วิธีเปลี่ยนโหมด BIOS จาก Legacy BIOS Boot Mode เป็น UEFI Boot Mode
ไบออส (BIOS) หรือที่ย่อมาจาก "Basic Input / Output System" เป็นโปรแกรมตัวหนึ่งที่ทำงานอยู่บน เมนบอร์ด (Mainboard) หรือ แผงวงจรหลัก ของคอมพิวเตอร์ มันทำหน้าที่ตรวจสอบ และควบคุมการเชื่อมต่อของฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ภายในเครื่อง ทุกครั้งที่เราเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ไบออสจะทำงานก่อนเป็นอันดับแรก ที่คอมพิวเตอร์สามารถบูตเข้าสู่ ระบบปฏิบัติการ Windows ได้ ก็เพราะ BIOS นี่แหละที่ทำหน้าที่เรียกข้อมูลจากฮาร์ดไดร์ฟให้ทำงาน
รูปแบบของ BIOS ของระบบปฏิบัติการ Windows ที่นิยมใช้งานกันในปัจจุบันจะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ UEFI Boot Mode (ภาพฝั่งซ้าย) และ Legacy BIOS Boot Mode (ภาพฝั่งขวา)
ภาพจาก : https://www.bitcoinminershashrate.com/how-to-change-from-legacy-bios-to-uefi-in-windows-10/
Legacy Bios Boot Mode (แบบโบราณ หรือ แบบดั้งเดิม) ก็มักจะมีหน้าจอสีเทา หรือไม่ก็สีฟ้า จะดูออกโบราณ ๆ หน่อย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะมันถูกพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) โน่นเลยทีเดียว
ส่วน UEFI Boot Mode ถูกพัฒนาขึ้นมาใช้งานตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) จะมีหน้าตาที่สวยงามกว่า ใช้งานง่าย รองรับการใช้เมาส์ในการควบคุมเมนูต่าง ๆ และมีคุณสมบัติที่ทันสมัย
ข้อควรรู้ : UEFI Boot Mode ย่อมาจากคำว่า "Unified Extensible Firmware Interface"
และที่สำคัญที่สุด คือ UEFI Boot Mode นั้นรองรับฮาร์ดไดร์ฟความจุได้สูงกว่า 2.1 TB. แถมยังสามารถแบ่งพาร์ทิชันได้จำนวนไม่จำกัดอีกด้วย ในยุคที่ภาพถ่าย และวิดีโอมีความละเอียดสูง ไฟล์วิดีโอเกมก็มีขนาดใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ พื้นที่ไดร์ฟแค่ 2.1 TB. ของ Legacy BIOS Boot Mode ก็อาจจะไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานในปัจจุบันได้อีกแล้ว
อีกทั้งการมาของ ระบบปฏิบัติการ Windows 11 ที่ทาง Microsoft ได้ระบุความต้องการ เอาไว้ด้วยว่า จะต้องใช้งาน BIOS แบบ UEFI Boot Mode แล้วเท่านั้น
โชคดีที่ว่า เราสามารถเปลี่ยนโหมดการทำงานของ Legacy BIOS Boot Mode ให้เป็น UEFI Boot Mode ได้นะ ส่วนจะทำอย่างไรนั้น มาอ่านกันเลย …
เนื้อหาภายในบทความ
- วิธีตรวจสอบว่า BIOS ที่ใช้งานเป็น Legacy Boot Mode หรือ UEFI Boot Mode
- ทำไมเราถึงควรใช้ UEFI Boot Mode ?
- สิ่งที่ควรรู้ก่อนเปลี่ยนจาก Legacy BIOS Mode ให้เป็น UEFI Boot Mode
- วิธีแปลงจาก Legacy BIOS Boot Mode เป็น UEFI Boot Mode
วิธีตรวจสอบว่า BIOS ที่ใช้งานเป็น Legacy Boot Mode หรือ UEFI Boot Mode
- กด "ปุ่ม Windows+r" เพื่อเรียกใช้งานโปรแกรม Run
- พิมพ์ลงไปว่า "msinfo32" แล้ว คลิก "ปุ่ม OK"
- หน้าต่าง System Information จะปรากฏขึ้นมา
- ตรวจสอบข้อมูลตรงหัวข้อ BIOS Mode จะระบุว่าเราใช้งาน BIOS ในโหมดไหนอยู่ ซึ่งจะมีอยู่แค่ 2 แบบ คือ "แบบ UEFI" และ "แบบ Legacy"
ทำไมเราถึงควรใช้ UEFI Boot Mode ?
คุณผู้อ่านอาจจะมีคำถามว่า ทำไมเราต้องอยากจะเปลี่ยน BIOS จาก Legacy BIOS Mode ไปเป็น UEFI Boot Mode ด้วยล่ะ ในเมื่อที่ผ่านมามันก็ใช้งานได้ดีตามปกตินี่ ?
อันที่จริงแล้ว BIOS แบบ Legacy BIOS Mode และ UEFI Boot Mode ก็มีรูปแบบการทำงานที่เหมือนกัน คือ เป็นซอฟต์แวร์ที่ฝังอยู่ในชิปบนเมนบอร์ด ทำหน้าที่ควบคุมฮาร์ดแวร์ของระบบคอมพิวเตอร์, ตั้งค่าลำดับการบูต, ปรับความเร็วพัดลม, เปิดปิดไฟ, ตั้งค่านาฬิกาของระบบ รวมไปถึงการปรับแรงดันไฟ และการโอเวอร์คล็อก CPU ได้ด้วย
แต่ UEFI Boot Mode นั้นเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า มันทำงานเหมือนกัน แต่ทำได้ดีกว่า ด้วย UEFI Boot Mode ระบบคอมพิวเตอร์จะบูตได้เร็วขึ้น (อย่างเห็นได้ชัด), รองรับไดร์ฟได้มากกว่า, ระบบอัปเดตที่ง่าย สะดวกกว่าเดิม และทำงานแบบ 64 บิต (Bits) ในขณะที่ Legacy BIOS Boot Mode ทำงานแบบ 16 บิต (Bits) เท่านั้น
กล่าวได้ว่า การเปลี่ยนมาใช้ UEFI Boot Mode เป็นการอัปเกรดนั่นเอง แม้ในคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ๆ ในปัจจุบันจะยังเรียกซอฟต์แวร์ของเมนบอร์ดว่า BIOS เหมือนเดิม แต่ในทางเทคนิคแล้ว มันก็หมายถึง UEFI Boot Mode นั่นเอง
และอีกเหตุผลที่สำคัญ คือ Microsoft ประกาศแล้วว่า คอมพิวเตอร์ที่จะติดตั้ง ระบบปฏิบัติการ Windows 11 จะต้องใช้ UEFI Boot Mode ด้วยเช่นกัน หากคุณมีแผนจะอัปเดตเพื่อใช้งานในอนาคต มันก็เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่ดี
สิ่งที่ควรรู้ก่อนเปลี่ยนจาก Legacy BIOS Mode ให้เป็น UEFI Boot Mode
แม้การแปลงจาก BIOS แบบ Legacy BIOS Mode เป็น UEFI Boot Mode ใน ระบบปฏิบัติการ Windows 10 จะเป็นเรื่องง่าย แต่มันก็มีสิ่งที่ควรรู้ก่อนที่จะเริ่มลงมือแปลงที่อยากแจ้งให้ทราบก่อน คือ
- ในการแปลง Legacy BIOS Boot Mode เป็น UEFI Boot Mode นั้นข้อมูลในไดร์ฟ จะอยู่เหมือนเดิมโดยที่ไม่ได้หายไปไหน แต่เพื่อความปลอดภัย คุณก็ควรสำรองข้อมูลเอาไว้เผื่อเกิดเหตุที่ไม่คาดฝัน
- คุณควรใช้ ระบบปฏิบัติการ Windows เวอร์ชัน v1703 หรือใหม่กว่านั้น ถ้าไม่แน่ใจว่าใช้งานเวอร์ชันอะไรอยู่ สามารถตรวจสอบได้ด้วยการ
- กด "ปุ่ม Windows+r" แล้วพิมพ์ลงไปว่า "winver"
- คลิก "ปุ่ม OK" ที่ "หน้าต่าง About Windows" จะปรากฏขึ้นมา ให้ดูตรงบรรทัดที่สอง
- ไดร์ฟที่คุณจะแปลง (ไดร์ฟที่ติดตั้ง Windows เอาไว้) ไม่ควรถูกแบ่งเอาไว้เกิน 3 พาร์ทิชั่น (Partition) หากมีมากกว่านั้น ให้รวม/ลบ พาร์ทิชั่นที่เกินออก
(อ่านขั้นตอนการทำได้ที่ลิงก์บทความนี้) - หากคุณใช้ BitLocker เข้ารหัสไฟล์ในระบบเอาไว้อยู่ ให้ถอดรหัสออกก่อน และปิดใช้งานคุณสมบัติ BitLocker เอาไว้ด้วย ก่อนที่จะลงมือแปลงจาก Legacy BIOS Boot Mode ไปเป็น UEFI Boot Mode
- หลังจากแปลงเสร็จสิ้นแล้ว คุณอาจจะต้องเข้าไปเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าในเฟิร์มแวร์ของ BIOS ด้วย โดยสามารถดูวิธีตั้งค่าได้จากคู่มือของเมนบอร์ดเลย
วิธีแปลงจาก Legacy BIOS Boot Mode เป็น UEFI Boot Mode
ถ้าคุณอ่านจนเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่ทำในบทความนี้คืออะไร ? และยืนยันที่จะแปลงจาก Legacy BIOS Boot Mode เป็น UEFI Boot Mode ล่ะก็ เชิญอ่านวิธีการทำต่อได้เลยครับ
- ในการแปลง Legacy BIOS Boot Mode ให้เป็น UEFI Boot Mode นั้นเราจะต้องเข้าไปที่เมนู Command Prompt ในหน้า Advanced Options ด้วยการคลิกขวาที่ "ปุ่ม Start" แล้วเลือก "เมนู Shut down or Sign out" จากนั้นให้กด "ปุ่ม Shift" บนคีย์บอร์ดค้างเอาไว้ แล้วค่อยเลือก "เมนู Restart"
- ระบบจะรีบูท โดยเข้าสู่หน้าจอ Advanced Startup ให้เราเข้าไปที่เมนู Troubleshoot → Advanced Options แล้วคลิก "เมนู Command Prompt"
ภาพจาก : https://www.maketecheasier.com/convert-legacy-bios-uefi-windows10/
- ตรวจสอบว่าไดร์ฟที่คุณเลือกสามารถแปลงระบบได้ด้วยการใช้คำสั่ง
mbr2gpt /validate
- ภาพจาก : https://www.maketecheasier.com/convert-legacy-bios-uefi-windows10/
- ถ้าหน้าจอปรากฏคำว่า Validation completed successfully แสดงว่าเราสามารถดำเนินการไปขั้นตอนถัดไปได้เลยครับ แต่ถ้าไม่ผ่าน ให้ลองใช้คำสั่งด้านล่างนี้ดู
"mbr2gpt /validate /allowFullOS" - หากตรวจสอบ (Validate) ผ่านสำเร็จเรียบร้อย ให้เราใช้คำสั่งต่อไปนี้ครับ
"mbr2gpt /convert" - จากนั้น ตัว Windows จะเริ่มทำการแปลงระบบ จัดเตรียมไฟล์ที่จำเป็นสำหรับการบูท UEFI Boot Mode และส่วนประกอบ GPT จากนั้นก็จะอัปเดต Boot Configuration Data ให้กับคอมพิวเตอร์ครับ
- ภาพจาก : https://www.maketecheasier.com/convert-legacy-bios-uefi-windows10/
- เมื่อกระบวนการเสร็จสิ้น ให้เราทำการรีสตาร์ทคอมพิวเตอร์ แล้วเข้าไปตั้งค่า BIOS เลือกเปลี่ยนจาก Legacy BIOS Mode เป็น UEFI Boot Mode (เมนูของเมนบอร์ดแต่ละรุ่นจะแตกต่างกันออกไป โปรดศึกษาคู่มือประกอบ)
- เมื่อเข้าสู่ Windows แล้ว ลองตรวจสอบอีกครั้ง ตามวิธีในหัวข้อ "วิธีตรวจสอบว่า BIOS ที่ใช้งานเป็น Legacy BIOS Boot Mode หรือ UEFI Boot Mode" ที่เราระบุไว้ด้านบน ว่า BIOS Mode ได้เปลี่ยนเป็น UEFI แล้วหรือยัง
เท่านี้ คอมพิวเตอร์ของเราก็จะเปลี่ยนเป็นระบบ UEFI พร้อมรับมือกับการอัปเดตใหม่ ๆ รวมถึงสามารถติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows 11 ที่กำลังจะมาได้แล้วครับ
ความเห็น 0