ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เปิดผลสุ่มตรวจ "หมึกกรอบ" ทั่วกทม.-ปริมณฑล พบปนเปื้อนฟอร์มาลินถึง 57% แนะวิธีลดความเสี่ยงจากหมึกกรอบแช่ฟอร์มาลิน
หมึกกรอบ อาหารทะเลที่หลายคนชอบรับประทานเพราะรสชาตินุ่ม กรุบกรอบ พบในเมนูอาหารหลายแบบทั้ง เย็นตาโฟ ยำหมึกกรอบ ผัดใส่ไข่ และอีกสารพัด แต่ตอนนี้หากรับประทานต้องระวังกันให้มากขึ้นอีกสักนิด เพราะหมึกกรอบเป็นอาหารทะเลที่มีการปนเปื้อนฟอร์มาลินสูงมาก
ในปี 2563 กรมอนามัย ได้เก็บตัวอย่างอาหารทะเลกว่า 14,046 ตรวจวิเคราะห์พบตัวอย่างปนเปื้อน ฟอร์มาลิน กว่า 705 ตัวอย่าง พบมากที่สุดคือ ในปลาหมึกกรอบ ถึง 31.35% รองลงมาคือ ปลาหมึก 2.36% แมงกะพรุน 1.55% และกุ้ง 0.14% ตามลำดับ
ช่วงเมษายน ปี 2566 ที่ผ่านมา ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มวิเคราะห์ หมึกกรอบ 14 ตัวอย่างสุ่มเก็บจาก ตลาดสด 8 แห่ง, ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง, และ ร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ครอบคลุมทั่วในเขตกรุงเทพและปริมณฑล
จากการส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน พบว่าเกินกว่าครึ่งของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ หรือกว่า 57% ปนเปื้อนฟอร์มาลิน ตัวอย่างที่ปนเปื้อนมากที่สุดคือตัวอย่างที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์
สรุปผลการทดสอบ
จาก หมึกกรอบ จำนวน 14 ตัวอย่าง พบปนเปื้อนฟอร์มาลิน 8 ตัวอย่าง คิดเป็น 57.14% โดยปริมาณฟอร์มาลินสูงสุด 3 อันดับแรก คือ
1) 1576.63 มก./กก. จากตัวอย่างที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ ในแพลตฟอร์ม SHOPEE ร้าน PPN seafood wishing
2) 1238.63 มก./กก. จากตัวอย่างตลาด อตก. กรุงเทพฯ ร้านคุณจอย ไข่สด
3) 1072.17 มก./กก. จากตัวอย่างตลาด ปากน้ำ สมุทรปราการ ร้าน หญิง & เต๋อ
พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือ ฟอร์มาลินห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ฟอร์มาลินมีอันตรายต่อร่างกายหลายระดับ หากสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง ทำให้เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้ หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวได้
หากกินอาหารที่ปนเปื้อน ฟอร์มาลิน เข้าไปในปริมาณมาก อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว
วิธีลดความเสี่ยงจากหมึกกรอบแช่ฟอร์มาลิน
1. ไม่ซื้อหมึกกรอบที่มีกลิ่นฉุน แสบจมูก
2. ล้างให้สะอาดก่อนรับประทานด้วยการแช่น้ำนาน 5-10 นาทีแล้วล้างซ้ำด้วยน้ำอีกสองถึงสามครั้งหรืออาจแช่ด้วยน้ำที่ละลายด่างทับทิมเจือจาง (ในอัตราส่วน ด่างทับทิมประมาณ 20 เกล็ด ผสมน้ำ 4-5 ลิตร) ประมาณ 5-10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ
3. กรณีกินในร้านอาหารควรรับประทานในปริมาณไม่มาก หรือเลือกร้านที่มีการทำความสะอาดอาหารอย่างดีก่อนนำมาเสิร์ฟลูกค้า
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ความเห็น 5
คนไทยเลยเป็นมะเร็งกันเยอะ
24 มิ.ย. 2566 เวลา 15.59 น.
🦄W.Thita Pholsree598
เราไม่เคยกินเลย..แต่เห็นเพื่อนกิน ,,เวลาตักใส่จาน น้ำที่ติดมา จะเป็นสีชมพู,,
24 มิ.ย. 2566 เวลา 14.03 น.
Jamkad BSK.
กรรมคนกิน
24 มิ.ย. 2566 เวลา 13.28 น.
Kampol
มันแช่ฟอร์มาลิน
ตายผ่อนส่ง
24 มิ.ย. 2566 เวลา 08.39 น.
โอ๊ต539🥁
ร้านชื่อขัด
24 มิ.ย. 2566 เวลา 11.31 น.
ดูทั้งหมด