เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่อาคารหอประชุมจังหวัดพัทลุง อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วย นางมะลิ วงศ์กระพันธุ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพัทลุง เป็นประธานพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้กับ นายอำเภอ ประธานแม่บ้านมหาดไทย ทุกอำเภอ และกลุ่มทอผ้าจังหวัดพัทลุง โดยผ้าพระราชทานลายดังกล่าว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ท่านทรงมีพระเมตตาพระราชทาน ผ่านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อมอบให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปใช้ทอผ้าผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่ง “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” พระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานแก่ราษฎร อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย โดยในลวดลายผ้าแต่ละลวดลายแฝงไปด้วยความหมายที่มีความลึกซึ้ง แสดงถึงความตั้งพระทัยมั่นในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน
โอกาสนี้นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เปิดกรวยถวายเครื่องราชสักการะเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และกล่าวสำนึกในพระมหากรุณา โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติบำเพ็ญพระกรณียกิจนานัปการ เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ พื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทย ทรงพระราชทานลายผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่พสกนิกรชาวไทย อันเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถในการออกแบบ โดยได้พระราชทานพระอนุญาตให้ กรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” อีกทั้งยังทรงพระราชทานลายผ้าบาติก 3 ลาย “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” “ท้องทะเลไทย” และ “ป่าแดนใต้” ที่พระองค์ได้แรงบันดาลพระทัยจากการเสด็จไปทอดพระเนตรงานศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นในภาคใต้ เพื่อพระราชทานให้กับช่างฝีมือบาติก เป็นของขวัญตอบแทนมิตรภาพและความจริงใจที่ประชาชนชาวภาคใต้มอบให้กับพระองค์ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยเรื่องราวและความหมายชวนประทับใจ เป็นการยกระดับผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืนเปรียบดังแสงสว่างแห่งวิถีความงดงามของอัตลักษณ์ไทยส่งผ่านไปสู่พี่น้องประชาชน นำทางให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก อันเป็นพลังที่จะสืบสานความเป็นไทยให้คงอยู่สืบไป
จากนั้นนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วย นางมะลิ วงศ์กระพันธุ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพัทลุง เชิญลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” เพื่อมอบให้กลุ่มเป้าหมายผ่านนายอำเภอและประธานแม่บ้านมหาดไทย/ นายกกิ่งกาชาดหรือผู้แทน ทั้ง 11 อำเภอ ในจังหวัดพัทลุง ซึ่งมีกลุ่มผู้ผลิต/กลุ่มทอผ้าจังหวัดพัทลุง จำนวนทั้งสิ้น 28 กลุ่ม/ราย
ในการนี้นายเสรี จิตรเวช พัฒนาการจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด แขกผู้มีเกียรติพัฒนาการอำเภอทุกอำเภอ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดพัทลุง ได้เยี่ยมชมการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพและมีพระเมตตาต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ ตลอดจนได้นำกลุ่มทอผ้าจังหวัดพัทลุง 3 ประเภทได้แก่ 1. ผ้าทอ 2. ผ้าบาติก 3. ผ้ามัดย้อม มาจัดแสดงและจำหน่ายผ้าลายอัตลักษณ์และผ้าลายพระราชทาน ” ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ” เพื่อให้กลุ่มนำไปพัฒนาต่อยอดพัฒนาผ้าไทย ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชน เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน นอกจากผ้าที่นำมาจัดนิทรรศการแล้ว ยังมีกระจูดที่นำลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณวรี มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ สร้างความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สวยงามอย่างมากสร้างความน่าสนใจแก่ผู้พบเห็นและสั่งซื้อจำนวนมาก
นับเป็นความปลาบปลื้มของพสกนิกรของชาวจังหวัดพัทลุง อย่างหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงมีพระเมตตา ตลอดจนทรงเป็นแบบอย่างให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเสื้อผ้าไทยให้ทันสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส อันเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ก่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
ความเห็น 0