โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รัชกาลที่ 7 ทรงจัดการค่าใช้จ่ายอย่างไรขณะประทับที่อังกฤษ ช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 26 มี.ค. เวลา 09.35 น. • เผยแพร่ 17 มี.ค. เวลา 04.17 น.
Cover Photo King Rama 7 and the Queen
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เสด็จพระราชดำเนินยังประเทศอังกฤษ เพื่อทรงรักษาพระเนตรเมื่อ พ.ศ. 2477 และหลังจากทรงสละราชสมบัติในปีถัดมา พระองค์ก็ยังคงประทับ ณ ประเทศอังกฤษ โดยมีข้าราชบริพารคอยดูแลพระองค์ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2482 สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ปะทุขึ้น แล้วช่วงนั้น รัชกาลที่ 7 ทรงจัดการค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง

คุณหญิงมณี สิริวรสาร อดีตพระสุณิสาในรัชกาลที่ 7 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลานั้นด้วย บันทึกว่า ใน พ.ศ. 2482 รัชกาลที่ 7 ทรงได้รับความกระทบกระเทือนพระราชหฤทัยจากข่าวที่ไม่เป็นมงคลจากกรุงเทพฯ อยู่ตลอดเวลา และยังคงต้องทรงรับภาระหนักหน่วงในการที่ต้องประทับอยู่ในประเทศที่อาจมีสงครามเกิดขึ้น

แม้พระโรคจะแสดงอาการมากขึ้น ทว่าพระองค์มิได้ทรงแสดงความสะทกสะท้านแต่อย่างใด ทรงจัดเตรียมและวางแผนการระยะยาวให้ทุกคนที่อยู่ในอุปการะได้มีชีวิตอย่างสุขสบายได้ต่อไปในอนาคต

รัชกาลที่ 7 ทรงจัดการค่าใช้จ่ายช่วงนั้นอย่างไรบ้าง

พ.ศ. 2482 รัชกาลที่ 7 ทรงรวบรวมเงินทั้งหมดที่ทรงมีอยู่ รวมทั้งทรงขายเครื่องประดับมรกตที่ทรงได้รับพระราชทานจากพระบรมราชชนก คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งมีราคาสูงมาก ทรงขายของอื่นๆ บางชิ้น และทรงนำเงินที่รวบรวมได้ทั้งหมดจัดเป็นทรัสต์ขึ้น เพื่อใช้ดอกผลในการใช้จ่าย

นอกจากนี้ ทรงปิด พระตำหนักเวน คอร์ต (Vane Court) ในเมืองเคนท์ ซึ่งประทับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2480 และเมื่อถึง พ.ศ. 2482 ทรงย้ายไปประทับ ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน เฮาส์ (Compton House) ตั้งอยู่บนเนื้อที่ราว 6 ไร่ ในเวอร์จิเนีย วอเตอร์ (Virginia Water) ทางตะวันตกของเมืองเคนท์ นับว่ามีขนาดเล็กสุดในบรรดาพระตำหนักที่เคยประทับ อีกทั้งทรงเลิกเช่าแฟลตที่ อีตัน เฮาส์ (Eaton House) ในกรุงลอนดอน เป็นการประหยัดรายจ่ายได้มาก

รถยนต์พระที่นั่งที่มีหลายคัน รัชกาลที่ 7 ก็ทรงขายทั้งหมด เหลือเพียงโรลส์-รอยซ์ ไว้ทรงใช้เพียงคันเดียวเท่านั้น และทรงปลดคนขับรถชาวตะวันตก ซึ่งกินเงินเดือนสูงมากออกไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

รัชกาลที่ 7 ทรงจัดการค่าใช้จ่ายเรื่องข้าราชบริพาร โดยทรงตัดบางคนที่ติดตามมารับใช้ที่เมืองนอกด้วยความจงรักภักดี และรับสั่งให้เตรียมตัวกลับกรุงเทพฯ ทันที เช่น

คุณรองสนิท โชติกเสถียร และภรรยา เนื่องจากมีลูกสาวซึ่งยังอยู่ในวัยเยาว์ที่เมืองไทย

หม่อมเจ้าอัชฌา จักรพันธุ์ (พระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุพงษ์จักรพรรดิ์ กับหม่อมลำไย) ที่ทรงอยู่ในความอุปถัมภ์ของรัชกาลที่ 7 ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และช่วงนั้นทรงใกล้สำเร็จการศึกษาจากรอยัล คอลเลจ ออฟ ไซเอนซ์ (Royal College of Science) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (Imperial College London)

ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีเพียง หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ (พระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุพงษ์จักรพรรดิ์ กับหม่อมโป๊) และชายา คือ หม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณี จักรพันธุ์ (พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์) เท่านั้น และมีพ่อครัวไทย 1 คน รวมถึงข้าหลวงหญิงรับใช้และช่วยในครัวอีก 1 คน

หม่อมเจ้าการวิก ที่ขณะนั้นพระชันษา 22-23 ปี ทรงรับหน้าที่เป็นสารถีขับรถพระที่นั่ง ซึ่งหม่อมเจ้าการวิกก็ทรงพอพระทัย เพราะโปรดการขับรถอยู่แล้ว และยังได้ไปเรียนวิชาเกี่ยวกับเครื่องยนต์และวิธีรักษาเครื่องยนต์ของรถโรลส์-รอยซ์ ที่โรงงานด้วย หากเครื่องยนต์ขัดข้องจะได้ดูแลปรับปรุงอย่างถูกต้อง

ส่วน หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน หรือ “ท่านชิ้น” พระเชษฐาต่างพระมารดาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และ หม่อมเสมอ กับธิดาอีก 2 คนอยู่คนละบ้าน แต่ก็ถือว่าอยู่ในความอุปถัมภ์ดูแลของพระองค์ด้วย (ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านชิ้นซึ่งอยู่ที่อังกฤษ มีบทบาทเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นที่เคลื่อนทัพเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้รับการยอมรับและได้รับการยกให้เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในอังกฤษ)

“สมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงรับสถานการณ์วิกฤตทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนั้น ด้วยพระราชหฤทัยที่เข้มแข็งมั่นคงและทรงตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างด้วยพระทัยที่เชื่อมั่นและเด็ดขาด ทรงพระราชดำริในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวแก่ผู้ที่ทรงโปรดปรานและเป็นห่วงตลอดจนเรื่องทรัพย์สินเงินทอง และความเป็นอยู่ของทุกๆ คน ด้วยความรอบคอบ และทรงมีพระปรีชาญาณสามารถเตรียมการไว้ทุกสิ่งทุกอย่างมิให้มีใครต้องเดือดร้อนกังวลใจ พระองค์ทรงเป็นผู้นำที่ดีเลิศ และทรงจัดการทุกเรื่องอย่างเด็ดขาดเพียงพระองค์เดียว ทรงเป็นเจ้าชีวิตของพวกเราทุกคน” คุณหญิงมณี ถ่ายทอดไว้ใน “ชีวิตเหมือนฝัน” หนังสืออัตชีวประวัติของตน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

รัชกาลที่ 7 ทรงจัดการค่าใช้จ่ายด้วยความรัดกุม ทรงดำรงพระชนมชีพด้วยความเข้มแข็ง แม้ช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 จะทรงพระประชวรด้วยพระโรคที่ทรงมีอยู่ กระทั่งวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระองค์ได้เสด็จสวรรคต ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน เฮาส์ ด้วยโรคพระหทัยวาย ขณะพระชนมายุ 48 พรรษา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

คุณหญิงมณี สิริวรสาร. ชีวิตเหมือนฝัน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984).

ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล, เรียบเรียง. “ที่ประทับในประเทศอังกฤษตามลำดับและพระราชกรณียกิจ”.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มีนาคม 2568

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : รัชกาลที่ 7 ทรงจัดการค่าใช้จ่ายอย่างไรขณะประทับที่อังกฤษ ช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com