โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

รับมือวิกฤตพลังงานรอบใหม่ พิษสหรัฐ-จีน สะเทือนค่าขนส่ง LNG โลก

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 13 ส.ค. 2565 เวลา 01.42 น. • เผยแพร่ 13 ส.ค. 2565 เวลา 01.42 น.
สหรัฐ-จีน

โลจิสติกส์สายเรือผ่านช่องแคบไต้หวันสะเทือนพิษจีน-สหรัฐ “หอการค้าไทยในจีน-นักวิชาการ” เตือนรับมือวิกฤตต้นทุนพลังงานรอบใหม่ ดันต้นทุนขนส่ง-ประกันการเดินทางเรือพุ่ง สินค้ากลุ่มพลังงาน “น้ำมัน-LNG” ราคาขึ้น ด้าน กกพ.รับต้นทุนนำเข้า LNG พุ่ง กระทบค่าเอฟทีงวด 1 ปี’66

นายไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีที่จีนประกาศขยายระยะเวลาในการซ้อมรบต่อไปอีก 1 เดือน ถึงวันที่ 8 กันยายน 2565 โดยเพิ่ม 2 พื้นที่ทางตอนเหนือของไต้หวัน คือ อ่าวป๋อไฮ่ และทะเลเหนือ คาบเกี่ยวกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ขณะที่ไต้หวันก็ประกาศซ้อมรบด้วยเช่นเดียวกัน อาจกลายเป็นประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์ทั้งการขนส่งทางเรือและทางอากาศทั่วโลก

ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

“จากที่ประเมินผลกระทบหลังจบการซ้อมรบในระลอกแรก หลัก ๆ จะกระทบเรื่องโลจิสติกส์ ทั้งทางเรือและทางอากาศ ซึ่งหากสิ้นสุดในวันที่ 7 ผลกระทบก็จะเป็นระยะสั้น แต่เมื่อขยายระยะเวลาไป ยาวนานขึ้นเป็นเดือนก็จะส่งผลกระทบขยายวงมากยิ่งขึ้น จากช่วงที่ผ่านมาที่ได้มีการยกเลิกการขนส่งผู้โดยสารทางด้านเซี่ยเหมินไปแล้ว

ตอนนี้ผลกระทบกับทางภาคธุรกิจ หากการขนย้ายสินค้าต้องอ้อม ไม่สามารถขนส่งผ่านช่องแคบไต้หวันได้ จะใช้เวลาเพิ่มขึ้น 3 วัน ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์เพิ่มประมาณ 10% โดยเฉพาะในเส้นทางเรือที่จะผ่านไปทางเซี่ยงไฮ้ ไต้หวันเป็นแนวเชื่อมกับกวางตุ้ง และช่องแคบไต้หวันเป็นเส้นทางเดินเรือเส้นทางทั้งอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และตะวันออกกลาง”

โดยสินค้าหลักที่จะกระทบมากที่สุด คือ พลังงาน ทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สินค้าที่ต้องใช้เส้นทางเรือ และมีการสต๊อกในปริมาณที่จำกัด ซึ่งหากเปรียบเทียบกันแล้วกลุ่มพลังงานจะกระทบมากกว่าสินค้าเกษตร เพราะหากการส่งสินค้านี้ไม่สามารถผ่านไปได้สต๊อกเก่าหมด อาจทำให้เกิดวิกฤตพลังงานรอบใหม่

อีกด้านหนึ่งคือ ผลกระทบทางอากาศ เครื่องบินต้องเปลี่ยนเส้นทางไปทางตอนเหนือของไต้หวันซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการบินเพิ่มขึ้น 20-30 นาที อาจจะสายเรือ หรือสายการบินประกาศเปลี่ยนตารางการเดินเรือ การบินหรือเลื่อนไฟลต์ไปก่อน ซึ่งจะกระทบต่อการส่งสินค้า

“หากเกิดปัญหาด้านโลจิสติกส์รอบนี้ ในส่วนของไทย ซึ่งเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตค่าระวางเรือและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์มาในปีนี้ ต้องจับตามองการซ้อมรบ ถ้าซ้อม 5-7 วัน ระยะสั้นแต่ถ้านานกว่านั้น 1 เดือน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจะยาวนานกว่านั้น เพราะมีปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ตามมา ค่าพลังงานตอนนี้ของไทยก็สูง หากต้องปรับราคาขึ้นไปอีกก็จะเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้า”

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้การขนส่งผ่านช่องแคบไต้หวันยังสามารถดำเนินการได้ปกติ เพราะจีนได้ยุติการซ้อมรบแล้วทำให้สถานการณ์ยังไม่รุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ยังมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ขนส่งในอนาคตแน่

ทั้งนี้ ขึ้นกับว่าสถานการณ์จากนี้ คือ นโยบายจากจีนแผ่นดินใหญ่ “One China Policy” จะมีความเข้มข้นแค่ไหน ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ช่วงแรกอาจจะทำให้ต้นทุนการประกันความเสี่ยงในการขนส่งสินค้าทางเรือเพิ่มขึ้น เพราะนโยบายทางด้านทหารเปลี่ยนได้ตลอดเวลา การขนส่งทางเรือใช้เวลาหลายวัน ความเสี่ยงระหว่างการเดินทางสูง โดยเฉพาะ 4 ประเทศหลักที่ใช้เส้นทางนี้คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน

“ปัจจุบันนี้สินค้าที่ขนส่งทางทะเลของโลกปีละ 12,000 ล้านตัน หรือ 25 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้มีการขนส่งผ่านช่องแคบไต้หวัน 240 ลำต่อวัน มีจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ 50% ผ่านเส้นทางช่องแคบนี้ และมูลค่าสินค้าที่ส่วนใหญ่ 80% เป็นสินค้าอุตสาหกรรม น้ำมันและก๊าซ เพราะเชื่อมการค้าระหว่างกันของ 4 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี เพื่อขนส่งไประหว่างยุโรปและเอเชีย ดังนั้นผลกระทบต่อต้นทุนสินค้ากลุ่มพลังงานมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นแน่”

ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ในกรณีไต้หวันอาจจะส่งผลต่อราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลก อาจจะปรับตัวสูงขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลต่อการนำเข้า LNG สัญญาจร หรือ LNG Spot ของไทย ที่จะต้องนำเข้ามาใช้ทดแทนก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา

เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าที่จะต้องนำมาคำนวณในสูตรค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวด 1 เดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นจากราคาที่เคยใช้คำนวณในการปรับค่าเอฟทีงวด 4 เดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM หนึ่งใน LNG Shipper ระบุว่า บริษัทมีแผนจะนำเข้า LNG เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุนก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะใช้สำหรับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) เป็นหลัก ทั้งสำหรับโครงการโรงไฟฟ้า SPP ใหม่เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม และโรงไฟฟ้า SPP โรงอื่น หลังจากที่บริษัทได้ลงนามสัญญา Terminal Usage Agreement กับ PTT LNG เป็นที่เรียบร้อยแล้วในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา

 ดร.ฮาราลด์ ลิงค์
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์

การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและประสิทธิภาพสูง การขยายฐานลูกค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และการควบคุมค่าใช้จ่าย จะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานในช่วงเวลาที่เหลือของปี และตลอดช่วง 12 เดือนข้างหน้าของบริษัท

“บริษัทยังได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นของค่าไฟฟ้าตามสูตร (ค่า Ft) ทุก ๆ 4 เดือน โดยในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 กกพ.ได้ประกาศปรับขึ้นอีก 0.6866 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็น 0.9343 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปรับเพิ่มของราคาพลังงานโลก”

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ระบุว่า การปรับค่าไฟฟ้าเอฟทีไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท เนื่องจากสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรม (IUs) ซึ่งคิดราคาขายตามเอฟทีของบริษัทนั้นมีสัดส่วนเพียง 2% หรือ 90 MWe เท่านั้น จากกำลังการผลิตรวมของโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่อง 5,656 MWe

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น