โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

เรื่องนี้ต้องรู้! อุบัติเหตุ ล้มศีรษะกระแทก พื้น จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง?

MThai.com - Health

เผยแพร่ 06 มิ.ย. 2561 เวลา 04.48 น.
เรื่องนี้ต้องรู้! อุบัติเหตุ ล้มศีรษะกระแทก พื้น จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง?
อุบัติเหตุ ตกจากที่สูง หรือ ล้มศีรษะกระแทก จนได้รับความกระทบกระเทือน จัดเป็นอันตรายอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นหากคนรอบข้างคุณมีอาการผิดปกติ สลบไป

อุบัติเหตุ ตกจากที่สูง หรือ ล้มศีรษะกระแทก จนได้รับความกระทบกระเทือน จัดเป็นอันตรายอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นหากคนรอบข้างคุณมีอาการผิดปกติ สลบไปตอนล้ม สติสัมปะชัญญะไม่ปกติ หรือไม่สามารถพูดคุย สื่อสาร ตอบโต้ได้เหมือนเดิม ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เพราะสมองอาจจะได้รับความกระทบกระเทือนจนเกิดโรคต่างๆ ขึ้น

อาการแบบไหนที่ต้องพาส่งโรงพยาบาล

  1. หมดสติ

  2. ปวดศีรษะอย่างรุนแรง

  3. ตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัดเจน

  4. อาการชา หรืออ่อนแรงของมือแขนหรือขา

  5. อาเจียนรุนแรง อาเจียนพุ่ง

โดยปกติอาการบาดเจ็บที่มีต่อสมองอาจเกิดขึ้นได้ทันทีทันใด หรือส่วนใหญ่มักจะเกิดปัญหาขึ้นภายใน 48-72 ชั่วโมง หลังจาก 72 ชั่วโมงไปแล้ว ก็อาจเกิดขึ้นได้แต่พบได้น้อย

ผลกระทบที่เกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ

1. กะโหลกศีรษะแตกยุบ

เกิดจากการที่มีแรงมากระแทกที่ศีรษะโดยตรง แรงนั้นมากเกินกว่าที่กะโหลกศีรษะจะทนได้ ทำให้เกิดการยุบตัวลงไปและไม่คืนกลับมา อาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ กะโหลกศีรษะแตกยุบชนิดมีแผล และกะโหลกศีรษะแตกยุบชนิดไม่มีแผล พบได้บ่อยจากการถูกตี หรือขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่ใส่หมวกกันน็อกแล้วใบหน้ากระแทกกับพื้น ทำให้มีกะโหลกศีรษะบริเวณด้านหน้ารวมทั้งกระดูกใบหน้าแตก ซึ่งถ้าเป็นชนิดมีแผลบางครั้งอาจเห็นเนื้อสมองไหลออกมา

ในกรณีที่ไม่มีบาดแผล จะเห็นศีรษะบริเวณนั้นยุบลงไป ถ้ามีแผลก็จะสามารถคลำได้ว่ากะโหลกยุบ การถ่ายภาพรังสีกะโหลกศีรษะถ้ามองเห็นไม่ชัดอาจต้องถ่ายเฉียงให้ตรงกับแนวกะโหลกยุบ การตรวจด้วยเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ช่วยทำให้มองเห็นกะโหลกศีรษะแตกยุบได้ชัดเจนขึ้น สำหรับการรักษากะโหลกศีรษะแตกยุบชนิดไม่มีแผลไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ยกเว้นเพื่อความสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากะโหลกยุบตรงหน้าผากหรือบริเวณที่เห็นได้ชัด ส่วนกะโหลกศีรษะแตกยุบชนิดที่มีแผลนั้นจำเป็นต้องผ่าตัด ถือเป็นข้อบ่งชี้ที่ต้องผ่าตัดเพื่อยกกะโหลก ทำความสะอาด และเย็บซ่อมเยื่อหุ้มสมอง ในบางรายอาจมีเลือดออกในกะโหลกศีรษะร่วมด้วย การผ่าตัดช่วยป้องกันการติดเชื้อเนื่องจากอาจมีเศษผม เศษทราย สิ่งสกปรก เชื้อโรคเข้าไปทำให้มีการติดเชื้อในระบบประสาทหรือฝีในสมอง แต่การผ่าตัดไม่สามารถป้องกันอาการชักที่เกิดจากเนื้อสมองมีแผลเป็นได้

2. สมองช้ำ

เป็นการบาดเจ็บที่เนื้อสมอง อาจเกิดร่วมกับภาวะเลือดออกชนิดต่างๆได้ สมองช้ำมักเกิดจากการที่มีแรงกระทบให้ศีรษะมีการเคลื่อนไหว ทำให้สมองเคลื่อนในกะโหลกศีรษะแล้วเกิดการบาดเจ็บ ซึ่งมักจะพบสมองส่วนหน้ากับด้านข้าง เนื่องจากกะโหลกศีรษะบริเวณนี้มีลักษณะขรุขระ สมองช้ำอาจมีเลือดออกหรือไม่มีเลือดออกก็ได้ ถ้าไม่มีเลือดออกจะเห็นในเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์เป็นสีดำ ถ้ามีเลือดออกจะเห็นเป็นสีขาวหรือขาวปนดำ ในระยะแรกบางรายสมองช้ำอาจมีขนาดเล็ก เมื่อระยะเวลาผ่านไปไม่กี่วันบริเวณสมองช้ำอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีเลือดออก ทำให้อาการแย่ลงได้

สำหรับการรักษา ขึ้นอยู่กับขนาดของสมองที่ช้ำ ถ้าขนาดเล็กอาจเฝ้าติดตามดูอาการ และภาพถ่ายเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ ถ้าบริเวณสมองช้ำมีขนาดใหญ่ อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อลดความดันในสมอง

3. เลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมอง

ส่วนมากเกิดจากการที่มีแรงกระทบกระแทกต่อกะโหลกศีรษะโดยตรง และมีการฉีกขาดของเส้นเลือดแดงซึ่งอยู่บริเวณเหนือกกหูหรือทัดดอกไม้ เนื่องจากกะโหลกศีรษะบริเวณนี้มีความบาง และมีเส้นเลือดแดงทอดผ่านบริเวณดังกล่าว การบาดเจ็บที่ถูกกระแทกบริเวณนี้ และมีกะโหลกแตก จึงมีโอกาสเกิดเลือดออกในช่องเหนือเยื่อหุ้มสมองได้

ในระยะแรกผู้ป่วยอาจรู้สึกตัว ต่อมาจะค่อยๆ ซึมลง เนื่องจากเลือดไปกดสมองทำให้ซึมลง และถ้าช่วยเหลือไม่ทัน ก็จะไม่รู้สึกตัวและถึงแก่ชีวิตได้ การวินิจฉัยจึงจำเป็นต้องระลึกถึงเสมอเมื่อมีกะโหลกศีรษะแตก ภาพถ่ายเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์จะเห็นตำแหน่งและขนาดของก้อนเลือดและกะโหลกศีรษะที่แตก การผ่าตัดเอาก้อนเลือดออกทันท่วงทีจะช่วยลดอัตราพิการและอัตราตาย ผลการผ่าตัดส่วนมากผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้ดี

4. เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง

เป็นผลจากการที่มีการเคลื่อนของสมองในกะโหลกศีรษะ ทำให้เส้นเลือดดำที่ขึงระหว่างสมองกับเยื่อหุ้มสมองฉีกขาด หรืออาจเกิดจากมีเลือดออกที่สมองตรงผิว แล้วแตกเข้าสู่ช่องใต้เยื่อหุ้มสมอง การบาดเจ็บมักเกิดรุนแรง เช่น อุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์ ผู้ป่วยมักไม่รู้สึกตัว การวินิจฉัยทำโดยถ่ายภาพเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ มักมีการบาดเจ็บของเนื้อสมองร่วมด้วยทำให้เห็นสมองบวมและมีความดันในกะโหลกศีรษะสูง

การวินิจฉัยและรักษาโดยการผ่าตัดอย่างรวดเร็วจะลดอัตราเสียชีวิตได้ แต่เนื่องจากการบาดเจ็บมักรุนแรง ผู้ป่วยมักมีความพิการหลงเหลือหรือไม่ฟื้นหลังรอดชีวิต การผ่าตัดบางครั้งจำเป็นที่จะต้องเอากะโหลกศีรษะออกเนื่องจากสมองบวมมาก การรักษาหลังผ่าตัดก็มีความสำคัญเนื่องจากต้องรักษาภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงร่วมด้วย

5. เลือดเก่าออกในสมอง

พบได้บ่อยในผู้ป่วยสูงอายุ มักมีประวัติอุบัติเหตุไม่รุนแรง เช่น หกล้ม หรือจำไม่ได้ว่าเคยมีอุบัติเหตุ หรือเดินชนอะไร ผู้ป่วยอาจมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และรับประทานยาที่ทำให้เลือดออกง่าย โดยปกติสมองของผู้สูงอายุจะฝ่อ และมีช่องว่างใต้เยื่อหุ้มสมองมากกว่าคนอายุน้อย เมื่อเลือดออกในระยะแรกจึงไม่มีอาการ ต่อมาเมื่อมีเยื่อมาหุ้มก้อนเลือด และเมื่อเวลาผ่านไปลิ่มเลือดละลายกลายเป็นของเหลวหรือเลือดเก่า และมีเลือดออกซ้ำตรงเยื่อหุ้มเข้าไปในก้อนเลือดทำให้ขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งจึงปรากฏอาการแสดงออกมา เช่น แขนขาอ่อนแรง ปวดศีรษะ หรือซึมลง

การวินิจฉัยโดยใช้ภาพเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมอง จะเห็นลักษณะเลือดเป็นสีดำหรือเทา ใกล้เคียงกับเนื้อสมอง แต่ขึ้นอยู่ระยะของเลือด ถ้ามีเลือดใหม่ปนบ้าง ก็ทำให้เห็นขาวขึ้น อาจพบข้างเดียวหรือสองข้างได้ การรักษาภาวะเลือดเก่าในสมองใช้วิธีผ่าตัดที่เรียกว่าเจาะรู โดยเจาะกะโหลกศีรษะเล็กๆ หนึ่งหรือสองรู แล้วล้างเอาเลือดออก บางครั้งอาจใส่สายระบายเลือดออกหลังผ่าตัด 2-3 วันจนกว่าจะใส ค่อยดึงออกภายหลัง ผลการผ่าตัดส่วนมากผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติ

อาการผิดปกติที่เกิดจากสมองกระทบกระเทือน

  1. ระดับความรู้สึกตัวลดลง เช่น นอนซึม เรียกไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือมีอาการเอะอะโวยวาย

  2. โต้ตอบและทำตามคำสั่งไม่ได้

  3. คลื่นไส้อาเจียน

  4. อาการปวดศีรษะมากขึ้น

  5. อาการอ่อนแรงของแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง

  6. อาการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณหน้า แขน หรือขา

  7. ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน หรือมองเห็นเป็นภาพซ้อน

ลักษณะความผิดปกติทั่วไปที่พบในผู้ป่วยบาดเจ็บศีรษะ

เมื่อมีการบาดเจ็บของศีรษะและสมองเกิดขึ้น จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติในหลายๆ ด้าน ที่สำคัญได้แก่ ด้านความรู้ ความเข้าใจ ด้านพฤติกรรม ด้านการรับสัมผัส และการเคลื่อนไหว ด้านความรู้ ความเข้าใจ เป็นกระบวนการทางด้านจิตใจ หรือความสามารถที่จะรู้ในสิ่งต่างๆ รวมถึงความตระหนัก การรับรู้ การใช้เหตุผล การสื่อภาษา ความจำ และการตัดสินใจ ซึ่งผู้บาดเจ็บที่ศีรษะมักจะมีความผิดปกติ หรือบกพร่องในด้านเหล่านี้ การสูญเสียความทรงจำระยะสั้นเป็นความผิดปกติที่พบได้เสมอในผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ

ปัญหาหรือความบกพร่องของความสามารถด้านจิตสังคมเป็นปัญหาสำคัญที่พบได้บ่อยในผู้ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ปัญหาเหล่านี้ได้แก่ พฤติกรรมอ่อนล้า คล้ายอาการขี้เกียจ ปฏิเสธการทำกิจกรรมต่างๆ ภาวะซึมเศร้า ขาดแรงจูงใจ วุ่นวาย ไม่ยอมพักในเวลาที่ควรจะพัก ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ยาก

ด้านการรับสัมผัสและการเคลื่อนไหว เมื่อศีรษะได้รับบาดเจ็บและผลจากการที่เซลล์สมองและทางเดินประสาทได้รับบาดเจ็บทำให้เกิดความบกพร่องต่อการรับสัมผัสและการควบคุมการเคลื่อนไหว ลักษณะกลุ่มของความบกพร่องที่พบได้บ่อย ได้แก่ กลุ่มอาการอัมพาตครึ่งซีก หรืออัมพาตครึ่งซีก 2 ด้าน ความบกพร่องในการทรงท่าและสมดุล ความบกพร่องในการประสานสัมพันธ์

ที่มา : www.bangkokhealth.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0