คลังประเมินผลกระทบ นโยบาย Trump 2.0 โดยมาตรการกีดกันทางการค้าอาจทำให้สินค้าจีนทะลักเข้าไทยมากขึ้น กระทบความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย แต่มองเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก การลงทุน และการท่องเที่ยว พร้อมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการรับมือ
22 ม.ค. 2568 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ทำการประเมินผลกระทบ จากกรณีที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ สมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมาไว้แล้ว
“ไม่ใช่แค่นโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เท่านั้น แต่ไม่ว่าว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ หน่วยงานของไทยก็ต้องทำการประเมินผลกระทบและเตรียมพร้อมในการปรับตัว และหาโอกาสที่จะได้ประโยชน์ให้กับประเทศไทยให้มากที่สุด เราไม่ได้มองด้วยความเป็นห่วง ความระแวง หรือความกลัว แต่ทุกกระทรวงต่างต้องทำการประเมิน เตรียมพร้อม และประสานงานกัน คงไม่ถึงขั้นต้องตั้งวอร์รูม ขณะที่ในส่วนของรัฐมนตรีของกระทรวงการคลังทั้ง 3 คน ก็ต้องมานั่งคุยกันว่าจะหาทางปรับตัวได้อย่างไร”
โดยนโยบายสำคัญที่ต้องหารือเพื่อรับมือกับผลกระทบคือนโยบายด้านการค้า เช่น มาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าในบางประเทศ อาทิ แคนาดา เม็กซิโก และจีน โดยส่วนของไทยยังไม่อยู่ในรายชื่อประเทศที่จะถูกขึ้นภาษี ทั้งนี้รัฐบาลไทยได้เตรียมตั้งทีมเพื่อเจรจาเรื่องการค้ากับสหรัฐไว้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังสินค้าบางรายการที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการด้านภาษี รวมทั้งการรับมือกับปัญหาสินค้าจากต่างประเทศ เช่น สินค้าจีน ที่จะทะลักเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นจากมาตรการกีดกันทางการค้าซึ่งจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
โดยปัจจุบันได้มีมาตรการในการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากสินค้านำเข้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท รวมถึงการตรวจเข้มมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เป็นต้น ทั้งนี้ต้องคำนึงด้วยว่าต้องไม่กระทบกับข้อตกลงทางการค้าของไทยกับต่างประเทศด้วย
“เรายังไม่ได้มีมาตรการอะไรออกมาเป็นพิเศษ เรื่องนี้ต้องใช้เวลาศึกษาให้รอบคอบ เพราะบางมาตรการอาจมีผลกระทบในเชิงลบกับเรื่องอื่นด้วย ตอนนี้มาตรการ กลไกต่าง ๆ เรามีเพียงพออยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะปรับในรายละเอียดหรือไม่อย่างไร”
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้คาดการณ์ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายภายใต้รัฐบาลทรัมป์ 2.0 ว่าอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานโลก การค้า และเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย
สำหรับด้านการส่งออก นโยบายกีดกันทางการค้าและการเพิ่มภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้าเกษตร
ขณะเดียวกัน การที่สหรัฐฯ เพิ่มภาษีสินค้าจากจีน อาจทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้าจากไทยลดลงและมีความเป็นไปได้สูงที่จีนอาจระบายสินค้าสู่ตลาดเอเชียรวมถึงไทย ทำให้สินค้าของไทยอาจเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มยานยนต์ เคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง และสิ่งทอ
ทั้งนี้ แนวทางการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน สามารถทำได้โดย
1. มุ่งเน้นการกระจายตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้า รวมทั้งการขยายการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป (EU) และสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) รวมทั้งการปรับภาคการผลิตโดยมุ่งเน้นสินค้ามูลค่าสูงและซับซ้อน เช่น ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนสมาร์ทโฟน สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร พลังงานสะอาด เป็นต้น เพื่อเพิ่มอุปสงค์ในตลาดโลก พร้อมทั้งมีแผนพัฒนาแรงงานและส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้ไทยขยายการส่งออกสินค้าทดแทนจากจีนสู่ตลาดสหรัฐฯ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เหล็กและอลูมิเนียม ผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าเกษตร เป็นต้น ซึ่งไทยมีศักยภาพในการขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ และตอบสนองความต้องการของตลาดที่กำลังปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานโลก
2. เร่งรัดการลงทุน นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากสหรัฐฯ ในไทยไม่มาก โดยการลงทุนจากสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 18.3% ของเงินลงทุนต่างประเทศทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การเพิ่มกำแพงภาษีสินค้านำเข้าในสหรัฐฯ อาจกระตุ้นการย้ายฐานการผลิตจากประเทศต่าง ๆ มายังไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไทย ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า ศูนย์ข้อมูล (Data Center) เป็นต้น
นอกจากนี้ การพัฒนาแรงงานเฉพาะด้านและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ เป็นต้น รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน เช่น การลดขั้นตอนการอนุมัติและการสร้างสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด จะช่วยเสริมสร้างความได้เปรียบในการดึงดูดการลงทุนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ
3. ส่งเสริมการท่องเที่ยว ผลกระทบจากนโยบายของสหรัฐฯ ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ มีสัดส่วนเพียง 2.9% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในปี 2567 โดยนักท่องเที่ยวหลักที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมาจากจีน ญี่ปุ่น และยุโรป อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจกระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ ให้เดินทางมายังไทยมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ระบบชำระเงินดิจิทัล การยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบินและระบบขนส่ง รวมถึงการบูรณาการการส่งเสริมการลงทุนในภาคการท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น เครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากตลาดสำคัญและเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับทั้งนักลงทุนและนักท่องเที่ยว ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว
ทั้งนี้ สศค. จะติดตามการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์อย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมรับมือและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมั่นใจว่าการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในปัจจุบันและการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมาตรการการคลัง จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย