ยุงบนโลกนี้มีหลากหลายสายพันธุ์ แต่มี 2 สายพันธุ์เท่านั้นที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสไข้เลือดออก นั่นก็คือ ยุงลายบ้านและยุงลายสวน
แต่ไม่ใช่ยุงทุกชนิดที่จะเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ซึ่งยุงแต่ละชนิดก็มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน โดยยุงลายจะนิยมวางไข่ในน้ำขังที่ค่อนข้างสะอาด จึงไม่แปลกที่เราจะพบยุงลายวางไข่ภายในบ้าน
ด้วยเหตุนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้คิดค้น นวัตกรรมลีโอแทรป กับดัก ดักจับไข่ยุงลาย เพื่อป้องกันการเติบโตและแพร่เชื้อตั้งแต่แหล่งกำเนิด โดยใช้สารจากหอยลายมาเป็นตัวล่อให้ยุงวางไข่ จากนั้นจึงใส่สารกำจัดลูกน้ำในกับดัก เพื่อกำจัดลูกน้ำทั้งหมดที่ฟักออกมา โดยยุงลายตัวเมีย 1 ตัวสามารถวางไข่ได้ประมาณ 500 ฟอง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ได้มีการทดลองวางกับดัก LeO-Trap ในบ้านจำนวน 36 หลังคาเรือน พบว่าสามารถลดค่าดัชนีความชุกชุมของยุงลายต่อบ้าน เหลือเพียงร้อยละ 13.9 จากร้อยละ 50 ก่อนดำเนินการ ภายในระยะเวลา 4 วัน เทียบเท่ากับการลดประชากรยุงลายได้ประมาณ 400,000 ตัวต่อ 1 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ยังนับไข่ยุงลายที่ดักได้จากกับดักทั้งหมดประมาณ 4,000 ฟอง แสดงให้เห็นว่ากับดักดังกล่าวจะสามารถลดจำนวนยุงลายในอีก 4 สัปดาห์หลังจากวางกับดักได้ประมาณ 1 ล้านตัว ลดลงได้มากกว่าการจัดการด้วยวิธีทางกายภาพและสารเคมีประมาณ 2.5 เท่า