“ปลาหมอสีคางดำ”ระบาดหนัก ชี้เป็นปลานักล่า กินสัตว์น้ำอื่นเป็นอาหาร ขยายพันธุ์เร็วมาก ต้องรีบกำจัด
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 18 สิงหาคม 2566 นายกองเอกอาวุธ วิเชียรฉาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตร ประมง และตัวแทนภาคเกษตรกร ตลอดจนผู้นำชุมชนในพื้นที่ ที่พบปัญหาการแพร่ระบาดอย่างหนักของปลาหมอสีคางดำ ได้ร่วมกันลงสำรวจและติดตามสถานการณ์การระบาดของปลาหมอสีคางดำในคลองสุนัขหอน อำเภอเมืองสมุทรสาคร กับ คลองยกกระบัตร อำเภอบ้านแพ้ว ซึ่งก็พบว่าทั้งสองคลองนั้น มีปริมาณปลาหมอสีคางดำอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น หากลองใช้แหเหวี่ยงลงไป ก็จะได้แต่ปลาหมอสีคางดำติดขึ้นมา หรืออาจจะมีปลาชนิดอื่นที่อาศัยอยู่ในคลองธรรมชาติที่ยังคงรอดพ้นจากการถูกล่าโดยปลาหมอสีคางดำ ติดขึ้นมาบ้างเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็แทบจะหาไม่เจอกันเลยทีเดียว
นายกองเอกอาวุธ วิเชียรฉาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า สภาพปัญหาที่เกิดจากปลาหมอสีคางดำนี้ มีมาได้ราวๆ 4 ปีแล้ว และเริ่มมีการระบาดหนักขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันกลายเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะการระบาดของปลาหมอสีคางดำนั้น ก่อให้เกิดการทำลายความอุดมสมบูรณ์ต่อสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ โดยปลาหมอสีคางดำจะไปกินตัวอ่อน หรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก ทั้งในบ่อเลี้ยงและในแหล่งน้ำสาธารณะ ตามลักษณะนิสัยคือ ปลาหมอสีคางดำเป็นปลานักล่า จึงกินสัตว์น้ำอื่น ๆ เป็นอาหาร และมีการขยายพันธุ์เร็วมาก
รองผู้ว่าฯ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางหรือยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำนั้น สรุปในภาพรวมเป็นแนวทาง 2 ป. 2 บ. คือ ป.ที่ 1 ได้แก่ แนวทางด้านของการ “ป้องกัน” ก็ได้มีการแนะนำให้เกษตรกร ทำการกรองน้ำที่จะปล่อยลงบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ หรือใช้กากชากำจัดสัตว์ที่ไม่ต้องการก่อนปล่อยสัตว์น้ำที่จะทำการเพาะเลี้ยงลงในบ่อ, ส่วน ป.ที่ 2 ได้แก่ แนวทางด้านการ “ปราบปราม” หรือ “การกำจัด” จะมีทั้งในรูปแบบของ การใช้คนจับ โดยส่งเสริมการจับปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำสาธารณะ เช่น การจัดกิจกรรมแข่งขันจับปลาหมอสี การสนับสนุนเครื่องมือจับปลาชนิดนี้ให้แก่เกษตรกร และ อีกวิธีคือ การใช้สัตว์นักล่าจับปลาหมอสีคางดำ โดยการปล่อยปลากะพงขาวลงในแหล่งน้ำสาธารณะ
ซึ่งปลากะพงขาวจะไปกินปลาหมอสีคางดำ เป็นการกำจัดโดยธรรมชาติ เรียกวิธีนี้ว่า ปลากินปลา หรือ นักล่ากำจัดนักล่า ขณะที่อีก 2 แนวทางที่เหลือนั้น บ.ที่ 1 คือ การ “บริโภค” หรือ นำไปใช้ประโยชน์ โดยภาครัฐจะต้องเข้ามาส่งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชนว่า เมื่อจับปลาหมอสีคางดำขึ้นมาแล้ว จะเอาไปไหน หรือทำอะไรได้บ้าง ซึ่งก็มีทั้งการจับแล้วขายเลยแบบสดๆ เพื่อให้ผู้ซื้อนำไปแปรรูป หรือนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ เป็นต้น,ขายแบบแปรรูป เช่น ปลาแดดเดียว เป็นต้น ,ภาครัฐจัดหาผู้รับซื้อเพิ่มให้แก่ผู้จับปลาหมอสีคางดำ เช่น ขณะนี้ประมงจังหวัดได้ติดต่อเจรจากับผู้ผลิตปลาร้าในจังหวัดภาคอีสาน เพื่อซื้อขายไปทำปลาร้า เป็นต้น
อีกทั้งยังมีการวางแนวทางในระยะกลาง ที่จะของบประมาณเพื่อประกันราคา (ปัจจุบันโรงงานปลาป่นรับซื้อ กก.ละ 4.50-5 บาท) ของปลาหมอสีคางดำอีกด้วย และแนวทางสุดท้าย บ.ที่ 2 คือ การ “บริหารจัดการ” โดยทางจังหวัด จัดตั้งคณะทำงานดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ พร้อมกับ ส่งเสริมให้เกษตรกรจัดตั้งกลุ่มเพื่อให้การดำเนินการทุกยุทธศาสตร์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น รวมกลุ่มกันจับปลา ตั้งจุดรวบรวมขายปลา และการประชาสัมพันธ์ นั่นเอง
นายกองเอกอาวุธ วิเชียรฉาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ยังได้กล่าวเตือนทิ้งท้ายด้วยว่า ปลาหมอสีคางดำนั้น เป็นปลาที่จัดอยู่ในประเภทสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกราน จึงมีกฎหมายห้ามปล่อยลงในแหล่งน้ำสาธารณะ และห้ามเลี้ยงอย่างเด็ดขาด เพราะปลาชนิดนี้จะไปทำลายระบบนิเวศที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เนื่องจากเป็นสัตว์นักล่าและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงเป็นสัตว์ที่ต้องมีการควบคุมการขยายพันธุ์และห้ามเลี้ยง ห้ามปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ นั่นเอง
ทั้งนี้ สำหรับพี่น้องประชาชน หรือพี่น้องเกษตรกร ถ้าพบเห็นการกระทำที่ฝ่าฝืนฯ ดังกล่าวข้างต้นนั้น นอกจากจะต้องช่วยกันตักเตือน หรือแจ้งจับผู้กระทำผิดแล้ว ยังต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกันกำจัดปลาหมอสีคางดำให้หมดไปจากธรรมชาติ ด้วยวิธีการที่ทางภาครัฐได้แนะนำไปแล้วด้วย เพื่อเป็นการช่วยกันระงับหรือยุติการแพร่พันธุ์ และยับยั้งการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ทั้งในแหล่งน้ำสาธารณะ และ แหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร
ความเห็น 0