โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

หรือเราต้องถอยเวลากลับ นักวิทยาศาสตร์เผยเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โลกหมุนเร็วที่สุดในรอบ 60 ปี

The MATTER

อัพเดต 08 ส.ค. 2565 เวลา 09.36 น. • เผยแพร่ 06 ส.ค. 2565 เวลา 06.58 น. • Brief

เราเชื่อกันมาตลอดว่าในหนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง หรือ 86,400 วินาที แต่อันที่จริงนั่นเป็นเพียงระบบสมมติ และมีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อยอยู่เสมอ ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ได้ออกมารายงานว่าวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา เป็นวันที่สั้นที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 หรือโลกหมุนเร็วขึ้นราว 1.59 มิลลิวินาที

“ตั้งแต่ปี 2016 โลกก็เริ่มหมุนเร็วขึ้น” ลีโอนิด โซตอฟ นักวิทยาศาสตร์ที่เพิ่งตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของการหมุนของโลกกล่าว “และปีนี้ (2022) มันก็หมุนเร็วขึ้นกว่าปี 2021 และ 2020” โซตอฟระบุว่า ไม่ใช่ทุกวันสั้นกว่าปกติ แต่แนวโน้มที่เกิดขึ้น อาจทำให้เราต้องปรับนาฬิกาอะตอม (นาฬิกาที่มีความแม่นยำที่สุดในโลก) ถอยหลังลงเล็กน้อย

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โลกเร่งสปีดรอบตัวเอง เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2020 นักวิทยาศาสตร์บันทึกว่าโลกหมุนเร็วขึ้น 1.47 มิลลิวินาที นับเป็นวันที่สั้นที่สุดในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ขณะที่เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา โลกก็หมุนเร็วขึ้น 1.5 มิลลิวินาทีเช่นกัน

นักวิทยาศาสตร์มีข้อมูลว่าปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อการหมุนเร็ว-ช้าของโลก โดยนาซ่า (Nasa) เปิดเผยว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญมีผลกับการหมุนช้าลงของโลกในระดับมิลลิวินาที ขณะที่แผ่นดินไหวเมื่อปี 2004 อันทำให้เกิดสึนามิบริเวณภาคใต้ของไทยส่งผลให้เกิดการเขยื้อนของแผ่นโลก และทำให้โลกหมุนเร็วขึ้นในระดับเกือบ 3 ไมโครวินาที

หรือสรุปได้ว่าอะไรก็ตามที่ส่งผลต่อแกนกลางของโลกจะทำให้โลกหมุนเร็วขึ้น ขณะที่ ปรากฏการณ์ใดก็ตามที่แกนกลางของโลกส่งผลออกไปจะทำให้โลกหมุนช้าลง แต่คำถามที่นักวิทยาศาสตร์ยังตอบไม่ได้คือ ทำไมปรากฎการณ์เหล่านี้ถึงส่งผลต่อการหมุนของโลก?

อย่างที่ทราบกันว่า โลกไม่ได้ใช้เวลาหมุนรอบดวงอาทิตย์ 365 วันตรงเป๊ะ แต่เกินเลยมาอีกประมาณ 1 ใน 4 นั่นเป็นที่มาว่าทำไมทุกๆ 4 ปีเราจะมีวันในรอบปีเพิ่มมาอีกหนึ่งวัน หรือวันที่ 29 ก.พ. ซึ่งปรากฎการณ์แบบนั้นนักวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า ‘ปีอธิกสุรทิน (Leap Year)’

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์คาดว่าถ้าโลกยังคงหมุนเร็วขึ้นด้วยแนวโน้มเช่นนี้ อาจต้องเริ่มถกเถียงกันถึง ‘การลบวินาทีทิ้ง (Negative Leap Second’ เป็นครั้งแรก หรือการถอยหลังเวลาลงระดับวินาทีเพื่อให้สอดคล้องกับเวลาที่แท้จริงของโลก

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีที่มองว่าแนวคิดดังกล่าวเสี่ยงเกินไป และอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้ายมากกว่าผลบวก

อ้างอิง:

https://www.theguardian.com/science/2022/aug/01/midnight-sooner-earth-spins-faster-shortest-day

https://www.cbsnews.com/news/earth-spinning-faster-than-usual-shortest-day-ever/

https://futurism.com/earth-spinning-fast-turn-back-clock

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0