โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

SMEs-การเกษตร

นกบินอิสระ ความสุขอิสระ ของกลุ่มคนรักนก

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 19 มี.ค. 2564 เวลา 05.55 น. • เผยแพร่ 19 มี.ค. 2564 เวลา 05.55 น.
นกบินอิสระ

ก่อนหน้านี้ คอลัมน์สัตว์เลี้ยงสวยงาม เคยลงเรื่องราวของน้องเล็ก คุณขวัญชนก รัตนอุดมมงคล สาวสวยชาวอำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี ทำฟาร์มนกยูงเป็นอาชีพ ก่อให้เกิดรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างไม่มีปัญหา ถึงปัจจุบัน น้องเล็กยังคงรักการเพาะเลี้ยงนกยูงอยู่ แต่ด้วยครอบครัวต้องย้ายไปทำงานต่างจังหวัด จึงต้องเดินทางไปมาบ่อย เกรงว่าจะดูแลนกยูงได้ไม่ดีเท่าที่เคยทำ จึงพักการเพาะเลี้ยงนกยูงไว้ชั่วคราว

ปัจจุบัน น้องเล็ก ให้ความสนใจ ศึกษา และเข้าร่วมกลุ่มกับ “กลุ่มนกบินอิสระ” ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการเพาะ การเลี้ยง การดูแล และการปล่อยนกให้บินอิสระ ตามชื่อกลุ่ม

กลุ่มนกบินอิสระ น้องเล็ก อธิบายว่า เป็นการรวมตัวของคนที่มีใจรักการเลี้ยงนกบินอิสระ ไม่ใช่การขังนกอยู่แต่ในกรงเพียงอย่างเดียว นกควรได้บิน ได้ออกกำลังกาย ได้เจอกับเพื่อนฝูงนกด้วยกัน เหมือนกับคนที่ต้องการการมีเพื่อน

เกือบ 2 ปีแล้ว ที่น้องเล็กเลี้ยงนกปล่อยบินอิสระ และเข้าร่วมกลุ่มกับ “กลุ่มนกบินอิสระจันทบุรี”

เหตุผลที่เข้าร่วมกลุ่ม ก็ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่า น้องเล็ก พักการเพาะเลี้ยงนกยูงไว้ชั่วคราว ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา รู้สึกเหงา และต้องการสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนแก้เหงา เมื่อนึกถึงความชอบและความรักจากประสบการณ์สัตว์เลี้ยงที่ผ่านมาที่เคยเพาะนกแก้ว ป้อนอาหาร และฝึกปล่อยบิน จึงอยากฟื้นความทรงจำที่ดีเมื่อ 7-8 ปีก่อนให้เป็นจริงอีกครั้ง

“ก่อนหน้านี้ นกบินอิสระ ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย มีเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่ทำอยู่ แต่ปัจจุบัน มีกลุ่มนกบินอิสระเกิดขึ้นเกือบทั่วประเทศ เมื่อเห็นภาพ ทำให้อยากกลับมาเลี้ยงอีกครั้ง รวมถึงการเข้าร่วมกลุ่มนกบินอิสระ ทำให้เห็นความน่ารักของนก และการช่วยเหลือเกื้อกูลของสมาชิกในกลุ่มด้วยกัน จึงตัดสินใจเริ่มเลี้ยงนกบินอิสระอีกรอบ”

เดิม น้องเล็ก มีพื้นฐานเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์นก การเลี้ยงนก การฝึก และการปล่อยบินมาบ้าง การเพิ่มเติมความรู้ด้วยการสอบถามจากเพื่อนสมาชิกกลุ่มนกบินอิสระด้วยกัน จึงได้รับการตอบสนองที่ดี ส่งผลให้มีกำลังใจในการเลี้ยงนกบินอิสระ

น้องเล็ก ให้ข้อมูลว่า นกที่จะปล่อยบินอิสระ จะเป็นกลุ่มนกแก้วขนาดใหญ่ กลาง เล็ก นกขนาดใหญ่ที่นิยมนำมาฝึกปล่อยบิน เป็นนกแก้วตระกูลมาคอร์ ซึ่งราคาค่อนข้างสูง ส่วนนกแก้วขนาดกลางที่นิยมนำมาฝึกปล่อยบิน มีหลายสายพันธุ์ เช่น แอฟริกันเกรย์ อิเล็กตัส กระตั้ว อะเมซอน เป็นต้น ส่วนนกแก้วขนาดเล็กที่นิยมนำมาฝึกปล่อยบิน ส่วนใหญ่เป็นนกแก้วในกลุ่ม ซันคอนัวร์ กรีนซีก ค็อกกะเทล ริงเน็ก เลิฟเบิร์ด ฟอพัส เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนกแก้วขนาดเล็กจะพบได้มาก เพราะราคาไม่สูง เหมาะสำหรับมือใหม่ ทั้งยังมีสีสันสวยงาม และขี้อ้อนไม่น้อยไปกว่านกแก้วขนาดใหญ่

การฝึกนก น้องเล็ก ให้คำแนะนำว่า ก่อนเริ่มเลี้ยง ผู้ที่คิดจะเลี้ยงจะต้องมีความพร้อม โดยเฉพาะเรื่องของเวลา เพราะนกเหล่านี้ต้องได้รับการฝึกฝนตั้งแต่เด็ก เจ้าของจะต้องป้อนอาหารเอง และฝึก call back ให้นกบินมาหา ซึ่งต้องเริ่มฝึกตั้งแต่นกยังบินไม่ได้

“ก่อนป้อนอาหาร เราจะฝึกการเรียกชื่อนก หรือเป่านกหวีดให้นกเดินมาหาเรา หรือยืนที่มือเราก่อน แล้วค่อยป้อนอาหารให้ ทำบ่อยๆ ให้นกจำว่า ต้องกลับมาหาเราจึงจะได้กินอาหาร เมื่อนกเริ่มหัดบิน ให้หาคอนให้นกยืนเพิ่มความสูงจากพื้นเล็กน้อย และค่อยๆ ขยับความสูงขึ้นเรื่อยๆ ฝึกโดยการให้นกบินมาหาเรา แล้วค่อยป้อนอาหารตามเดิม ให้เริ่มจากระยะใกล้ๆ ก่อน แล้วเพิ่มระยะไกลขึ้นตามลำดับความสามารถของนก แต่ปัจจัยสำคัญที่ควรฝึกอย่างมากคือ การฝึกให้นกบินจากที่สูงลงต่ำ เนื่องจากถ้าไม่ฝึกเช่นนี้ เมื่อนำนกไปปล่อยบินข้างนอก แล้วนกเกาะบนต้นไม้สูง จะไม่กล้าบินลงมาหาเจ้าของ”

น้องเล็ก บอกด้วยว่า ก่อนนำนกไปปล่อยบินข้างนอก ควรฝึก call back ในบ้านให้มั่นใจก่อนนำนกออกไปบินข้างนอก เมื่อมั่นใจในตัวนกแล้ว ก็เข้าร่วมกลุ่มกับกลุ่มที่มีการปล่อยบิน เพื่อทดลองปล่อยนกให้บินอิสระครั้งแรกร่วมกับนกที่ประสบการณ์บินอิสระมาก่อน จะทำให้นกที่หัดบินอิสระใหม่บินตามฝูง โอกาสที่นกจะเกาะต้นไม้หรือหลงทางจะมีน้อยกว่าการบินตัวเดียว หรือหากอยู่ห่างไกลจากกลุ่มนกบินอิสระมาก ครั้งแรกของการปล่อย แนะนำให้หาพื้นที่โล่ง หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีต้นไม้เยอะ เพราะกรณีที่นกหัดบินใหม่หากเหนื่อยจะแวะลงเกาะทุกจุดที่เกาะได้ ที่สำคัญสถานที่โล่งนั้น ควรปลอดภัยจากนกนักล่า

“อันนี้สำคัญที่สุด สำหรับนกที่ปล่อยบินอิสระ นกที่ปล่อยบินทุกตัวมีความเสี่ยง เมื่อออกบินแล้ว เจ้าของจะต้องรับผลที่ตามมาสำหรับทุกเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น โดนนกนักล่าไล่ หรือมีเหตุที่ทำให้นกตกใจบินออกนอกเส้นทาง สิ่งที่ต้องมีคือ ห่วงขานก หรือฝังชิฟ เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ ห่วงขาจะใส่ชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ของเจ้าของนกไว้ ถ่ายภาพนก หรือตำหนิที่สังเกตเห็นได้ชัดของนกไว้ เพราะหากนกหลุดหรือตกใจบินออกนอกเส้นทาง นกจะเกาะหรือหลบตามต้นไม้ แล้วจะลงไปหาคนเพราะความเชื่องที่ถูกเลี้ยงมาโดยคน แม้จะไม่ใช่เจ้าของก็ตาม”

เมื่อถามถึงความสุขที่ได้ น้องเล็ก บอกว่า ก็เหมือนคนที่รักสัตว์เลี้ยงทุกชนิด ที่รู้สึกสบายใจ มีความสุขและได้ทำในสิ่งที่รัก แต่สิ่งที่ได้จากการฝึกนกบินคือ ความท้าทาย ความไว้ใจ ระหว่างนกกับเจ้าของที่มีให้กัน ทั้งยังได้รับมิตรภาพที่ดีจากกลุ่มนกบินอิสระที่เข้าร่วมกลุ่ม ร่วมกิจกรรมในการพานกออกบิน ได้เพื่อนเพิ่มขึ้นทั้งนกและคน

น้องเล็ก ย้ำว่า การเลี้ยงนก ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงขังกรงตลอดเวลา เมื่อเราเลี้ยง เราปล่อยให้นกบิน แล้วนกก็บินกลับมาหาเราด้วย เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจมาก โดยเฉพาะเวลาที่ปล่อยนกบินอิสระออกไปพร้อมกันเป็นฝูง แล้วบินกลับมาหาเจ้าของ เป็นภาพที่สวยงามมาก

กลุ่มนกบินอิสระ จึงเกิดขึ้นมากมาย เพื่อการรวมกลุ่มของคนที่รักการเลี้ยงนกแล้วปล่อยบินอิสระ

กิจกรรมเกี่ยวกับนกบินอิสระ น้องเล็ก เล่าว่า เมื่อเป็นการรวมตัวของคนที่รักนกและชอบการปล่อยนกบินอิสระ ทุกคนที่เป็นสมาชิกก็จะหาสถานที่ที่เหมาะกับการปล่อยบินสำหรับนก เพื่อให้นกได้หัดบิน ได้ออกกำลังกายและเจอเพื่อนนกด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันนอกจากการปล่อยนกบินอิสระเพื่อให้นกได้ออกกำลังกายแล้ว ยังมีการจัดการแข่งขันนกบินอิสระ และเชิญพบปะสังสรรค์ระหว่างคนเลี้ยงนกบินอิสระด้วยกัน เป็นการได้เดินทางท่องเที่ยวอีกแบบหนึ่ง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงและคนเลี้ยงนกบินอิสระกังวลคือ นกบินอิสระจะเป็นนกที่มีความเชื่อง เมื่อพลัดหลงจะดูแลตัวเองไม่ได้ น้องเล็กจึงขอฝากถึงคนที่พบนกที่มีลักษณะไม่ใช่นกตามธรรมชาติ ให้คิดว่า เป็นนกมีเจ้าของ ที่อาจพลัดหลงมา ให้ช่วยประกาศหาเจ้าของ ซึ่งอาจจะถ่ายรูปนกไว้ หรือแจ้งพิกัดที่พบนก หากสามารถจับนกได้ จะมีห่วงขาที่บอกชื่อเจ้าของและหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อเจ้าของนก

สำหรับผู้ที่สนใจต้องการเลี้ยงนกบินอิสระ น้องเล็ก แนะนำว่า ไม่ใช่เรื่องยาก หากมีใจรักในการเลี้ยงปล่อยบินอิสระ เพราะการฝึกนกให้บินอิสระแล้วนกยังบินกลับมาหาเจ้าของได้อย่างปลอดภัย เท่ากับ เป็นการชนะใจตนเอง นอกจากนี้ ก่อนเริ่มเลี้ยงควรศึกษาหาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการฝึกนกบินอิสระ สายพันธุ์นกที่ชอบ และตรวจดูความพร้อมค่าใช้จ่ายที่จะต้องมีขึ้นตามมาหลังการมีตัวนก เช่น ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าอุปกรณ์ที่ต้องซัปพอร์ตนกด้วย หากสงสัยหรือมีข้อสอบถาม น้องเล็ก หรือคุณขวัญชนก รัตนอุดมมงคล ตัวแทนกลุ่มนกบินอิสระจันทบุรี ได้ที่อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี หรือติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ นกบินอิสระจันทบุรี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น