รู้จักกับซีพียู Intel Core เลือกรุ่นไหนดี?
ซีพียูนั้นก็เปรียบเสมือนกับมันสมองของเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งคายที่คนนิยมเลือกใช้กันก็มี Intel กับ AMD ซึ่งในบทความนี้เราจะมาพูดถึงการเลือกซีพียูจากค่าย Intel ว่า Core i3, Core i5, Core i7 และ Core i9 แต่ละรุ่นมันแตกต่างกันอย่างไร เหมาะกับการใช้งานแบบไหน
ถ้าจะพูดให้มันง่าย คือ มันเรียงไปตามลำดับประสิทธิภาพ 3 คือ รุ่นต่ำสุด และ 9 คือ รุ่นสูงสุด หากเงินไม่ใช่ปัญหาอะไร ก็ซื้อ Core i9 มาใช้ได้เลย ไม่ต้องคิดเยอะให้ปวดสมอง แต่ถ้าคุณรู้สึกว่ามันเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ งานที่ใช้ไม่ได้ต้องการซีพียูที่ทรงพลังขนาดนั้นก็เชิญอ่านต่อได้ ทั้งนี้ในบทความนี้เราจะไม่พูดถึงซีพียูตระกูล Pentium หรือ Core M ที่นิยมใช้ในเครื่องโน๊ตบุ๊คนะครับ
สำหรับคนขี้เกียจอ่านยาว อ่านแค่นี้ก็ได้
- Core i3 ราคาประหยัด ใช้งานทั่วไปได้ดี ส่งอีเมล์ เล่นเว็บ เล่นเกมส์เบาๆ ได้แต่กราฟฟิกหากปรับสุดอาจจะทำเฟรมเรทตก
- Core i5 เป็นซีพียูระดับกลางที่เหมาะกับการใช้งานทั่วไป และเล่นเกมส์ ทำเกือบทุกอย่างได้ดีกว่า Core i3
- Core i7 สำหรับคนที่มีการใช้งานโปรแกรมหนักๆ อย่างการรีทัชรูป ตัดต่อวีดีโอ หรือเล่นเกมส์คุณภาพสูงแบบปรับคุณภาพสูงสุด
- Core i9 เปิดตัวครั้งแรกในปี 2017 เป็นซีพียูระดับสูงที่มีจำนวนคอร์เยอะมาก ประสิทธิภาพสูงมาก แต่ก็แลกมาด้วยอัตราการกินไฟที่สูงมากด้วยเช่นกัน (ราคาด้วย) ถ้าเป็นเมเมอร์ตัวจริง ที่เล่นเกมส์ไปเปิดสตรีมไปด้วย หรือตัดต่อไฟล์วีดีโอเป็นประจำ ถ้าต้องการ "ความสุด" ก็ต้องตัวนี้แหละ
ทั้งนี้ หากอยากรู้รายละเอียดมากกว่านี้ เชิญอ่านต่อได้
เลขที่ตามหลังไม่ได้หมายถึงจำนวนคอร์!
ว่ากันด้วยชื่อรุ่นก่อน การที่มันชื่อว่า Core i3, Core i7 ไม่ได้หมายความว่ามันมี 3 คอร์ หรือ 7 คอร์นะครับ มันเป็นเลขแบ่งระดับของซีพียูต่างหาก Core i3 เป็นระดับเริ่มต้น Core i5 เป็นระดับกลางๆ Core i7 เป็นระดับสูง ส่วน Core i9 คือ ระดับพรีเมี่ยมสุด
ส่วนในรหัสรุ่นที่เป็นเลข 4 หลัก ตามหลังมาจะเป็นการบอกว่าเป็นซีพียูเจนเนอเรชั่นไหน อย่างในภาพ 6700 เลข 6 หมายถึงมันเป็นซีพียูเจนฯ 6 ซึ่งรุ่นล่าสุดในขณะนี้คือเจนฯ 9 ส่วนเลขอีก 3 ตัวที่ตามมาคือค่า SKU
แต่หลังตัวเลขก็ยังจะมีอักษรย่ออีก โดยอักษรย่อนั้นมีความหมายดังนี้
- U: Ultra Low Power. รุ่นประหยัดพลังงาน เรามักจะเห็นมันในโน๊ตบุ๊คบ่อยๆ
- Y: Low Power. สมัยนี้น่าจะไม่ค่อยได้เห็นกันแล้ว เรามักเจอมันในโน๊ตบุ๊ครุ่นเก่าๆ
- T: คือ ซีพียูที่ปรับแต่งให้เหมาะสมกับเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ
- Q: Quad-Core เป็นการบ่งบอกว่าเป็นซีพียูแบบ 4 คอร์แท้ๆ
- H: High-Performance Graphics. ถ้าเห็นอักษรตัวนี้ตามหลังล่ะก็แปลว่ามันมีการ์ดจอในตัวที่ประสิทธิภาพสูง
- G: หมายถึงว่ามันมีการ์ดจอแยกในตัวมาพร้อมกับซีพียู
- K: Unlocked. บ่งบอกว่ามันได้รับการปลดล็อคพร้อมให้คุณนำไปทำการ Overclock ได้
Hyper-Threading หรือ HT คืออะไร?
หนึ่งในจุดขายของซีพียูจาก Intel คือเทคโนโลยี Hyper-Threading ความสามารถของมัน คือ การทำให้ตัวประมวลผล 1 คอร์ จำลองตัวเองให้ทำงานเหมือน 2 คอร์ได้ ซึ่งจะช่วยให้การประมวลผลงานต่างๆ ทำได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีเรื่องที่ต้องจำไว้ด้วยนิดนึง คือ Core แท้ๆ นั้นทำงานได้เร็วกว่า Core ที่จำลอง ขึ้นมา เช่น ซีพียู 4 คอร์แท้ๆ นั้นจะทำงานได้เร็วกกว่าซีพียู 2 คอร์ ที่รองรับ Hyper-Threading
ทั้งนี้ไม่ใช่ Core i ทุกรุ่นจะมี Hyper-Threading นะครับ อย่างเช่นในซีพียูเจนฯ 9 นั้นมีแค่ Core i9 ที่รองรับ HT ส่วนในเจนฯ ก่อนๆ ปกติแล้ว HT จะมีใน Core i3 และ Core i7
แล้ว T urbo Boost ล่ะ คืออะไร?
เบื้องหลังการทำงานของเทคโนโลยีนี้ค่อนข้างซับซ้อนซึ่งเราไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ รู้แค่ว่ามันเร็วได้เท่าไหร่ก็พอ เวลาเราดูซีพียูเราจะเห็นว่ามีค่าความเร็วอยู่ 2 ค่า คือ Processor Base Frequency (ความเร็วพื้นฐาน) และ Max Turbo Frequency (ความเร็วสูงสุด) ซึ่งค่า Processor Base Frequency จะต่ำกว่าค่า Max Turbo Frequency อยู่เสมอ
ในการใช้งานปกติ ซีพียูมักจะวิ่งอยู่ที่ความเร็วของ Processor Base Frequency แต่หากเรามีการใช้งานที่ต้องการความเร็วสูง มันสามารถปิดการทำงานในบางส่วนของคอร์อื่นๆ เพื่อเร่งความเร็วให้คอร์หลักที่ใช้ทำงานได้เพื่อให้ได้ความเร็วที่เป็น Max Turbo Frequency นั่นเอง
Cache ในซีพียูก็สำคัญนะ
นอกเหนือไปจาก Hyper-Threading และ Turbo Boost แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ Core i แต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันก็คือ ขนาดของ Cache ซึ่งเป็นเสมือนพื้นที่แรมส่วนตัวของซีพียู แน่นอนว่า Cache ยิ่งเยอะยิ่งดี โดย Core i9 มี Cache ถึง 16MB ในขณะที่ Core i3 สูงสุดที่ 8MB
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็หวังว่าจะเลือกกันได้แล้วนะ ว่าจะเลือก CPU ตัวไหนดี ทั้งนี้หากคุณไม่ใช่สาวก Intel ก็ลองดูซีพียูจากค่าย AMD แทนได้ ประสิทธิภาพสูงไม่แพ้กัน แถมราคามักถูกกว่าด้วยล่ะ
ความเห็น 4
O+
บทความนี้ดีนะคับ เป็นกำลังใจให้เขียนงานดีๆต่อไปครับ
13 ต.ค. 2561 เวลา 12.15 น.
THE_JACKs
ผมเล่น AMD ครับ ถูกกว่า
เอาส่วนต่างราคา ไปอัพแรมกับการ์ดจอ
Ryzen 7 ก็ไหลลื่นดีนะ
13 ต.ค. 2561 เวลา 12.22 น.
CHAMP
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ ครับ มีภาพประกอบช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วย ติดนิดเดียวเรื่องการเรียบเรียง พออ่านมาจนจบไม่เจอทั้ง content และ conclusion อย่างที่คาดหวังไว้จากหัวข้อด้วย เลยยังงง ๆ หน่อยว่าตกลงควรเลือกแบบไหนกันแน่ งานต่อ ๆ ไปก็สู้ ๆ นะครับ
18 มี.ค. 2562 เวลา 18.34 น.
@หนู@
เห็นข่าว AMD จะมี CPU ขนาด 7nm ต้นปีหน้า
Intel ไม่น่าจะเป็นตัวเลือกนำมาใช้
14 ต.ค. 2561 เวลา 03.23 น.
ดูทั้งหมด