โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

คริปโทเคอร์เรนซี 101 การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (6)

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 05 พ.ค. 2561 เวลา 05.21 น.
edi05030561p1

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย www.lawreform.go.th

ในปัจจุบันได้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset) รูปแบบ cryptocurrency (เรียกกันว่าเงินดิจิทัล เงินเสมือน หรือเงินคริปโท) และ digital token (เหรียญโทเคน โทเคนดิจิทัล หรือดิจิทัลโทเคน) ซึ่งเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องดำเนินการผ่านกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์อันมีความซับซ้อนมาใช้ในการประกอบธุรกิจและกระทำกิจกรรมทางการเงินและเศรษฐกิจอย่างแพร่หลายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไป หรือแม้กระทั่งผู้ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเอง ยังขาดความรู้ความเข้าใจในหลักการและการดำเนินการของสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนและความเสียหายต่อทรัพย์สินส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจได้

สินทรัพย์ดิจิทัลไม่มีลักษณะทางกายภาพ ธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดจะกระทำผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และประมวลผล เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและยืนยันการทำธุรกรรมนั้น ๆ ด้วยคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่เชื่อมโยงกันในเครือข่าย

วิธีการบันทึกผลแบบกระจายส่วนนี้ (distributed ledger) ต่างจากระบบการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคารพาณิชย์หรือผู้ให้บริการทางการเงินอื่นที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นการรวมศูนย์ข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์ (server) โดยมีหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรับผิดชอบการบริหารจัดการข้อมูลดังกล่าว

ในขณะนี้มีสินทรัพย์ดิจิทัล 2 ประเภทที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งที่ใช้เพื่อการเก็งกำไร การแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการและการระดมทุน กล่าวคือ cryptocurrency ซึ่งมีราคาหรือมูลค่าซึ่งถือเอาได้ และใช้เป็นสื่อกลางเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคล เช่น bitcoin, ether, ripple หรือ litecoin และ digital token ซึ่งเป็นหน่วยแสดงสิทธิในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการ เช่น JFIN Coin หรือ Tuk Tuk Pass-A เป็นต้น

การประกอบธุรกิจ-ทำธุรกรรมโดยที่ cryptocurrency และ digital token แต่ละชนิดมีความแตกต่างกันในสิทธิ หน้าที่และผลประโยชน์ที่ผู้ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ๆ พึงได้รับ ประกอบกับกระแสและความเชื่อในระดับราคาซื้อขายของสินทรัพย์ดิจิทัลบางชนิดที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเริ่มมีผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะให้บริการและอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างผู้ระดมทุน ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล และประชาชนทั่วไปอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยอาจสรุปโครงสร้างการประกอบธุรกิจและการทำธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยได้ดังนี้

ประเภทของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เปิดดำเนินการเป็นประเภทแรกในประเทศไทยคือ ธุรกิจผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency dealer) ให้บริการรับซื้อและขาย cryptocurrency โดยหากำไรจากส่วนต่างของราคาซื้อและราคาขายเป็นหลัก (อาจมีการเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการด้วยก็ได้) ในลักษณะเดียวกับผู้ค้าเงินตราต่างประเทศ (Forex dealer) ในประเทศไทยมีผู้ค้า cryptocurrency รายใหญ่ 2 รายคือ Coins.co.th และ Bitcoin.co.th

ทั้ง 2 รายให้บริการซื้อขาย cryptocurrency ชนิด bitcoin เป็นหลัก และมีบริการโอนเงินเข้าและออกจากบัญชีธนาคารของลูกค้าไปสู่กระเป๋าเงินดิจิทัล (digital wallet) ของผู้ให้บริการซึ่งมีทั้งลูกค้าชาวไทยและต่างประเทศสมัครเป็นสมาชิกและมีบัญชีซื้อขายส่วนตัวรวมกันกว่า 1 ล้านบัญชี โดยจุดประสงค์หลักของการใช้บริการเพื่อการโอนเงินข้ามประเทศได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการโอนเงินผ่านธนาคารพาณิชย์

โครงสร้างระบบการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ที่ประสงค์จะถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการลงทุนมักนำเงินบาทมาแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น cryptocurrency หรือ digital token จากศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (electronic trading platform) ซึ่งให้การอำนวยความสะดวกในการจับคู่ผู้ที่ต้องการซื้อและผู้ที่ต้องการขายสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดเดียวกัน โดยเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการเป็นการค้าปกติ ในลักษณะเทียบเคียงได้กับตลาดหลักทรัพย์ (stock exchange) แม้ว่าในปัจจุบัน นักลงทุนเป็นผู้ส่งคำสั่งซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ด้วยตัวเอง

แต่แนวโน้มของการพัฒนาตลาดซื้อขายสินทรัพย์ลำดับรองบ่งชี้ว่า ในอนาคตอาจมีธุรกิจประเภทนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset broker) ให้บริการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนเพื่อซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ผู้อื่นด้วย

สำหรับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยมีอยู่หลายราย แต่มี 2 รายหลักที่ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศคือ Bx.in.th และ Tdax.com โดยมีปริมาณซื้อขายรวมรายวันประมาณ 150 ล้านบาท และ 50 ล้านบาทตามลำดับ

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

คริปโทเคอร์เรนซี 101 ผลกระทบสังคม-เศรษฐกิจ (5)