ช่วงเพิ่งเริ่มฝึกงานเป็นนักจิตบำบัดที่อเมริกาแรกๆ มีคนไข้อยู่คนหนึ่ง บุคลิกเขาเป็นคนร่าเริง มีอัธยาศัยดี แต่เขาจะเป็นคนพูดน้อย ไม่ใช่พูดเป็นต่อยหอยแบบเรา
หลายครั้งในห้องบำบัด เขาจะค่อยๆ พูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างช้าๆ มากไปกว่านั้น เขาตั้งใจร้อยเรียงคำพูดของเขามาก และเขามักจะเงียบ เพื่อทบทวนความรู้สึกตัวเอง และหาถ้อยคำที่ใช่ที่สุดกับความรู้สึกที่เขามี เพื่อถ่ายทอดออกมาให้เรารับรู้
.
.
.
อึดอัด
แค่ไม่กี่วินาทีของความเงียบจากคนไข้ของเรา
เราอึดอัดและเริ่มเลิ่กลั่กอยู่ไม่สุข
หลายครั้ง เราแก้ปัญหาความเงียบ ด้วยการเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของเราเอง เผื่อเขาจะออกความเห็นอะไรขึ้นมาที่เกี่ยวกับเรื่องราวของเขา หรือไม่ก็คิดคำถามอะไรขึ้นมาได้ก็ถามๆ ไปก่อน ขอให้ได้ทำลายความเงียบนั้น และเกือบทุกครั้ง เราสังเกตเห็นเขาสะดุ้งเบาๆ เหมือนทำเขาหลุดจากสิ่งที่เขากำลังโฟกัสในหัวอยู่
ผลก็คือ ความคืบหน้าของชั่วโมงนั้น ไม่ได้มีอะไรลึกซึ้งขึ้นเท่าที่ควรหรอก เพราะเราไม่ได้ให้เวลาตัวเองใคร่ครวญถึงวิธีเข้าหาเขาที่ใช่ที่สุด และเราก็ไม่ให้เวลาเขา ไตร่ตรองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างถี่ถ้วน หากเราไม่รู้สึกสบายใจกับความเงียบในห้องนั้น แล้วคนไข้ของเราจะเชื่อใจในความเงียบที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ว่ามันคือ ‘ภาวะปลอดภัย’
.
.
.
‘มะเฟือง ลองหยุด แล้วใช้เวลาที่หยุดนั้น คิดดูว่าจะทำอะไรต่อ’
เพื่อนเราที่เป็นนักแสดงเล่าให้เราฟังถึงเทคนิคใหม่ที่เธอเรียนมา
การหยุด –เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายในชั่วขณะนั้น และเพื่อให้มีเวลาฉุกคิดตัวเองได้ทัน ว่าจะกระทำอะไรออกไปในอึดใจที่กำลังจะถึง
‘เราก็จะได้มีเวลาคิดว่าจะแสดงแบบเดิมเหมือนที่เคยทำเพราะความเคยชิน หรือจะลองเปลี่ยนการตอบสนองเป็นวิธีอื่น’
การหยุด –ช่วยสมองและจิตใจของเราแบ่งพื้นที่ให้ความคิดสร้างสรรค์ได้เข้ามา แทนที่จะใช้ชีวิตไปตามความเคยชินแบบไม่ต้องคิดอะไร และยังสร้างพื้นที่ให้ความผ่อนคลาย
‘สังเกตไหมว่า ดาราดังๆ เล่นบทที่เครียดมากๆ ร้องไห้หนักๆ ได้เพราะร่างกายและจิตใจเขาผ่อนคลาย ไม่งั้นถ้าไม่หยุดพักบ้างเลย มันก็จะแข็งทื่อ น้ำตาน่ะ ไหลไม่ออกหรอก’
.
.
.
ในคลาสโยคะของเรา
ครูเคยให้นั่งสมาธิแบบหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นหายใจนับหนึ่งถึงสาม ผ่อนลมหายใจออกให้สุดแล้วกลั้นหายใจนับหนึ่งถึงสาม
เห้ย ตอนที่นั่งสมาธิอยู่กับลมหายใจเข้า-ออก เราก็ว่ามันช่างเป็นการอยู่กับปัจจุบันแบบสุดๆ แล้วนะ พอได้กลั้นหายใจแค่ชั่วขณะ มันดิ่งไปในห้วงปัจจุบันได้ลึกซึ้งขึ้นไปอีก
‘ชีวิตของเรา ควรมีสมดุลในทางร่างกาย-ความคิด-จิตวิญญาณ ยิ่งเราโตขึ้นเรื่อยๆ ความคิดมักจะเอาชนะทุกอย่าง ควบคุมร่างกายเราไปอีก แล้วยังทำให้ห้วงจิตวิญญาณของเราแผ่วลงๆ การ ‘เงียบและหยุดพัก’ นี้ ดึงเรากลับมาสู่ตัวตนในปัจจุบัน ไม่ใช่การเพ้อถึงอดีต หรือพะวงสู่อนาคต’
.
.
.
เราสามารถนำศิลปะของ ‘ความเงียบและการหยุดพัก’ แทรกซึมไปในกิจกรรมหลายอย่างระหว่างวันหรือแม้กระทั่งก่อนนอน
เมื่อคนโทรศัพท์เข้ามา ลองหายใจลึกๆ หนึ่งเฮือกก่อนรับ? เมื่อกำลังจะอาบน้ำ ลองยืนนิ่งๆ จ้องตาตัวเองในกระจกสักพักก่อนเปิดน้ำซู่ใส่ตัวเอง? มีใครมีวิธีอื่นอยากเสนออีกไหม?
ติดตามบทความใหม่จากเพจ Beautiful Madness by Mafuang ได้ทุกวันอังคารบน LINE TODAY
ความเห็น 9
Yong
พลังแห่งความเงียบหมายถึงจิตอยู่ในความว่างว่างจากความคิดเป็นเพราะการฝึกหัดอบรมจิตให้เป็นสมาธิตามแนวองค์ฌานคือละวิตกวิจารณ์ปิติิิิสุขออกไปจนเหลือแต่อุเบกขาเอกกคตาเรียกว่ามีอารมณ์อันเดียวหรือจิตหนึ่งคือพุทธะเป็นจิตผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานประกอบด้วยสติอันบริบูรณ์และอุเบกขาอันบริสุทธิ์เป็นจิตที่ดีงามและมีพลังเป็นจิตที่เบาสบายคล่องแคล่วคู่ควรแก่การทำงานและใช้พิจารณาให้เกิดปัญญาเพื่อให้รู้เห็นสิ่งต่างๆถูกต้องตรงตามความเป็นจริงเรียกว่าเกิดญาณทัศนะก็เพราะจิตหนึ่งนี้เอง
28 ม.ค. 2563 เวลา 11.49 น.
ในขีวิตจริง
เราใช้ความเงียบ
ในการพักผ่อน
เวลาที่เราอยู่กับ
ความเงียบคนเดียว
มันทำให้ใจและความรู้สึก
ของเราดีขึ้นผ่อนคลาย
ความกดดันจากงานได้ดี
แต่ถ้าเรานั่งสมาธิแรกๆ
เรานิ่งจนมันดิ่ง แต่มันก็แค่
เรากดทับอารมณ์ให้นิ่งเท่านั้น
แต่ ณ ตอนนี้นั่งสมาธิแล้ว
ปล่อยวางจนรู้สึกว่ามันเบา
ค่อยๆพิจารณาที่ละส่วน
ค่อยๆดูลมหายใจ
จนปล่อยวางบางส่วนได้
เวลาออกสมาธิก็รู้สึกดี
ผ่อนคลายได้มาก
ยอมรับชอบความเงียบ
และอยู่กับตัวเองมันทำให้
เราได้คิดและมองเห็นทางออก
ของปัญหาได้ดีขึ้น🐳
28 ม.ค. 2563 เวลา 12.26 น.
.~★☆ PikaPiPi ☆★~.
ในทางธรรม เราเรียกว่า...
▪ อานาปานสติ ▪
28 ม.ค. 2563 เวลา 12.09 น.
ถ้าสมมุติว่าถ้าเป็นผมอยู่ตรงสถาณะการณ์ตรงนั้น ผมก็คงจะลำบากและอึดอัดใจอยู่เหมือนกันนะ เพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงอยู่เหมือนกัน.
28 ม.ค. 2563 เวลา 11.18 น.
อันดา ฟ้าใส
เราสามารถได้ยินเสียงของความเงียบ ลองฟังดูซิ
Silent = Listen
28 ม.ค. 2563 เวลา 23.40 น.
ดูทั้งหมด