โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘แด่ Gump’: การสูญพันธุ์ของจิ้งเหลนภูเขาเกาะคริสต์มาสและชีวิตอันโดดเดี่ยวเดียว

Environman

เผยแพร่ 21 พ.ค. 2565 เวลา 12.46 น.

‘แด่ Gump’: เรื่องราวการสูญพันธุ์ของจิ้งเหลนภูเขาเกาะคริสต์มาส และชีวิตอันโดดเดี่ยวเดียวดายของจิ้งเหลนภูเขาตัวสุดท้ายบนโลก

‘Gump’ เป็นชื่อของจิ้งเหลนภูเขาเกาะคริสต์มาส (Christmas Island forest skink หรือ whiptail skink) เพศเมียตัวสุดท้าย ที่เคยอาศัยอยู่บนเกาะคริสต์มาส เกาะเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่นอกชายฝั่งอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของออสเตรเลีย

ในช่วงปี 1979 นักวิจัยเคยบันทึกไว้ว่า จิ้งเหลนภูเขาเกาะคริสต์มาส เป็นจิ้งเหลนชนิดที่พบได้มากที่สุดบนเกาะ พวกมันมีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร จึงไม่ถือเป็นจิ้งเหลนที่ตัวเล็กหรือตัวใหญ่เกินไป พวกมันมีเกล็ดสีน้ำตาลอมเหลืองปกคลุมอยู่ทั่วลำตัว และเป็นจิ้งเหลนที่ดูคล้ายกับภาพจิ้งเหลนในหัวที่หลาย ๆ คนน่าจะมี

จนถึงช่วงปี 1998 สายพันธุ์ของ Gump ยังคงพบได้ค่อนข้างมากในป่า บางครั้งพวกมันก็จะโผล่ขึ้นมาตามกองใบไม้บนพื้น ครั้งอื่น ๆ พวกมันจะออกมาอาบแดดและหาแมลงกิน สิ่งที่น่าเศร้าใจสำหรับใครก็ตามที่มีโอกาสได้รู้จักกับ Gump คือ ไม่มีใครรู้สาเหตุที่แท้จริงว่าทำไม จำนวนจิ้งเหลนภูเขาเกาะคริสต์มาส และจิ้งเหลนภูเขาชนิดอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่บนเกาะมานานนับหมื่นปี หรือแสนปี ถึงลดลงไปอย่างรวดเร็ว

นักวิจัยคาดว่าการลดลงของจิ้งเหลนเหล่านี้ เกิดจากปัจจัยร่วมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการถางพื้นที่เกาะไปถึง 1 ใน 3 ในช่วงศตวรรษที่ 20 เพื่อเปิดทางให้กับการทำเหมืองแร่ฟอสเฟต รวมถึงการเข้ามาของสัตว์รุกรานต่างถิ่น อย่าง มด (crazy ants) แมวจรจัด และงูปล้องฉนวน ที่หากไม่แย่งอาหารของจิ้งเหลน ก็จะเป็นผู้ล่าจิ้งเหลนซึ่งไม่สามารถปรับตัวได้ทัน เพราะเคยชินกับสภาพแวดล้อมที่มีนักล่าอยู่น้อย

จนกระทั่งในปี 2008 นักวิจัยพบว่าบนเกาะ มีจิ้งเหลนชนิดนี้หลงเหลืออยู่แค่ในพื้นที่เดียวเท่านั้น แม้ว่าในตอนนั้นพวกเขาแทบจะยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมัน แต่เมื่อถึงขั้นวิกฤต นักวิจัยจึงได้จับจิ้งเหลนทุกตัวที่เหลืออยู่มาเร่งขยายพันธุ์ แต่ดูเหมือนว่าจะสายเกินไปเสียแล้ว เพราะจิ้งเหลนสามตัวที่พวกเขาจับได้นั้น เป็นเพศเมียทั้งหมด

อีกหลายปีต่อมา Gump และจิ้งเหลนเพศเมียอีกสองตัว อาศัยอยู่ด้วยกันภายในกรงขนาดใหญ่ จนจิ้งเหลนตัวหนึ่งตายจากไปเพราะความโชคร้ายจากอุบัติเหตุ ส่วนอีกตัวหนึ่งหลบหนีออกจากกรง และเสียชีวิตลงในที่สุด แม้นักอนุรักษ์จะพยายามเสาะหาจิ้งเหลนเพศผู้อยู่หลายครั้ง ทว่าตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ก็ไม่เคยมีใครพบเห็นจิ้งเหลนภูเขาชนิดนี้ในธรรมชาติอีกเลย

นับตั้งแต่นั้น Gump จึงอาศัยอยู่ตัวเดียวภายในกรงที่แม้จะกว้าง ก็ทำให้ John Woinarski นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์จาก Charles Darwin University รู้สึกแปลกทุกครั้งที่ได้เห็น “คุณกำลังมองจิ้งเหลนตัวสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่บนโลกด้วยความรู้สึกที่ว่า เมื่อความตาย ซึ่งไม่มีใครสามารถเลี่ยงได้ มาเยือนมัน นี่คือจุดจบของเส้นทางวิวัฒนาการที่ยาวนาน มันคือบาดแผลแห่งมโนธรรมของพวกเราทุกคน”

หากประชากรจิ้งเหลนไม่ได้ลดลงเร็วขนาดนี้ นักอนุรักษ์ก็อาจยังมีหวัง หากสัตว์เล็ก ๆ เหล่านี้ได้รับความสนใจเหมือนกับสัตว์อื่น ๆ อย่าง หมีหรือเสือ ที่ดูน่ารักน่าเอ็นดู (charismatic species) พวกเขาก็อาจจะพอช่วยมันได้ทัน “มนุษย์นั้นลำเอียง แม้ว่าเราจะไม่ควรก็ตาม เพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็มีสิทธิที่จะได้ดำรงอยู่” Woinarski กล่าว

ดังที่ Woinarski คิดไว้ ไม่นาน ‘Gump’ จิ้งเหลนภูเขาเกาะคริสต์มาสตัวสุดท้าย ที่อาศัยอยู่ท่ามกลางความเงียบเชียบและความเดียวดาย ก็ได้จากไปในเดือนพฤษภาคม ปี 2014 หลังจากที่ออสเตรเลียเพิ่งจะขึ้นทะเบียนจิ้งเหลนชนิดนี้ เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น อีก 3 ปีต่อมาทาง IUCN ก็ได้ประกาศให้จิ้งเหลนภูเขาเกาะคริสต์มาส เป็นสัตว์สูญพันธุ์แล้ว อย่างเป็นทางการ

ที่มา

https://www.theguardian.com/…/christmas-island-forest…

ขอบคุณภาพจาก: Parks Australia

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0