โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

สหรัฐ ตื่นตัว ความมั่นคงทางอาหาร ปรับแผนงาน ห่วงโซ่อุปทาน

MATICHON ONLINE

อัพเดต 07 ก.ค. 2565 เวลา 04.20 น. • เผยแพร่ 07 ก.ค. 2565 เวลา 04.00 น.
3

สหรัฐ ตื่นตัว ความมั่นคงทางอาหาร ปรับแผนงาน ห่วงโซ่อุปทาน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ศึกษาติดตามแผนงานด้านการปฏิรูประบบอาหารและห่วงโซ่อุปทานอาหารของสหรัฐตามนโยบาย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ติดตามเฝ้าระวังนโยบายและมาตรการของต่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าของไทย

โดยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture: USDA) ได้ออกประกาศรายละเอียดกรอบแผนงานการปฏิรูประบบอาหาร (USDA’s Food System Transformation Framework) เพื่อปรับปรุงระบบอาหารของประเทศ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อาหารของสหรัฐ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ผู้ผลิต โดยเฉพาะผู้ผลิตขนาดเล็กและกลาง และชุมชนในชนบท โดยจะช่วยเพิ่มทางเลือกการบริโภค เพิ่มการเข้าถึงอาหาร และสร้างระบบนิเวศตลาดที่ดีขึ้น

กรอบแผนงานการปฏิรูประบบอาหารของสหรัฐสร้างขึ้นจากบทเรียนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้งของสงครามรัสเซียกับยูเครน ที่ส่งผลกระทบให้ห่วงโซ่อุปทานอาหารทั่วโลกเกิดภาวะชะงักงัน ตอกย้ำความสำคัญด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร และปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบอาหารของสหรัฐ ซึ่ง USDA ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้กำหนด 4 เป้าหมาย ภายใต้กรอบแผนงานการปฏิรูประบบอาหาร ได้แก่

1) การสร้างห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ยืดหยุ่นมากขึ้น (Building a more resilient food supply chain) ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีทางเลือกทางการตลาดที่มากขึ้นและดีขึ้น ให้ความสำคัญกับการกระจายฐานการผลิตสู่ชนบท ไม่ให้กระจุกตัวในพื้นที่ไม่กี่แห่ง พร้อมกับการลดมลภาวะจากการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างงานในชนบทด้วย 2) การสร้างระบบอาหารที่ยุติธรรม (Creating a fairer food system) ต่อสู้กับการใช้อำนาจเหนือตลาด ช่วยผู้ผลิตและผู้บริโภคให้มีอำนาจและทางเลือกมากขึ้น โดยส่งเสริมตลาดท้องถิ่น ทั้งนี้ โควิด-19 ทำให้เห็นถึงอันตรายหากระบบอาหารมีผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย

3) การทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาและราคาไม่แพง (Making nutritious food more accessible and affordable) และ 4) การเน้นย้ำความเท่าเทียมของชุมชนเมืองและชุมชนในชนบท (Emphasizing Equity) สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ชุมชนในชนบทหลุดพ้นจากความยากจน

ข้อมูลจาก USDA พบว่า สหรัฐมีการนำเข้าอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีอัตราเติบโตเฉลี่ย (Compound Average Growth Rate: CAGR) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 5.09 ในปี 2564 สหรัฐนำเข้าสินค้าอาหารทั้งสิ้น 166,947 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากปี 2563 คิดเป็นร้อยละ 14.03 สินค้าอาหารที่สหรัฐนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ปลาและหอย 24,199 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลไม้ 22,696 ล้านเหรียญสหรัฐ และผลิตภัณฑ์ที่รับประทานได้อื่นๆ (อาทิ ซอสปรุงรสและซุป น้ำมันหอมระเหย) 18,834 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับไทย ปี 2564 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 34,259.61 ล้านเหรียญสหรัฐ (1.10 ล้านล้านบาท) ขยายตัวจากปี 2563 ร้อยละ 9.23 โดยสหรัฐเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอันดับ 3 ของไทย (รองจากจีน และญี่ปุ่น) มีมูลค่าทั้งสิ้น 3,628.13 ล้านเหรียญสหรัฐ (116,355.30 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 4.27 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปสหรัฐ ได้แก่ ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ (พิกัดศุลกากร 16) ร้อยละ 25.14 ของปรุงแต่งจากพืช (พิกัดศุลกากร 20) ร้อยละ 21.90 และธัญพืช (พิกัดศุลกากร 10) โดยเฉพาะข้าว ร้อยละ 13.75

นอกจากสหรัฐแล้วยังมีอีกหลายประเทศที่มีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านอาหารมากขึ้นและเริ่มคิดที่จะปรับเปลี่ยนแผนงานและนโยบายในการเพิ่มผลผลิตภายในประเทศ และลดการพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ เนปาลวางแผนงานและนโยบายของประเทศในปี 2566 โดยให้ความสำคัญกับภาคการผลิตของประเทศ และสนับสนุนการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า

ขณะที่อียิปต์อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการโครงการต่างๆ ด้านการเกษตร เพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรภายในปี 2573 เพื่อช่วยควบคุมการนำเข้าอาหาร และจัดหาตลาดภายในประเทศที่ยั่งยืนมากขึ้น ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารไทยควรติดตามมาตรการและแนวโน้มของตลาดคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปรับตัวและเตรียมการรับมือกับสถานการณ์การลดการนำเข้าอาหารที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0