COVID-19 หรือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นโรคติดต่อร้ายแรงของระบบทางเดินหายใจในมนุษย์ ซึ่งกำลังระบาดในวงกว้างทุกพื้นที่ทั่วโลกจนองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ยกระดับให้เป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่เรียกว่า Pandemic disease ปัจจุบันโรคดังกล่าวได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปกว่า 366,000 ราย และมีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 6 ล้านคน และยังไม่มีแนวโน้มที่ความรุนแรงของโรคจะลดลง ซึ่งโรค COVID-19 จะติดต่อเฉพาะจากคนสู่คนเท่านั้น ยังไม่มีรายงานการติดต่อจากสัตว์หรือเนื้อสัตว์ไปสู่คน นอกจากนี้ การปรุงสุกอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่อุณหภูมิ 56 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที หรือ อุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15 นาที ก็สามารถฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 ที่อาจปนเปื้อนมากับเนื้อสัตว์ได้
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยอาหาร โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสัตว์ ที่จำหน่ายทั้งภายในและส่งออกต่างประเทศ ได้ติดตามสถานการณ์และดำเนินมาตรการรองรับการระบาดโรคโควิดในอุตสาหกรรมอาหารดังกล่าวตั้งแต่แรก อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการรายงานสถานการณ์ผู้ป่วยพบเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่พบการรายงานผู้ป่วยติดเชื้อครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบรายงานการติดเชื้อในบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นในระดับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงเชือด และโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ซึ่งกรมปศุสัตว์ ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการมีความเข้มงวดในการป้องกันโรคโควิดในโรงงาน โดยมุ่งเน้น 3 ด้านได้แก่ คน สถานที่ผลิต และสินค้า ดังนี้
มาตรการแรก เกี่ยวข้องกับคนหรือผู้ที่ต้องสัมผัสอาหาร จะต้องเฝ้าระวังสุขภาพของตนเอง ปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคล (Personal hygiene) เช่น การล้างมือ การสวมใส่ชุดปฏิบัติงานด้านอาหาร การรักษาความสะอาด ดูแลประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อก่อนเข้าปฏิบัติงาน และการวัดอุณหภูมิร่างกาย หากเจ็บป่วยต้องไม่เข้าสู่ไลน์การผลิตอาหาร โดยเฉพาะผู้ป่วยหรือต้องสงสัยติดโรคโควิด ให้หยุดงานและเข้ากระบวนการรักษาตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขโดยทันที นอกจากนี้ สถานประกอบการอาหาร ต้องควบคุมพนักงานเพื่อหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม และรักษาระยะห่างทางสังคม รวมถึงการแบ่งแยกกะและอาคารการผลิตตามความเหมาะสม ทั้งพนักงานในไลน์การผลิตและหน่วยงานสนับสนุนของโรงงาน
มาตรการที่สอง ด้านสถานที่ผลิต ให้รักษาความสะอาดเรียบร้อยตามหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice: GMP) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ประยุกต์ใช้กับสถานประกอบการอาหาร โดยมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช่ในการผลิตด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ในไลน์การผลิต ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อไวรัสโควิด ร่วมกับการควบคุมกระบวนการผลิต โดยเฉพาะจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (Critical Control Point: CCP) ซึ่งมีผลต่อการลดหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ เช่น ขั้นตอนการล้างซากในโรงฆ่าสัตว์ หรือขั้นตอนการให้ความร้อนเพื่อปรุงสุกในโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ เป็นต้น และกำหนดแผนดำเนินการรองรับในกรณีที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อในโรงงาน
มาตรการที่สาม เกี่ยวกับสินค้า ให้ตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยอาหารอย่างเข้มงวด ตั้งแต่การรับวัตถุดิบ การเตรียมวัตถุดิบ การแปรรูป การเก็บรักษา และการขนส่งสินค้าเพื่อป้องกันการปนเปื้อน ตลอดจนพัฒนาระบบการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดในสินค้า เพื่อเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยอาหารและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค รวมถึงการออกหนังสือรับรองเนื้อสัตว์และหนังสือรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกทางการค้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยยังไม่พบการนำประเด็นโรค COVID-19 มาเป็นเงื่อนไขด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยด้านอาหารในการค้าระดับสากล
“ปัจจุบันสินค้าปศุสัตว์ของประเทศไทย ได้รับการยอมรับในระดับสากลด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีปริมาณการนำเข้าจากประเทศไทยในแต่ละปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 120,000 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าราว 200,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นในทุกปี จนวันนี้ไทยก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ประเภทเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ไปตลาดสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นอันดับ 1 ของโลก อันเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศและเกษตรกรในภาคส่วนอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยของสินค้าปศุสัตว์ และมั่นใจว่าเราทุกคนจะสามารถฝ่าวิกฤต COVID-19 ไปด้วยกัน”อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว
ความเห็น 0