โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Fujiko F Fujio : ชีวิตที่ไม่มีกระเป๋าวิเศษ ของผู้เขียน ‘โดราเอมอน’ - เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

TOP PICK TODAY

อัพเดต 02 พ.ค. 2563 เวลา 21.48 น. • เผยแพร่ 30 เม.ย. 2563 เวลา 23.39 น. • เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

แต่ถ้าเราย้อนกลับไปกว่า 50 ปีที่แล้ว ช่วงเวลาก่อนเจ้าหุ่นยนต์แมวสีฟ้ากำเนิดขึ้น ผู้เขียนโดราเอมอนทั้ง 2 คน ยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก นอกจาก ‘ผีน้อยคิวทาโร่’ แล้วการ์ตูนเรื่องอื่นของพวกเขาไม่ได้รับความนิยมสักเท่าไร สตูดิโอที่ร่วมกันสร้างขึ้นก็ไม่ประสบความสำเร็จ บางช่วงที่แย่ๆ ทั้งคู่เคยคิดจะล้มเลิกความฝันแล้วกลับบ้านเกิดด้วยซ้ำ

ในความเคร่งเครียด ใกล้เส้นตายที่จะต้องนำเสนอพลอตการ์ตูนเรื่องใหม่ จู่ๆ ไอเดียหุ่นยนต์แมวจากโลกอนาคตก็โผล่ขึ้นมา หลังจากนั้นมันก็ทำให้ชีวิตของพวกเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอชวนนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปรู้จักกับหนึ่งในสองผู้เขียนโดราเอมอน ‘ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ’หรือ ‘ฟูจิโกะ ฮิโรชิ’ บนเส้นทางชีวิตที่เต็มไปด้วยความฝัน แรงผลักดัน มิตรภาพ และความผิดหวัง ไปจนถึงสิ่งที่เขาตั้งใจจะบอกผ่านโดราเอมอนและการ์ตูนเรื่องอื่นๆ

แล้วคุณอาจรักเจ้าแมวสีฟ้าตัวนี้มากกว่าเดิม

01

มิตรภาพของสองนักเขียน 

“มันเยี่ยมมากที่เราทำงานกันสองคน ถ้าอยู่คนเดียว เราอาจยอมแพ้และกลับบ้านไปแล้ว” 

‘ฟูจิโกะ เอ’หรือ ‘อาบิโกะ โมโตโอะ’ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการสารคดี Doraemon's Birth Story ~The Letter from Fujiko F Fujio~ ถึงความผิดพลาดที่เขาทั้งคู่กลับบ้านเกิดไปฉลองปีใหม่เพลิน ทำให้ส่งต้นฉบับไม่ทันตามเดดไลน์ ส่งผลให้ชื่อเสียงเสียหายจนไม่มีงานเข้ามาอีกเลยนานเกือบปี แต่ต่างฝ่ายต่างให้กำลังใจกันจึงผ่านช่วงเลวร้ายนั้นมาได้

ผู้อ่านทุกคนคงรู้สึกถึงมิตรภาพอันงดงามของโดราเอมอนกับโนบิตะ และเพื่อนๆ อย่างชิซึกะ ซุเนโอะ ไจแอนท์ แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าในชีวิตจริงของผู้เขียน ฮิโรชิกับโมโตโอะเป็นเพื่อนรักกันยาวนานกว่า 50 ปี จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ฟุจิโมโตะ ฮิโรชิ เกิดที่จังหวัดโทยาม่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2476 เขารักการเขียนการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก ยามว่างขณะเด็กคนอื่นๆ กำลังเล่นอย่างสนุกสนาน ฮิโรชิกลับเลือกเขียนการ์ตูนอยู่คนเดียวมากกว่า โดยนักเขียนที่เขาชื่นชอบก็คือ เท็ตสึกะ โอซะมุ ผู้เขียนเจ้าหนูปรมาณู ครั้งหนึ่งเด็กชายเขียนจดหมายไปแสดงความชื่นชมโอซะมุ และได้รับโปสการ์ดตอบกลับมาว่า ‘ขอให้สนุกกับอนาคตด้วยจิตใจที่แข็งแกร่ง’  

“สมัยเด็กๆ ตอนนั้นเป็นช่วงสงคราม คนทั่วไปอยากเป็นทหารออกไปสู้รบเพื่อชาติ ผมชอบวาดการ์ตูนมาก เลยอยากเป็นนักวาดการ์ตูน แต่ครอบครัวผมไม่ชอบเลย แถมต่อว่าใหญ่ว่าไม่เรียนหนังสือ ผมเป็นนักเขียนการ์ตูนเพราะใจรักจริงๆ”

ฮิโรชิเป็นเด็กเงียบๆ ขี้อาย มีบางส่วนคล้ายกับโนบิตะ บางครั้งถูกเพื่อนตัวโตกว่าแกล้ง แต่เขาก็เอาตัวรอดโดยวาดรูปการ์ตูนให้เด็กคนนั้น แลกกับการไม่โดนรังแก

จนกระทั่งขึ้นประถมปีที่ 5 โมโตโอะย้ายโรงเรียนมาห้องเดียวกัน ฮิโรชิจึงได้พบกับ โมโตโอะ เพื่อนที่เป็นเหมือนโดราเอมอนในชีวิตจริง

ด้วยความชอบการ์ตูนเหมือนกัน ทั้งคู่คุยถูกคอ แลกการ์ตูนกันอ่าน ไปจนถึงช่วยกันเขียนการ์ตูนทำมือส่งไปเสนอยังหนังสือพิมพ์-นิตยสารท้องถิ่นฉบับต่างๆ 

ในที่สุดผลงาน ‘นางฟ้าทามะจัง’ การ์ตูนแก๊ก 4 ช่องของพวกเขาได้รับเลือกให้ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร ทั้งหมด 26 ตอน เด็กหนุ่มทั้งสองดีใจมาก นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้รับค่าต้นฉบับ 

ในช่วงฤดูใบไม้ผลิก่อนสำเร็จการศึกษา ฮิโรชิและโมโตะเอะมีโอกาสไปเยี่ยมบ้านของ เท็ตสึกะ โอซะมุ และได้เห็นต้นฉบับการ์ตูน Next World ซึ่งยาวถึง 1,300 หน้า โอซะมุให้แรงบันดาลใจมากมายกับทั้งคู่ ทำให้เรียนรู้ว่าการเป็นนักเขียนการ์ตูนที่ดีนั้นต้องทุ่มเทเวลาและจินตนาการลงไปอย่างสุดความสามารถ 

ความฝันที่จะเป็นนักเขียนการ์ตูนจริงจังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อจบมัธยม ฮิโรชิ ไปทำงานที่โรงงานทำขนมแต่ประสบอุบัติเหตุจึงตัดสินใจลาออกมาเขียนการ์ตูนอยู่ที่บ้าน ขณะที่โมโตโอะทำงานหนังสือพิมพ์ แต่ก็หาเวลามาช่วยหลังเลิกงาน จนได้ออกการ์ตูนพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มแรกชื่อ สงครามโลกครั้งสุดท้าย (UTOPIA) ภายใต้นามปากการ่วมกันคือ ‘อาซึชิกะ ฟูจิโอะ’ ซึ่งคำว่าอาซึชิกะ ได้แรงบันดาลใจมาจากชื่อเท็ตสึกะ โอซะมุ นั่นเอง  

สมัยนั้นโตเกียวคือศูนย์รวมของนักเขียนการ์ตูนอาชีพ สองหนุ่มจากโทยาม่าจึงตัดสินใจเดินทางเข้ามาในเมืองหลวงเพื่อทำตามฝัน แต่แล้วฮิโรชิก็ป่วยเป็นวัณโรคซึ่งถือเป็นโรคร้ายแรงในเวลานั้น โมโตะโอะอยากพาเพื่อนกลับไปรักษาตัวที่บ้านเกิด แต่ฮิโรชิปฏิเสธ เพราะเชื่อว่าเมื่อก้าวเท้ามาข้างหน้าแล้วไม่ควรหันหลังกลับ ในที่สุดเขาก็กัดฟันสู้จนหาย

ต่อมาทั้งคู่ใช้นามปากกาใหม่ว่า ‘ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ’ ทำงานร่วมกับเพื่อนนักเขียนการ์ตูนหน้าใหม่ ส่งผลงานไปปรากฏตามหน้านิตยสารอยู่เนืองๆ แต่ในช่วงปี 2498 ทั้งสองคนรับงานมากเกินไป และเผลอไผลฉลองปีใหม่จนเสียการงาน ทำให้ไม่มีงานเข้ามาอีกเลย 

แต่ด้วยใจรักในการ์ตูนทำให้ทั้งคู่ซื้อโทรทัศน์และฝึกสร้างภาพยนตร์การ์ตูนด้วยกล้องขนาด 8 มม. ต่อมาจึงตัดสินใจฮึดสู้ตั้งบริษัทชื่อว่า ‘สตูดิโอซีโร’ (Studio Zero) ร่วมกับเพื่อนนักเขียนเพื่อทำการ์ตูนแอนิเมชัน

ระหว่างนั้นเองก็ได้โอกาสให้กลับไปเขียนการ์ตูนเรื่องโรบ็อตลุยและเท็ตจังถุงมือ ลงในนิตยสารโชเน็นซันเดย์ อีกครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก จนกระทั่งในปี 2507 ผลงานเรื่อง ‘ผีน้อยคิวทาโร่’ ที่ช่วงแรกเงียบๆ กลับได้รับความนิยมอย่างคาดไม่ถึงในตอนท้ายๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กๆ เมื่อนำไปผลิตเป็นการ์ตูนแอนิเมชัน ก็ทำให้ชื่อของ ฟูจิโอะ ฟูจิโกะ และสตูดิโอซีโร เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง 

แม้จะมีการ์ตูนสร้างชื่อตามมาอย่าง นินจาฮาโตริ ปาร์แมน , 21 เอมอน และ เจ้าชายจอมเปิ่น แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีผลงานฮิตออกมาอีก จนสตูดิโอมีปัญหาทางการเงินและต้องปิดตัวลง แต่ฮิโรชิกับโมโตโอะก็ไม่ได้ท้อแท้

สตูดิโอซีโร่ให้ประสบการณ์ประสบการณ์มากมายกับเขา ถึงแม้ว่ามันเริ่มจากศูนย์และต้องจบลงที่ศูนย์ตามชื่อก็ตาม

หลังจากไม่นาน โลกก็ได้รู้จักกับการ์ตูนที่ชื่อว่า ‘โดราเอมอน’

02

เจ้าหุ่นยนต์แมว กับกระเป๋าวิเศษ

ความล้มเหลวของสตูดิโอซีโร ทำให้ทั้งคู่กลับไปทุ่มเทกับงานเขียนการ์ตูนที่รักอีกครั้ง

แต่เส้นทางไม่ได้ราบรื่นเสียทีเดียว เพราะในยุคนั้นการ์ตูนเด็กลดความนิยมลง บางคนเรียกว่าเป็น ‘ยุคมืดของการ์ตูนเด็ก’  นิตยสารโชเน็นซันเดย์ที่รับต้นฉบับของทั้งคู่อยากเปลี่ยนการ์ตูนให้มีความเป็นวัยรุ่นมากขึ้น บรรณาธิการที่ดูแลต้นฉบับจึงขอให้เปลี่ยนคาแรคเตอร์ของหุ่นยนต์ กอนซึเกะ ในเรื่อง  21 เอมอน ให้เป็นมนุษย์เงินเดือน แต่ฮิโรชิไม่ยอม 

“ผมคิดว่าผมคงไม่สามารถปรับการ์ตูนให้ทันการเปลี่ยนแปลงของผู้อ่านได้ ผมไม่อยากเขียนการ์ตูนโดยไม่มีความมั่นใจ ดูเหมือนไม่มีทางอื่นแล้ว ดังนั้นผมจึงขอถอนตัวจาก โชเน็นซันเดย์ สักระยะหนึ่ง” ฮิโรชิ หรือ ฟูจิโกะ เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการแจ้งการตัดสินใจ

เส้นทางการทำงานของทั้งแค่เริ่มแยกออกจากกันเล็กน้อย โมโตเอะสามารถเขียนการ์ตูนให้มีอายุมากขึ้นได้ แต่ฮิโรชิยังอยากเขียนการ์ตูนสำหรับเด็กอยู่ จนในปี 2512 นิตยสารโชกาคุคังติดต่อให้ทั้งสองช่วยวาดการ์ตูนสำหรับเด็กชั้นประถม 1-6 

เวลาผ่านไปใกล้ถึงเดดไลน์แต่ทั้งคู่ก็ยังไม่มีไอเดียสักที ฮิโรชิจึงกลับมาคิดงานต่อที่บ้านจนดึกดื่น ยิ่งโดนบรรณาธิการโทรมาทวงงานก็ยิ่งเครียดจนอยากจะมีเครื่องผลิตไอเดียมาช่วย บังเอิญตอนนั้นมีแมวจรแวะเข้ามาทางหน้าต่าง เขาจึงจับมันมานอนหาหมัดให้ แล้วก็นึกในใจว่าอยากจะมีเครื่องไทม์แมชีนที่ย้อนเวลากลับไปในอดีต 

ด้วยความเหนื่อยอ่อน ฮิโรชิเผลอหลับไป พอสะดุ้งตื่นขึ้นมาด้วยความตกใจ เขารีบวิ่งลงไปล้างหน้า แต่ก็สะดุดกับตุ๊กตาล้มลุกของลูก นั่นทำให้เขาปิ๊งไอเดียเอาหน้าของแมวมาผสมกับตุ๊กตาล้มลุก และผูกเรื่องให้มันนั่งไทม์แมชชีนมาจากอนาคต พร้อมกับของวิเศษมากมาย

แทบไม่น่าเชื่อว่า ‘โดราเอมอน’ หนึ่งในการ์ตูนที่โด่งดังที่สุดของโลกเกิดขึ้นจากความบังเอิญแบบนี้

“การ์ตูนของเราเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก ตัวละครจึงเป็นเด็กๆ มีลักษณะกลมๆ เพราะความรู้สึกของรูปร่างกลมนั้นเป็นความรู้สึกที่น่ารักอ่อนโยน และเต็มไปด้วยมิตรภาพ” 

เรื่องราวในโดราเอมอนเน้นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน เพราะทั้งคู่รู้สึกว่าเด็กๆ ต้องแข่งขันกันเรียน ไม่มีโอกาสได้ไปเล่นข้างนอก เพื่อนๆ ก็น้อยลง จึงอยากเขียนตัวการ์ตูนอย่างโดราเอมอน โนบิตะ ไจแอนท์ ให้เหมือนเป็นเพื่อนของเด็กๆ

ถึงแม้การ์ตูนเหล่านี้จะมีการทะเลาะต่อสู้กันก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เพื่อนจะขัดแย้งกันบ้าง สิ่งสำคัญคือท้ายสุดต้องกลับมาสอนว่า เพื่อนต้องมีความจริงใจต่อกัน 

“เด็กญี่ปุ่นยุคนี้มีความอดทนน้อยลง มารยาทแย่ลง แต่ส่วนลึกของเด็กๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลง คือเขารักความยุติธรรม ความถูกต้อง และการสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม ความรู้สึกเหล่านี้ยังไม่หายไปไหน”ฮิโรชิกล่าวถึงคุณค่าที่พยายามตอกย้ำกับเด็กๆ ผ่านโดราเอมอน

ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่านักเขียนเป็นห่วงผู้อ่านตัวน้อยของเขา คือการไม่ตั้งชื่อจริงให้ ‘ไจโกะ’ (เป็นฉายาเช่นเดียวกับไจแอนท์ แต่ไจแอนท์มีชื่อจริงคือ โกดะ ทาเคชิ) เพราะไม่อยากให้เด็กคนที่ชื่อเดียวกันนั้นโดนเพื่อนล้อ

03

เมล็ดพันธุ์ทางความคิด

ส่วนเรื่องราวการผจญภัยและของวิเศษนั้น ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ตั้งใจจะสร้างจินตนาการและเปิดโลกของเด็กๆ ไปสู่ความรู้ด้านอื่นเช่น วิทยาศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งวัตถุดิบในการเขียนเหล่านี้มาจากความเป็นนักอ่านของฮิโรชิ เขาอ่านทั้งไซอิ๋ว อาหรับราตรี เทพนิทานกริม นิทานคลาสิกของญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์ยุคโบราณ เรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ไปจนถึงทฤษฎีใหม่สุดเกี่ยวกับไดโนเสาร์ โดยเฉพาะเรื่องลึกลับที่เขาชอบเป็นพิเศษ เช่นเรื่องภูติผี หรือมังกรคอยาว 

“ตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นเด็กแล้ว ผมชอบเรื่องราวที่มันแปลกประหลาด มหัศจรรย์มาก ถ้าถามผมว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ผมเองก็ไม่รู้จะอธิบายอะไรเหมือนกัน คงตอบได้แต่เพียงว่าเป็นเพราะความชอบ”

ความสนใจเหล่านี้เองสะท้อนออกมาในการ์ตูน บรรณาธิการที่ทำงานร่วมกับฮิโรชิอย่างยาวนาน เล่าให้ฟังว่าเขามักจะพกสมุดโน้ตเล่มเล็กๆ ติดตัวอยู่เสมอ เมื่อพบข้อมูลน่าสนใจก็จะจดบันทึก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่นึกขึ้นได้ สิ่งที่ผ่านเข้ามาในสายตา เรื่องที่ทำให้ใจกระตุกไหว รวมทั้งข่าวที่น่าสนใจ ต่อให้เป็นข้อมูลเล็กน้อยถ้าสอดคล้องกับเรื่องที่อยากวาดก็จะออกเดินทางไปเก็บข้อมูลทันที 

ฮิโรชิให้เหตุผลว่าเนื่องจากสิ่งเหล่านั้นเปรียบเสมือน ‘เมล็ดพันธุ์ทางความคิด’ สักวันหนึ่งมันอาจแตกตา ผลิดอกออกผล นักเขียนต้องอ่านให้มากและดูให้มากและมีความสามารถในการซึมซับสิ่งต่างๆ 

ยกตัวอย่างเช่น ตอน ‘ไดโนเสาร์ของโนบิตะ’ นั้นได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่อง Born Free ที่เป็นผลงานการประพันธ์ของจอย อดัมสัน หรือตอน ‘โนบิตะ นักบุกเบิกอวกาศ’ ก็ได้ไอเดียจากเรื่อง Brigadoon และ S้hane เป็นต้น 

“เมื่อผมที่เป็นคนเขียนรู้สึกสนุก คนอ่านก็ย่อมจะสนุก นี่ละ การ์ตูนในอุดมคติของผม”

      อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่า โดราเอมอน จะดังเป็นพลุแตกทันทีที่เปิดตัว ฟุจิโมโตะ มาซามิบุตรสาวคนโตของฮิโรชิ เล่าว่าตอนที่เขียนโดราเอมอนยุคแรกๆ ควบคู่กับการ์ตูนซีรีย์ SF ไม่มีแฟนคลับเขียนจดหมายเข้ามาคุยเลยแม้แต่ฉบับเดียว 

“ชีวิตในแต่ละวันลำบากมาก ต้องเก็บข้อมูลแล้วก็ได้แต่สงสัยว่า ทำไมนะ ผลงานที่ตัวเองรักจึงไม่เป็นที่นิยมของผู้อ่าน ..ถึงจะทำแบบสอบถามความคิดเห็นแต่ความนิยมก็ไม่กระเตื้องขึ้น เอาเป็นว่า ตราบใดที่มีโอกาสเขียนก็จะเขียนต่อไปเรื่อยๆ ก็แล้วกัน”มาซามิ เล่าความคิดพ่อของเธอในเวลานั้น 

แต่สุดท้ายแล้วงานที่มีคุณภาพก็พิสูจน์ด้วยตัวของมันเอง เมื่อนำมารวมเล่มจำหน่าย ก็ปรากฏว่า โดราเอมอนได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเป็นทำเป็นการ์ตูนอนิเมชันก็โด่งดังระเบิดไปทั่วญี่ปุ่น ก่อนจะแพร่หลายครองใจเด็กทั่วโลกในเวลาต่อมา

อาจกล่าวได้ว่า..ความสำเร็จของโดเรมอนไม่ได้มาจากกระเป๋าวิเศษ แต่มาจากไอเดียและความตั้งใจที่เขาทุ่มเทลงไปต่างหาก

04

การ์ตูนที่ไม่มีวันจบ

เมื่อทั้งคู่อายุได้ 54 ปี ก็ถึงจุดอิ่มตัวในการทำงานร่วมกัน จึงปลดเกษียณนามปากกา ฟูจิโอะ ฟูจิโกะ ด้วยการตกลงใจทั้งสองฝ่าย 

โมโตเอะ ใช้นามปากกา ‘ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ เอ’ ทำงานการ์ตูน เช่น นินจาฮาโตริ, โปรกอล์ฟซารุ โดยยังกลับมาช่วยสร้างสรรค์โดราเอมอนตอนพิเศษประจำทุกปีด้วยกัน

ส่วนฮิโรชิ ใช้นามปากกา ‘ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ’ มีผลงานหลายเรื่อง เช่น มามิ สาวน้อยพลังจิต, คิเทเรสึ เจ้าหนูนักประดิษฐ์ ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่แล้วเขาทุ่มเทให้กับโดราเอมอนอย่างเต็มที่ “เขาไม่ยอมให้พ่อเลิกเขียน โดราเอมอน ล่ะ”ฮิโรชิ เคยกล่าวกับลูกสาวคนโต

ตอนแรกทั้งคู่ตั้งใจจะวาดเจ้าแมวสีฟ้าเพียง 1 ปี 6 เดือน และเคยเขียนตอนอวสานไปแล้ว (มีหลายเวอร์ชัน) แต่ด้วยความนิยมของผู้อ่าน ทำให้ต้องวาดต่อเนื่องยาวนานมาเรื่อยๆ ถึง 26 ปี 

ช่วงท้ายของชีวิต สุขภาพของฮิโรชิย่ำแย่ลง จนถึงปี 2539 ระหว่างที่เขียน โดราเอมอน ตอน ตะลุยเมืองตุ๊กตาไขลาน ไปได้เพียงสามหน้า เขาก็ล้มป่วยลงและจากไปด้วยโรคมะเร็งตับ กลุ่มลูกศิษย์ทีม ฟุจิโอะโปร (Fujio Pro) จึงมารับช่วงเขียนต่อจนจบ  

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาทั้งชีวิต ฮิโรชิ หรือ ‘ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ’ ได้ทำตามสิ่งที่เขาฝันไว้แล้วคือการวาดการ์ตูนให้ผู้อ่านมีความสุข ผลงานการตูนของเขาเดินทางไปอยู่ในใจเด็กๆ ทั่วโลก มันปรากฏบนโปสเตอร์ ผนังตึก รถไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งทำให้เขาภูมิใจมาก  

“การ์ตูนของผมเป็นเรื่องๆ พื้นๆ ไม่ใช่ผลงานไฮโซอะไร จะอ่านแล้วทิ้งไปก็ได้ ขอเพียงอ่านแล้วสนุกก็พอ

“หากผู้อ่านโตขึ้น แล้วนึกได้ว่าครั้งหนึ่งเคยอ่านการ์ตูนของพ่อ เพียงเท่านี้ก็ดีใจแล้ว” ฮิโรชิกล่าวถึงความปรารถนาที่แท้จริงให้ลูกสาวฟังอย่างถ่อมตน

.. และนี่คือเรื่องราวของนักเขียนการ์ตูนผู้สร้างความสุขให้คนมากมาย และจะอยู่ในความทรงจำของผู้อ่านตลอดไป

ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์

เรียบเรียงและภาพประกอบจาก

  • นิตยสาร a day ปีที่ 2 ฉบับที่ 18 เดือนกุมภาพันธ์ 2545
  • นิตยสารโลกหนังสือ ปีที่ 6 ฉบับที่ 7 เมษายน 2526
  • รายการสารคดี Doraemon's Birth Story ~The Letter from Fujiko F Fujio~
  • การ์ตูน SF Collection Path of Fujiko F. Fujio
  • https://ja.wikipedia.org/
  • https://thematter.co/ : 50 ปี โดราเอมอนหุ่นยนต์แมวสีฟ้าที่โตมาด้วยกัน ฑูตผู้ส่งต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่นข้ามยุค
  • https://www.plotter.in.th/?p=7739
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 23

  • ถ้าเพื่อน ต้องรู้จัก
    ท่านคือผู้สร้างโลกให้เด็กๆรวมถึงเรา
    03 พ.ค. 2563 เวลา 07.40 น.
  • ถึงแม้ว่าจะเป็นงานบรรเทิงซึ่งดูแล้วว่าน่าจะเหมาะกับเด็กๆก็ตาม แต่ก็ต้องขอชื่นชมกับในความตั่งใจที่ได้สร้างสรรค์งานเพื่อให้ออกมาดูดีและน่าติดตามมากครับ.
    03 พ.ค. 2563 เวลา 06.54 น.
  • kang4mean
    การ์ตูนอมตะตลอดกาล ไม่มีวันจบ ทุกวันนี้ก็ยังดูอยู่ ขอบคุณที่ผลิตผลงานที่มีค่าให้เราได้ดู
    03 พ.ค. 2563 เวลา 09.59 น.
  • โดเรม่อน ดูตั้งแต่ 7 ขวบ
    03 พ.ค. 2563 เวลา 05.33 น.
  • Jade
    อัง อัง อัง
    03 พ.ค. 2563 เวลา 06.12 น.
ดูทั้งหมด