โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ผู้ชายใส่กระโปรง “คิลต์” ยูนิฟอร์มสุด Cute จากสกอตแลนด์ สู่ยุคแห่งการแต่งกายไร้เพศ

นิตยสารคิด

อัพเดต 05 มิ.ย. 2566 เวลา 20.53 น. • เผยแพร่ 05 มิ.ย. 2566 เวลา 20.53 น.
kilt-cover
kilt-cover

หากเอ่ยถึงชุดแต่งกายประจำวันประเภท “กระโปรง” แทบทุกคนต่างเข้าใจได้ว่า นี่คือชุดแต่งกายที่ถูกสร้างสรรค์มาเพื่อให้สุภาพสตรีสวมใส่ในชีวิตประจำวัน ขณะที่การแต่งกายท่อนล่างของผู้ชายมักจะเป็นกางเกง จนเกิดเป็นแบบแผนมาตรฐานทั่วไปคือ ผู้หญิงใส่กระโปรง ผู้ชายสวมกางเกง

แต่ก็มีบ้างในบางวัฒนธรรมอย่างการนุ่งกระโปรง “คิลต์” (Kilt) ของผู้ชายชาวสกอตแลนด์ ซึ่งมีเอกลักษณ์ตรงลายผ้า “ทาร์ทัน” (Tartan) ลักษณะเป็นแถบแนวตั้งและแนวนอนตัดกันคล้ายตารางหมากรุก มีหลายสีโดยเฉพาะแดง เขียว ดำ ที่คนไทยเรียกติดปากว่า “ลายสกอต” นั่นเอง

pexels-lewis-ashton-11219302.jpg

Lewis Ashton / Pexels

คิลต์คืออะไร
“Kilt” ตามความหมายของพจนานุกรม Merriam-Webster ระบุว่าคือ เครื่องแต่งกายแบบกระโปรงพับจีบ เนื้อผ้าทาร์ทัน ยาวคลุมเข่า สวมใส่โดยผู้ชายและหน่วยทหารสกอตของกองทัพอังกฤษ ขณะที่พจนานุกรม Cambridge ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้หญิงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็สวมใส่ได้ด้วยเช่นกัน

เมื่อแรกเริ่มตามประวัติศาสตร์ที่ได้ถูกบันทึกในช่วงศตวรรษที่ 16 ระบุว่า คิลต์คือเครื่องแต่งกายของผู้ชายสำหรับห่มไว้รอบตัว โดยมาจากชุดของผู้คนบนที่ราบสูง หรือชาวไฮแลนเดอร์ รวมถึงทหารชาวสกอตในพื้นที่ราบสูง (Scottish Highlands) ที่ได้เรียกเครื่องแต่งกายนี้ด้วยคำของชาวนอร์สโบราณว่า “kjalta” รวมถึงในภาษาเกลิค (Gaelic) เรียกว่า “fèileadh beag” ซึ่งหมายถึง คิลต์แบบสั้น โดยพัฒนามาจากชุดคิลต์แบบเต็มตัวคือ “Breacan an Fhéilidh” หรือ “Féileadh Mòr”

จนกาลเวลาผ่านมาถึงช่วงศตวรรษที่ 17 ชาวนอร์สโบราณและชาวไฮแลนเดอร์บางส่วนเริ่มแยกตัวไปกระจายอยู่ในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย แต่ยังคงทิ้งหลักฐานคำใกล้เคียงที่สอดคล้องกับคิลต์อย่าง “kjilt” ที่เป็นภาษาของชาวนอร์เวย์และสวีเดนในปัจจุบัน ซึ่งถูกแปลเป็นไทยแล้วหมายถึง “กระโปรงสั้น”

pexels-reginaldo-g-martins-3744460.jpg

Reginaldo G Martins / Pexels

ทำไมผู้ชายสกอตแลนด์ถึงนุ่งคิลต์
ย้อนกลับไปศตวรรษที่ 16 ในยุคสมัยชาวไฮแลนเดอร์ยังคงเดินเท้าเปล่าอาศัยอยู่บนพื้นที่ราบสูงในดินแดนสกอตแลนด์ คิลต์แบบเต็มตัวคือชุดแต่งกายจากผ้าทาร์ทันของผู้ชายที่ตัดเย็บขึ้นมาจากความเป็นอยู่ในสภาพอากาศหนาวเย็น โดยมีบันทึกว่า หากพบสภาพอากาศเลวร้าย ชาวไฮแลนเดอร์จะจุ่มผ้าลงในน้ำเพื่อทำให้เกิดการเคลือบน้ำแข็งบางๆ ให้ยึดเกาะผ้าแล้วลงนอนลงในนั้น โดยให้คิลต์แบบเต็มตัวเป็นเสมือนถุงนอน หรือเต็นท์ ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้ผ้าขนสัตว์พองตัวเพิ่มความอบอุ่น ปกป้องจากอากาศเย็น รวมถึงลมหนาวได้มากขึ้น สำหรับวันที่อากาศปกติ คิลต์ยังเป็นเครื่องแต่งกายที่สวมใส่สบาย โดยลวดลายและสีของคิลต์จะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ และคิลต์แบบสั้นก็มักใช้ในการเดินทางเพื่อเพิ่มความคล่องตัว หรือแม้แต่ด้านการสงคราม

กระทั่งยุคศตวรรษที่ 17 หลังจากที่สกอตแลนด์และอังกฤษมีประมุขร่วมกันมานาน 100 ปี (นับตั้งแต่การรวมราชบัลลังก์ในปี 1603 ในสมัยพระเจ้าเจมส์ที่ 6 ที่ครองราชบัลลังก์อังกฤษต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1) สกอตแลนด์ก็ถูกผนวกรวมกับราชอาณาจักรอังกฤษกลายเป็นราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ (Kingdom of Great Britain) ตามพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 (Acts of Union 1707) ทำให้ภาพของผู้ชายนุ่งคิลต์เพื่อช่วยการสงครามจะหมายถึงทหารสกอตของกองทัพอังกฤษ

melody-ayres-griffiths-f5I4LiF83zA-unsplash.jpg

Melody Ayres-Griffiths / Unsplash

อย่างไรก็ตาม ในปี 1746 ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ก็ได้ออกพระราชบัญญัติการแต่งกาย (Dress Act 1746) ระบุให้การแต่งตัวแบบที่ราบสูงรวมทั้งคิลต์เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย (ยกเว้นกองทหารสกอต) โดยจะถูกลงโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 7 ปี เพื่อพยายามทำลายวัฒนธรรมที่ราบสูง และมีผลบังคับใช้ถึง 35 ปีก่อนจะถูกยกเลิกในปี 1782 จากแรงต่อต้านของชาวไฮแลนเดอร์ รวมถึงชาวสกอตแลนด์จำนวนมากที่ยังคงสวมใส่คิลต์ในชีวิตประจำวัน กระทั่งในปี 1822 คิลต์ก็ได้กลายเป็นเครื่องหมายของสกอตแลนด์หลังจากที่ชาวสกอตได้พยายามประยุกต์การแต่งกายด้วยเสื้อผ้าตามประเพณีโบราณ และมีการรื้อฟื้นการใช้ลักษณะลวดลายทาร์ทันมาเป็นเครื่องหมายประจำตระกูล ขณะที่ประมุขของประเทศขณะนั้น คือสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 (1762-1830) ก็ฉลองพระองค์ด้วยคิลต์อย่างหรูหรา และต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (1819-1901) ก็ทรงให้บรรดามหาดเล็กแต่งกายด้วยคิลต์ จนทำให้เครื่องแต่งกายชิ้นนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น

จวบจนปัจจุบัน คิลต์กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ชาวสกอตแลนด์ภาคภูมิใจ และเป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์ประจำชาติของสกอตแลนด์ (Scottish national identity) โดยสามารถพบเห็นการสวมใส่คิลต์ได้ในหลากหลายโอกาส เช่น งานรัฐพิธี งานสมรส งานพรอม (Prom) และเทศกาลงานสำคัญต่าง ๆ

man-7567324.jpg

HANSUAN FABREGAS / Pixabay

แต่งหญิงแต่งชายในวันที่แต่งอะไรก็ได้ที่ใช่ตัวเอง
นอกจากการเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ คิลต์ยังเป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อแสดงถึง “ตัวตน” ของชนชาติสกอตแลนด์ และเมื่อนำมาเชื่อมโยงกับผู้คนในยุคปัจจุบันที่เปิดรับความหลากหลายมากขึ้นทั้งในด้านรสนิยม เพศสภาพ หรือแฟชั่นเครื่องแต่งกาย ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า การที่ผู้ชายจะนุ่งกระโปรงนั้นไม่ได้หมายถึงเขาต้องเป็นเพศทางเลือก แต่มันคือการเล่นสนุกกับแฟชั่นที่มาพร้อมกับการทลายกรอบความคิดที่ว่าผู้ชายต้องใส่แต่กางเกงเท่านั้น

ยกตัวอย่างเดวิด เบคแฮม ที่เคยสร้างความฮือฮาไปทั่วโลกจากการสวมเครื่องแต่งกายท่อนล่างคล้ายกระโปรงคิลต์จากคอลเล็กชันการออกแบบของ ชอง ปอล โกลติเยร์ เพื่อไปร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1998 หรือศิลปินดนตรีกรันจ์อย่าง เคิร์ต โคเบน แห่งวง Nirvana ก็สวมเสื้อผ้าผู้หญิงขึ้นแสดงคอนเสิร์ตหลายต่อหลายครั้ง ภาพลักษณ์เหล่านี้นับเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ต่อโลกแฟชั่นบุรุษจนนำมาสู่เทรนด์การออกแบบ “กระโปรง” ที่สวมใส่ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ไปจนถึงกระแสแฟชั่นที่เป็นกลางทางเพศ (Androgynous Fashion) และเทรนด์ “แคมป์” (Camp) หรือการแต่งตัวข้ามเพศ รวมถึง “ผู้ชายแต่งหญิง” ที่มาแรงในปัจจุบัน

umair-rizwan-1Frtn3uWxDI-unsplash.jpg

Umair Rizwan / Unsplash

เทรนด์แฟชั่นที่ได้รับการพูดถึงกันมากที่สุดในปีที่แล้วคือ “ผู้ชายนุ่งกระโปรง” ซึ่งว่ากันว่าโลกเรามาถึงจุดเปลี่ยนจากความคาดหวังของสังคมส่วนใหญ่ที่ผู้ชายต้องแต่งกายให้ “ดูแมน” เพื่อสะท้อนถึง “ความเป็นชาย” และเพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้หญิง มาเป็นการตอบสนองความพึงพอใจของตนเอง ทั้งยังเป็นการประกาศย้ำชัดว่า ผู้ชายนุ่งกระโปรงคือเรื่องปกติ ดังเช่น แบรต พิตต์ ที่สวมกระโปรงลินินสีน้ำตาลเดินสู่พรมแดงเพื่อเข้าร่วมงานฉายภาพยนตร์ Bullet Train ในรอบปฐมทัศน์ที่กรุงปารีส เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (พิตต์ยังเคยสวมเดรสรัดรูปขึ้นปกนิตยสาร Rolling Stone มาแล้วในปี 1999) ขณะที่ ลิล นาส เอกซ์ แรปเปอร์และนักแต่งเพลงชาวอเมริกันก็มักจะแย่งชิงพื้นที่ข่าวด้วยการ “แต่งหญิง” โดยมีลุกสวมเสื้อครอปและมินิสเกิร์ตสีชมพูเมทัลลิกเป็นภาพจำแรก ๆ เมื่อถูกกล่าวถึง เช่นเดียวกับ เจเดน สมิธ นักแสดงและแรปเปอร์คนดัง บุตรของวิลล์ สมิธ ที่เป็นหนึ่งในไอคอนของเหล่า LGBTQ+ ซึ่งก็ปรากฏตัวในชุดเดรสหรือนุ่งกระโปรงบ่อยครั้ง หรืออย่างแมทธิว ฮีลีย์ นักร้องนำของวงอินดี้ร็อก The 1975 ที่ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้ปลุกกระแสการแต่งตัวแบบหลากหลายโดยไม่กำหนดเพศ เช่น การสวมกระโปรงพลิ้วลายดอก ทำเล็บ ทาอายแชโดว์และลิปสติก เป็นต้น

ในทางกลับกัน ผู้หญิงเองก็ไม่จำเป็นต้องแต่งกายตามความคาดหวังของสังคมที่จะต้องแต่งกายตามเพศกำเนิด แต่สามารถนำเอาชุดผู้ชายมาสวมใส่หรือมิกซ์แอนด์แมทช์ได้โดยไม่ต้องรู้สึกแปลกแยก

“เราควรเลิกพูดถึงการแบ่งเสื้อผ้าเป็นของผู้หญิงกับผู้ชาย เพราะถ้าเราก้าวข้ามผ่านจุดนั้นมาได้ เราก็จะได้สนุกกันมันจริง ๆ” แฮร์รี สไตลล์ นักร้องนักแต่งเพลงชาวอังกฤษที่ชื่นชอบการสวมกระโปรง ชุดเดรส และเครื่องประดับผู้หญิง กล่าวกับนิตยสาร Vogue ในปี 2020 จากมุมมองที่ว่า เสื้อผ้าผู้หญิงที่สวยงามไม่ควรจะถูกแบ่งแยกว่าควรเป็นของเพศไหน และการแต่งตัวนั้นก็ไม่ควรยึดโยงกับรสนิยมทางเพศ แต่เราควรได้เป็นตัวของตัวเองและสนุกกับมันมากกว่า

tartan-day-6017319.jpg

james5050smith / Pixabay

ขณะเดียวกัน จากการสำรวจผู้บริโภค Gen Z ของเว็บไซต์ UNiDAYS ในสหราชอาณาจักร ก็ได้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่ก้าวหน้าทางการตลาดต่อเสื้อผ้าที่ไม่ระบุเพศ เช่น 26% จากจำนวน Gen Z ที่ได้ตอบแบบสอบถามรวม 4,000 คน เชื่อว่า การติดฉลากผลิตภัณฑ์ตามเพศนั้นไม่ครอบคลุม โดยมีจำนวนเกินกว่าครึ่ง (61%) เห็นว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นที่เป็นกระแสหลักได้มองข้ามคนกลุ่มน้อยซึ่งรวมถึงผู้ที่ไม่ต้องการระบุเพศสภาพ (Non-bidary) และคนข้ามเพศ (Transgender) ไป และมากถึง 87% มีความเชื่อมั่นอย่างสูงว่า ความเท่าเทียมทางเพศจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นโดยจะถูกนำเสนอในเทรนด์แฟชั่นด้วย ขณะที่ 46% ของนักเรียนนักศึกษา Gen Z ในสหราชอาณาจักร ต้องการเห็นผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายโดยไม่มีการแบ่งแยกเพศมากขึ้น

edward-howell-M6DjrqB9ElE-unsplash.jpg

Edward Howell / Unsplash

เมื่อพลังสังคมกำลังขับเคลื่อนไปสู่การยอมรับในความหลากหลายทางเพศ พร้อม ๆ กับการที่บรรดาเซเล็บฯ ชายขึ้นมาเป็นผู้นำเทรนด์ใหม่ ในขณะที่บรรดาคนรุ่นใหม่ต่างก็ถามหาผลิตภัณฑ์ที่ไม่แบ่งแยกเพศกันอย่างคึกคัก แน่นอนว่า เราคงจะได้เห็นผู้ชายนุ่งกระโปรงในชีวิตประจำวัน นอกเหนือไปจากบนรันเวย์มากขึ้น และประโยคที่ว่า “อย่าตัดสินหนังสือจากเพียงหน้าปก” ก็จะเป็นคำกล่าวที่นำมาใช้ได้กับการแต่งกายของผู้คนในปัจจุบัน ที่ไม่ว่าจะหญิงหรือชายก็จะลุกขึ้นมาแต่งตัวด้วยความสุขโดยปราศจากข้อผูกมัดทางเพศและกรอบกั้นการตัดสินใด ๆ จากสังคมรอบตัว

ที่มา : บทความ “WHY DO SCOTTISH MEN WEAR KILTS?” จาก www.scotland.com
บทความ “WHAT IS THE DIFFERENCE BETWEEN A KILT AND A SKIRT?” โดย Coy Galloway จาก www.kiltrentalusa.com
บทความ “WHAT IS TARTAN?” จาก www.scottishtartansmuseum.org
บทความ “1746 – Highland Dress Proscription Act” จาก www.scotclans.com
บทความ “Gen Z Fashion Report shows 65% want ‘gender neutral’ search option online” โดย Camilla Rydzek จาก www.theindustry.fashion
บทความ “มานุษยวิทยา: รากฐานทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของสก็อตแลนด์คิลต์” จาก www.yoair.com/th
บทความ “แฟชั่นขัดใจแม่!?! เมื่อ ‘กระโปรงสำหรับผู้ชาย’ ท้าทายสายตาและการเปิดใจ” โดย Khanakon Phettrakul จาก https://ellementhailand.com
บทความ “ประวัติของคิลต์” จาก https://th.wikipedia.org
บทความ “นิยาม Androgynous Fashion การแต่งตัวที่ ‘ไม่บ่งบอก ไม่แปะป้าย’ ว่าหญิงหรือชาย” จาก www.ili-co.me
บทความ “ผู้ชายแต่งหญิง” ความเชื่อใหม่ในมุมมองแฟชั่นยุคปัจจุบัน โดย Pop Kampol จาก www.gqthailand.com
บทความ “เปิดสไตล์และมุมมองจากเหล่าเซเลบริตี้ผู้เป็นต้นแบบแฟชั่น ‘ผู้ชายก็ใส่กระโปรงได้นะ’” โดย วราภรณ์ หงส์วรางกูร จาก www.vogue.co.th
บทความ “Androgynous Fashion ผู้ชายใส่กระโปรงเป็นเรื่องธรรมดาจ้ะ” จาก www.ili-co.me
เว็บไซต์ merriam-webster.com

เรื่อง : บุญพัทธ ลีวิวัฒกฤต

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0