“คูเมือง-กำแพงเมือง” คืออะไร สำคัญไฉน?
ช่วงนี้ เพลงที่กำลังมาแรงคงไม่พ้น“ตีหนึ่งที่คูเมือง” ของ “ILLSLICK” ที่แม้จะเพิ่งปล่อยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 ทาง YouTube แต่ก็กวาดยอดวิวไปแล้วถึง 17 ล้านวิว (นับถึงวันที่ 12 มีนาคม 2568) เพลงนี้ไม่ได้มีดีแค่ทำนองและเนื้อร้องเท่านั้น แต่ยังคว้า “พั้นรักแมว” อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังมาเป็นนางเอก MV จึงทำให้เพลงนี้ดังเป็นพลุแตกขึ้นไปอีก
บทความนี้จึงอยากพาทุกคนมารู้จัก “คูเมือง” ที่ปรากฏในเนื้อเพลง ว่าคืออะไร สำคัญไฉน ทำไมหลายจังหวัดมี?
“คูเมือง” เป็นสิ่งสำคัญที่มีอยู่ในหลายชุมชน มักสร้างขึ้นด้วยการขุดดินขึ้นรอบหรือขนานไปกับ“กำแพงเมือง” โดยให้ต่อเนื่องไปกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือทางน้ำ เพื่อให้น้ำไหลเข้ามาในคูเมืองและมีน้ำในคูตลอดเวลา อาจสร้างไว้ด้านนอกกำแพงเมือง ด้านใน หรือทั้งสองด้านก็ได้
คูเมือง มีประโยชน์มากมาย ตั้งแต่ทำให้ชุมชนมีน้ำใช้ทั้งบริโภค อุปโภค การเกษตร การเดินทาง ทั้งยังช่วยป้องกันข้าศึกไม่ให้เข้ามารุกรานอีกด้วย
ส่วนกำแพงเมืองเป็นสิ่งที่สร้างด้วยดิน อิฐเป็นแกน แล้วถมทั้ง 2 ด้านด้วยดิน เพื่อให้หนาขึ้นและมีความมั่นคง มีไว้เพื่อแสดงขอบเขตของชุมชน และป้องกันคนที่เข้ามารุกรานเช่นเดียวกับคูเมือง
“คูเมือง-กำแพงเมือง” หลายคนยังเรียกกันว่า“คูน้ำ-คันดิน” แม้จะคล้ายกัน แต่ก็มีความต่างกันในแง่กฎหมาย คือ คูเมืองและกำแพงเมือง เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ไม่มีใครครอบครองได้ แม้จะถูกทำลายไปแล้ว ก็ยังเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ยังคงอยู่ตลอดไป แต่คูน้ำหรือคันดิน สามารถรื้อถอนหรือเลิกใช้เมื่อหมดความจำเป็น สามารถหมดสภาพความเป็นสาธารณประโยชน์ได้
อย่างไรก็ตามคูคันดินที่ว่า ในชุมชนโบราณสามารถแบ่งออกได้ 2 แบบ คือ
1. กลุ่มรูปแบบที่ไม่ขึ้นกับลักษณะภูมิประเทศ คือลักษณะไม่สัมพันธ์กับภูมิประเทศ ส่วนใหญ่อยู่บริเวณที่ราบ มีการระบายน้ำมากักเก็บไว้ในคู เชื่อมโยงกับน้ำภายนอก ไม่ว่าจะเป็นน้ำทางธรรมชาติหรือคูคลองที่ขุดขึ้น มีหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบอิสระ วงกลม วงรี มุมมน มุมเหลี่ยม มุมหลายเหลี่ยม เป็นต้น
2. กลุ่มรูปแบบที่ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ คือมีรูปร่างเป็นไปตามภูมิประเทศ ที่ขุดคันดินล้อมรอบ มีลักษณะเป็นเนินสูงกว่าพื้นที่รอบข้างคูคันดิน กลุ่มนี้แบ่งได้ 3 รูปแบบ คือ รูปแบบขุดล้อมรอบตีนเนิน มักพบในภาคอีสาน รูปแบบขุดล้อมบนเนิน และรูปแบบขุดล้อมรอบทั้งบนเนินและที่ราบ
ปัจจุบันประเทศไทยยังมีคูเมือง-กำแพงเมืองอยู่มากมาย ถ้าคุ้นหูกันหน่อยก็คงจะเป็น “คูเมือง-กำแพงเมือง” ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่หลายคนชอบไปถ่ายรูปเช็กอินกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- นครเชียงใหม่โบราณไม่ได้มีเฉพาะแค่เวียงในคูเมืองเท่านั้น!
- “เวียงกุมกาม” ถึง “นครพิงค์เชียงใหม่” กรณีศึกษาสร้างเมืองแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง
- คลองหลอด คลองคูเมืองสมัยกรุงธนบุรี ทำไมถึงเรียก “คลองหลอด”?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม ๓ ค้างคาวกินกล้วย, เพลง – จิตรกรรมกระบวนจีน. สยามเพรส: กรุงเทพฯ, 2542.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มีนาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “คูเมือง-กำแพงเมือง” คืออะไร สำคัญไฉน?
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com