มือ เท้า ชา อาการธรรมดา แต่ส่งสัญญาณอันตรายมากกว่าที่คุณคิด! มือ เท้า ชา เกิดจากสาเหตุใด ชาปลายมือปลายเท้าบ่อยแค่ไหนจึงควรพบแพทย์?
เชื่อว่าหลายคนต้องเคยมีประสบการณ์มือ เท้า ชากันมาบ้างแล้วอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงานท่าเดิมนาน ๆ หน้าคอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือ หรือการนั่งยอง ๆ และมักคิดว่าบีบ ๆ นวด ๆ ปล่อยไว้ก็หายไปเอง เป็นอาการธรรมดาไม่น่ากังวลมากนัก แต่ทราบหรือไม่อาการเหล่านี้น่ากลัวกว่าที่คุณคิด เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของ "โรคปลายประสาทอักเสบ" หากปล่อยให้มีอาการเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เพียงกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่อาจส่งผลร้ายแรงต่อร่างกายในอนาคตได้
อาการมือ เท้า ชา เกิดจากสาเหตุใด?
อาการชาตามมือและเท้าเกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาท หรือการที่เส้นประสาทถูกกดทับในบริเวณต่าง ๆ (compressive neuropathy) สามารถเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะที่ปลายมือและปลายเท้า ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นรับความรู้สึกน้อยลงกว่าปกติ หรือไม่มีความรู้สึกเลย บางคนอาจมีอาการรู้สึกยุบยิบเหมือนมีเข็มทิ่ม โดยสาเหตุเกิดได้หลายปัจจัยทั้งจากร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ
- ขาดวิตามิน B1, B6 และโดยเฉพาะ B12 ซึ่งวิตามินบีช่วยบำรุงและซ่อมแซมระบบประสาทให้ทำงานได้ปกติ หากได้รับวิตามินบีน้อยจะทำให้เส้นประสาทเกิดการอักเสบได้
- การนั่ง หรืออยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ ทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาท
- ผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาเคมีบำบัดหรือฉายรังสี
- ป่วยด้วยโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง รูมาตอยด์ โรคเกาต์ เป็นต้น
- การทำงานที่ต้องใช้ข้อมือทำงานมาก ๆ เป็นเวลานาน เช่น ทำงานบ้าน ทำงานโรงงาน หรือพิมพ์คอมพิวเตอร์
ชาปลายมือปลายเท้า บ่อยแค่ไหนจึงควรพบแพทย์?
หากพบว่ามีอาการชาเป็นเวลานานหรือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจบ่งบอกถึงภาวะอันตรายที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท ควรมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
การรักษาอาการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้า
วิธีการรักษาอาการมือเท้าชาสามารถแบ่งออกได้ 3 วิธี ตามระดับความรุนแรง ดังนี้
- อาการชาไม่รุนแรง : เปลี่ยนอิริยาบถ ท่านั่ง ท่านอน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในท่าเหมาะสม ไม่กดทับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายมากเกินไป หรือเลือกเสริมด้วยวิตามินบีในมื้ออาหารเพิ่มขึ้น
- อาการชารุนแรง และมีอาการต่อเนื่อง : แพทย์จะให้ยาลดอาการปวดที่ปลายเส้นประสาท กลุ่มกาบาเพนตินอยด์ (Gabapentinoids) และรอดูผลการรักษา หากไม่ได้ผลอาจต้องพิจารณาตรวจหาโรคเพิ่มเติม เช่น ตรวจการนำไฟฟ้าของเส้นประสาท หรือตรวจกระดูกคอด้วยเครื่อง MRI
- รักษาอาการชาจากผลพวงจากโรค : หากอาการชามีสาเหตุมาจากผลพวงของโรคประจำตัวที่มีอยู่เดิม อาจใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกันไปตามโรค เช่น เบาหวาน ผู้ป่วยควรคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
เลือกรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง พิชิตอาการมือเท้าชาได้!
- รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 1 เพราะเป็นกลุ่มวิตามินที่สำคัญต่อการบำรุงระบบประสาท เช่น ถั่ว ธัญพืช ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต เป็นต้น
- รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 6 เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไก่ ตับ มันฝรั่ง กล้วย แตงโม ไข่แดง ข้าวกล้อง ถั่วต่างๆ
- รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 เช่น เนื้อแดง ปลา สัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น
- รับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ฝรั่ง ส้ม มะขามป้อม มะละกอสุก บลอกโคลี คะน้า
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลยับยั้งการดูดซึมของวิตามินบี 1 ที่บริเวณลำไส้เล็ก
ถึงแม้อาการมือ เท้า ชา จะเป็นอาการเล็กน้อยและไม่น่ากังวลมากสำหรับบางคน แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคที่รุนแรง ทางที่ดีหากเกิดอาการชาที่มือหรือเท้ามากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของโรคและรับการรักษาอย่างถูกวิธี อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องกัน ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย
ที่มา : นพ. กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลวิมุต
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ติดตามเราได้ที่