา 30 ปีกับการห่างหายจากแชมป์ลีกสูงสุดจนมาปลดล็อกเมื่อปี 2020 และก่อนหน้านั้นได้ฆ่าเวลาจนกลายเป็นตำนานถูกเล่าขานจนถึงทุกวันนี้กับแชมป์ยุโรปเหนือ เอซี มิลาน เมื่อปี 2005 และวันมหาวิปโยคได้แชมป์ เอฟเอ คัพ 2007ุ
ในขณะที่ อาร์เซนอล ยังรอคอยแชมป์พรีเมียร์ลีกนับตั้งแต่ฤดูกาล 2003/04 หรือพูดให้เสียใจขึ้นมาอีกนิดก็ 15 ปีแล้ว
นับตั้งแต่ อาร์แซน เวนเกอร์ โบกมือลาเมื่อ 2018 แฟนบอลก็เพิ่งได้ลิ้มรสกับแชมป์ เอฟเอ คัพ ภายใต้การคุมทีมของ มิเกล อาร์เตต้า เมื่อ 2020
แต่ปัญหาที่ยังเกาะกินสโมสรอยู่นั่นคือถูกเหล่าคู่ปรับทิ้งห่างไปเรื่อยๆในเรื่องของศักยภาพจนจบแค่อันดับ 8 เมื่อซีซั่นที่ผ่านมาจนดูเหมือนต้องมาเริ่มต้นล่าตั๋ว ยูโรป้า ลีก มากกว่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในปีหน้าด้วยซ้ำ
ทีมอย่าง แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส เคยคว้าแชมป์ พรีเมียร์ลีก ปี 1995 และ เลสเตอร์ สร้างเทพนิยายอันยิ่งใหญ่เมื่อปี 2016 แต่ทั้งคู่ไม่เคยเฉียดเข้าใกล้กับคำว่า “Big six” เลยเนื่องจากการสานต่อความสำเร็จมันไม่เกิดขึ้น
ถ้าให้ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น แอสตัน วิลล่า หรือ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ เคยครองเกาะอังกฤษ ในยุค 80 แต่ทั้งคู่หายไปตามกาลเวลาในยุต โมเดิร์ต ฟุตบอล
ลีดส์ ยูไนเต็ด, เอฟเวอร์ตัน และ นิวคาสเซิ่ล ล้วนแล้วแต่พยายามขยับตัวเพื่อสอดแทรกแต่ท้ายที่สุดทำได้แค่วูบวาบและปีต่อมาผลงานดร็อปลง บางทีมต้องหนีตกชั้นด้วยซ้ำ
ในรายของ “ไก่เดือยทอง” เป็นเคสที่น่าสนใจเพราะพวกเขาเป็นทีมเดียวใน Big six ที่ไม่เคยคว้าแชมป์ พรีเมียร์ลีก จนถูกแฟนบอลฝั่งตรงข้ามเอามาล้อเลียนบ่อยๆ
แม้ในความเป็นจริงพวกเขาเคยได้แชมป์ ดิวิชั่น 1 (เดิม) ในปี 1951 และ 1961 แต่ที่อาจหาญสามารถอยู่ในแก้งค์พี่ใหญ่ทั้ง 5 ได้นั้นเพราะการรักษาอัตราเร่งด้วยการสร้างชื่อใน เวทีแชมเปี้ยนส์ลีกอย่างต่อเนื่อง 4 ซีซั่นและเบียดสู้ลุ้นแชมป์บนหัวตารางให้เห็นกันเรื่อยๆ
บันทึกอันดับในพรีเมียร์ลีก 11 ปีหลังสุด “เรือใบ” ได้แชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัย, เชลซี 3 สมัย, แมนฯยูไนเต็ด 2 สมัยและ ลิเวอร์พูล 1 สมัยโดนมีเพียง เลสเตอร์ ที่อยู่นอกเหนือพี่ใหญ่สอดแทรกได้ไป 1 สมัยเมื่อฤดูกาล 2015-16
สิ่งหนึ่งที่บอกเราได้ชัดเจนคืออย่างทิ้งช่วงแชมป์ให้นานเกินไปจนคุณกลายสภาพเป็นทีม “ทั่วไป” และ “รับได้” กับการที่พลาดแชมป์
การกลืนกินของระยะเวลาทำให้คุณจะเป็นเหมือนทีมอย่าง แบล็คเบิร์น ที่ปัจจุบันกู่ไม่กลับ
เงิน เงิน เงิน
นอกจากนี้ปัจจัยที่เป็นเนื้อเป็นหนังจับต้องได้จนไม่พูดถึงเลยไม่ได้คือ “การทำเงิน” และ “การถลุงเงิน” ของคุณเป็นอย่างไร
แน่นอนครับมันก็เหมือนคุณถอยรถป้ายแดง, ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม ย่อมหมายความว่าคุณมีกำลังซื้อสูงกว่าคนอื่น เป็นการบอกในตัวมันเองว่าคุณทำเงินได้เยอะนั่นเอง
นับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมามีรายงานว่า พรีเมียร์ลีก ทำเงินมากกว่าลีกอื่นๆโดยในปี 2020 รายได้ของ พรีเมียร์ลีกทะลุ 4.4 พันล้านยูโรซึ่งหลักๆมาจาก Big 6 คิดแล้วกว่า 78% หรือแบ่งเป็นเงินออกมาจาก 14 ทีมที่เหลือมากถึง 3.4 พันล้านยูโร
ถ้ายังไม่เห็นภาพงั้นพูดใหม่ว่า เวสต์แฮม ซึ่งเป็นทีมที่ทำเงินสูงที่สุดรองจากเหล่า Big 6 แต่ได้แค่ 216 ล้านยูโร นั่นแค่ครึ่งเดียวของ สเปอร์ส และแค่ 1 ใน 3 ของ แมนฯยูไนเต็ด เท่านั้น
เมื่อทำเงินเยอะ การใช้เงินก็เยอะดังที่ได้กล่าวเอาไว้ข้างต้นโดยตลอด 5 ปีหลังสุดพี่เบิ้มทั้ง 6 ใช้เงินเสริมทัพกันอย่างมากมายจนขาดทุนบักโกรก
- แมนฯซิตี้ ขาดทุน/ใช้เงินสุทธิ 625 ล้านยูโร
- แมนฯยูไนเต็ด ขาดทุน/ใช้เงินสุทธิ 538 ล้านยูโร
- อาร์เซนอล ขาดทุน/ใช้เงินสุทธิ 289 ล้านยูโร
- เชลซี ขาดทุน/ใช้เงินสุทธิ 228 ล้านยูโร
- ลิเวอร์พูล ขาดทุน/ใช้เงินสุทธิ 215 ล้านยูโร
- สเปอร์ส ขาดทุน/ใช้เงินสุทธิ 31 ล้านยูโร
ตัวเลขข้างบนนี้เป็นการใช้เงินที่หักออกจากการขายนักเตะ เราจะเห็นว่าทุกๆทีมแข่งขันกันอย่างบ้าคลั่งโดยเฉพาะ “เรือใบ” ที่มี อาบูดาบี เป็นเจ้าของจึงไม่กระบทอะไรในเมื่อตลอด 10 ปีที่ผ่านมายังได้แชมป์อย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ สเปอร์ส ตัวเลขอาจจะน้อยนิดใช้เงินรวมแล้ว 31 ล้านยูโรใน 5 ปีหลังสุดแต่น่าประทับใจมากกว่าหากมองในแง่ของการสร้างความสมดุลทางบัญชี
ขาดแต่เพียงโทรฟีย์แชมป์ที่ทำได้แค่เฉียดไปเฉียดมาไม่ว่าจะเป็น แชมเปี้ยนส์ลีก ที่แพ้ ลิเวอร์พูล ในรอบชิงปี 2018 หรือล่าสุด คาร์ลิ่ง คัพ เมื่อซีซั่นที่ผ่านมา
ฐานแฟนบอลในโลกออนไลน์
ยุคที่อินเตอร์เน็ตยังไม่เข้าถึง มักจะมีการเถียงกันว่าแฟนบอล “ผี” หรือ “หงส์” ใครมากกว่ากัน?
แน่นอนแฟนบอลแต่ละทีมต้อง claim ว่าทีมตัวเองอย่างไม่ต้องสงสัยแต่ในเมื่อเข้าสู่ยุคโซเชี่ยล ยอดแฟนบอล “ออนไลน์” เป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนที่สุด
แมนฯยูไนเต็ด ในยุค เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ถือว่ามาได้ถูกจังหวะกับการที่ อินเตอร์เน็ตกำลังบูมสุดขีดทำให้พวกเขากอบโกยแฟนบอลโซเชี่ยลเป็นกอบเป็นกำ
ผิดกับ ลิเวอร์พูล ที่ดันไปดังในยุคอนาล็อก 80-90 แต่พอถึงยุคที่คนเข้าถึงง่ายกลับเป็น “มวยรอง” จนเสียฐานให้แฟนบอลในยุคนั้นไปมากมายมหาศาล
ยกตัวอย่างตัวเลขเพจใน “เฟสบุค” ที่มีการรวบรวมสถิติจนถึง 30 มีนาคม 2021 แม้ “ปีศาจแดง” ไม่ได้แชมป์ลีกมา 8 ปีแต่มียอดฟอล 73,209,297 คน
ทิ้งห่างที่ 2 อย่าง เชลซี แบบไม่เห็นฝุ่นที่มมีเพียง 49,017,967 โดยตามมาห่างๆของเหล่าบิ๊กๆทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นที่ 3 แมนฯซิตี้ 40,103,333 ที่ 4 อาร์เซนอล 37,758,903 ที่ 5 ลิเวอร์พูล 37,485,389 และสุดท้าย สเปอร์ส 22,109,552
ส่วน เลสเตอร์ อันดับ 7 แทบไม่เห็นฝุ่น ห่างไกลสุดกู่มียอดอยู่เพียงแค่ 6,739,978 เท่านั้น
ในยุคที่โลกอยู่แค่ปลายนิ้ว การชิงพื้นที่โลกออนไลน์คืออาวุธสำคัญในการต่อสู้ไม่ใช่เพียงแค่ในสนาม
ถ้วยเล็กถ้วยน้อยคุณเอาได้ก็ต้องเอาไว้ก่อน เพื่อพรีเซนต์ตัวคุณให้โลกเห็น สปอนเซอร์ชอบใจ
ดังนั้นคุณไม่ต้องแปลกใจที่ “เรือใบ” จริงจับกับทุกรายการแม้กระทั่ง คาราบาว คัพ ที่ทีมอื่นไม่ค่อยเท่าไหร่หรือแม้กระทั่งเกมการกุศลอย่าง คอมมูนิตี้ ชิลด์ ที่สมัยนี้หวดกันเข้มข้มกว่ายุค 90 ที่ตอนนั้นส่งเด็กส่งสำรองมายืดเส้นยืดสายถือถาดครองร่วมกัน
เมื่อถ้วยมีเท่าเดิมแต่ทีมที่ห้ำหั่นเพิ่มมากขึ้น ยุคนี้มีอะไรก็ต้องกวาดมาให้หมด
ทีมนอก Bix 6 ยังมีศักยภาพไม่พอ
หากจะพูดว่า อาร์เซนอล และ สเปอร์ส อาจเป็นทีมที่สั่นคลอนที่สุดในการเสียตำแหน่งพี่ใหญ่แต่ด้วยบุญเก่านั่นก็เรื่องนึงแต่ที่มีส่วนอย่างมากคือทีมข้างล่างยังมีศักยภาพไม่มากพอ
เอฟเวอร์ตัน, แอสตัน วิลล่า, เวสต์แฮม และ นิวคาสเซิ่ล คือ 4 ทีมที่มีการจบอันดับ “เฉลี่ย” ติด 1 ใน 10 นับตั้งแต่มีการก่อตั้งพรีเมียร์ลีก
แต่ทีมเหล่านี้ไม่มีเงินมากพอในการใช้สอยต่อสู้ในระยะยาวดังนั้นเราจึงเห็นข่าวการเทคโอเวอร์เพื่อปลุกผีอย่างต่อเนื่องของหลายๆทีมโดยเฉพาะ “สาลิกา” ที่จนแล้วจนรอดยังไปไม่ถึงไหนและต้องทนอยู่กับ สตีฟ บรูซ ไปอีกหลังมีข่าวอาจได้สัญญาใหม่ 3 ปี
เอฟเวอร์ตัน พยายามดันตัวเองขึ้นมาและน่าจับตามองที่สุดหลังอยู่ในระหว่างการสร้างสนามใหม่ที่จุดแฟนบอลได้มาถึง 52,888 คนที่จะใช้งานในฤดูกาล 2024/25
นี่คือก้าวแรกของการที่คุณคิดการใหญ่จะเป็นพี่เบิ้มในลีกตัวเอง หน้าตาความใหญ่ของสนามเป็นใบเบิกทางแรกเพราะ match day revenue หรือรายได้ต่อแมทช์จะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับ กูดิสัน พาร์ค ที่ทั้งเก่าและเล็กจุคนได้เพียงแค่ 39,572 คนเท่านั้น
สำหรับ เลสเตอร์ ที่ 1-2 ปีหลังเบียดลุ้นไป แชมเปี้ยนส์ลีกอย่างต่อเนื่องแต่แผ่วปลายก็พยายามเพิ่มไซส์ให้ตัวเองด้วยการประกาศแผนขยายสนามอีก 8,000 ที่นั่งเป็น 40,000
ส่วน ลิเวอร์พูล ซึ่งสนาม เอาท์ เดท และเล็กที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดา 5 ทีมที่เหลือแต่ในอีก 18 เดือนข้างหน้าหรือในฤดูกาล 2023/24 แอนฟิลด์ จะจุผู้ชมเพิ่มอีก 7,000 คนรวมแล้ว 61,000 ด้วยงบต่อเติมฝั่ง แอนฟิลด์ โร้ด 60 ล้านปอนด์
เท่ากับว่า “หงส์แดง” จะพุ่งขึ้นมาเป็นอันดับ 3 รองจาก โอลด์แทรฟฟอร์ด (75,643) และ สเปอร์ส (62,214) ทันที นี่คือการแผดเสียงให้ดังยิ่งขึ้นกว่าเก่าของแชมป์ พรีเมียร์ลีก เมื่อปี 2020 ว่าพวกเขาต้องการอยู่ในระดับไหน
ทีมใหญ่ที่มีแฟนบอลมากมายมหาศาลจากทั่วโลกไม่เคยมีเก้าอี้ว่าง แฟนบอลเอเชียคือตัวทำเงินสำคัญสำหรับทีมเหล่านี้ไปแล้วดังนั้นใครรองรับ match day ได้มากที่สุดย่อมได้เปรียบอย่างมหาศาล
ปลาใหญ่กินปลาเล็ก
สิ่งแรกที่คุณควรต้องหลีกเลี่ยงให้ได้เลยคือการเสียนักเตะตัวหลักให้คู่ปรับเพราะถ้ากลายเป็นเรื่องปกติเมื่อไหร่การที่คุณจะตัวเล็กลงจนกลายเป็นลูกไล่มันจะเกิดขึ้นในไม่ช่า
อาร์เซนอล เคยเสียผู้เล่นให้ แมนฯซิตี้ 5 คนภายใน 5 ปี (2009-2014)ไม่ว่าจะเป็น บาการี่ ซาญ่า,​ โคโล่ ตูเร่,​กาเอล คลิชี่ และ เอ็มมานูเอล อเดบายอร์ จนทำเงินมากกว่า 70 ล้านปอนด์
เหตุผลจากนโยบายรัดเข็มขัดค่าเหนื่อยและความทะเยอทะยานที่ “ปืนใหญ่” ยังเน้นกำไรมากกว่าผลงานในสนาม
เฟร์นานโด ตอร์เรส เคยทำช็อกอำลา ลิเวอร์พูล ซบ เชลซี เมื่อปี 2011 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ “หงส์แดง” หัวเลี้ยวหัวต่อจากการเข้ามาของ FSG
นักเตะระดับโลกอย่าง “เอลนินโญ่” ย้ายออกจาก แอนฟิลด์ เหตุผลต้องการความสำเร็จและสภาพในทีม “หงส์แดง” ตอนนั้นแทบไม่มีดาราดึงดูดใดๆนอกจาก สตีเฟ่น เจอร์ราร์ด
ยังดีที่การบริหารงานของ จอห์น เฮนรี่ และทีมงานพาทีม ลิเวอร์พูล กลับมายืนอยู่ในจุดที่ทีมอื่น “ข่มไม่ลง” เพราะความสำเร็จถึงขีดสุดกับแชมป์ยุโรปและพรีเมียร์ 2 ปีติดต่อกัน
แต่ในขณะเดียวกัน สเปอร์ส กำลังถูกคุกคามจากการ แฮร์รี่ เคน ใหญ่เกินกว่าจะอยู่ได้แล้วเพราะในวัย 28 ปี โทรฟีย์แชมป์คือสิ่งที่เจ้าตัวอยากได้มากที่สุดซึ่ง “คลับไก่” ไม่สามารถให้ได้และรอดต่อไปไม่ได้
การที่คุณเสียผู้เล่นเบอร์ 1 ให้ทีมคู่แข่งไม่ต่างอะไรจากการจีบหญิงแล้วสาวเลือกผู้ชายอีกคน
เลสเตอร์ ซิตี้ เป็นตัวอย่างของทีมที่ยังก้าวไม่พ้นทีมเล็กเพราะหลังจากคว้าแชมป์ พรีเมียร์ลีก เมื่อซีซั่น 2015-16 แล้วพวกเขาเสียสตาร์อย่าง ริยาด มาห์เรซ ให้ แมนฯซิตี้ ในปี 2018 ด้วยค่าตัว 60 ล้านปอนด์
แถมปีกทีมชาติ แอลเจเรีย พูดเลยว่าเหมือนเสียเวลาไป 2 ปีเปล่าๆที่ คิง พาวเวอร์ สเตเดียม
ถ้าคุณอยากเป็นทีมใหญ่หรืออยากมีศักยภาพคุณต้องห้ามสมองไหลจนเป็นเรื่องปกติ ในทางกลับกันคุณต้องดูดนักเตะเก่งๆระดับ top มาเสริมทัพเพื่อป่าวประกาศให้ทีมอื่นๆรู้จุดยืนต่อเป้าหมายในการทำทีม
- บทสรุป
แม้หลายคนอาจจะแซวหรือคาใจว่าทำไม สเปอร์ส หรือ อาร์เซนอล ยังไม่ร่วงหล่นจาก Big Six ซักที เราจะเห็นว่าศักยภาพของทีมนอกเหนือลงไปแล้วยังห่างชั้นอยู่หลายช่วงตัวในทุกๆปัจจัยรวมกัน
การชวนทะเลาะสร้างความรำคาญในการแย่งตั๋ว แชมเปี้ยนส์ลีก ของทีมอย่าง เลสเตอร์ ซิตี้ แค่ปีสองปียังไม่เพียงพอที่จะดันตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ท้าชิงถึงระดับพี่ใหญ่
หลายๆปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นเผลอๆต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี บางทีก็อาจจะทำไม่ได้เลยเพราะต้องไม่ลืมว่า “ทุนเก่า” และ “บุญเก่า” ที่ Big six สร้างมามันมีแต่ช่วยให้ฉีกหนีทีมอื่นไปเรื่อยๆ
พูดง่ายๆคือมีทุนอยู่แล้วที่เหลือก็ตบแต่งให้เข้าที่เข้าทาง เจียดเงินที่ได้จากหลายๆทางมาช่วยสบายๆ ส่วนทีมอื่นจะเหนื่อยตรงที่เผลอๆใช้จ่ายส่วนนึ้ไปแล้วต้องรออีกทีปีหน้าถึงจะดึงเอางบมาใช้ได้อีก มันก็จะเสียเวลาไปอีก
เอฟเวอร์ตัน อาจต้องรอสนามใหม่สร้างเสร็จและสะสมขุมกำลังให้สตาร์เดินชนกัน ผมเชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้นถ้าสื่อฝั่งอังกฤษไม่เลือกใช้คำว่า Big seven เราก็อาจจะเห็น “ท๊อฟฟี่” สอดแทรกเข้ามามากที่สุด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0