โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วิธีทำ "กรวยดอกไม้" แบบต่างๆ และจำนวนที่ใช้ ตั้งแต่ไหว้ครู ถึงไหว้ผี

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 02 มิ.ย. 2566 เวลา 16.44 น. • เผยแพร่ 02 มิ.ย. 2566 เวลา 15.44 น.
ล้านนา cover 2233

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า สวยดอก

สวย หมายถึง กรวย

ดอก หมายถึง ดอกไม้ต่างๆ

สวยดอก รวมความหมายถึงกรวยดอกไม้

อาจใช้ใบตองหรือกระดาษม้วนขดเป็นกรวย เพื่อใส่ดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสะดวกในการนำไปไหว้หรือคารวะบูชา

ชาวล้านนามีความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาทำให้มีความเชื่อว่าดอกไม้คือของหอมที่ใช้สำหรับบูชาเป็นเครื่องแสดงถึงความเคารพสักการะ จึงใช้ดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชาแทบทุกพิธีกรรม ทั้งในประเพณี 12 เดือนและประเพณีครั้งคราว

เช่น การทำบุญ การนิมนต์พระ การเลี้ยงผีหรืองานศพ โดยเฉพาะงานศพมีการระบุถึงการใช้สวยดอกว่า ผู้ตายจะต้องพนมมือและถือสวยดอกไว้เพื่อนำดอกไม้ไปไหว้พระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

สวยดอกจึงต้องทำอย่างประณีตบรรจงเพราะมีความเชื่อว่าสิ่งของที่นำไปเป็นเครื่องสักการบูชาจะต้องทำอย่างประณีตงดงาม

สวยดอกนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. สวยธรรมดา เป็นสวยที่ม้วนและขดเป็นกรวยไม่ตกแต่งปากขอบ สวยชนิดนี้มักมีขนาดเล็กสูงประมาณ 3 นิ้ว กว้างประมาณ 1 นิ้ว เรียกว่า “สวยจิ้งหรีด”

ทำเพื่อใช้ในปริมาณมากตามข้อปฏิบัติของพิธีกรรม เช่น

สวยดอก 6 สวย หมายถึง การกราบไหว้ครูทั้ง 6 หรือทิศทั้ง 6

สวยดอก 12 สวย หมายถึง การกราบไหว้ 12 ราศี เป็นต้น ดังนั้น หากเครื่องไหว้ครูมีจำนวนมากการนำข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียนมารวมกันจึงทำให้ง่ายขึ้น และยังใช้พื้นที่ในการวางดอกไม้ในพานหรือขันที่ใส่เครื่องสักการบูชาน้อยลง

2. สวยกาบ มีลักษณะคล้ายสวยจิ้งหรีดเพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่า มีความสูงประมาณ 5-6 นิ้ว กว้างประมาณ 2 นิ้ว พับกลีบหรือกาบด้วยใบตองเป็นแบบต่างๆ กลัดติดด้วยไม้กลัดติดขอบปากสวยและมีชื่อเรียกต่างกันไปตามลักษณะของกาบ เช่น

กาบรูปปากนกแก้ว มีลักษณะของการพับกาบคล้ายปากนกแก้ว หรือ

กาบดอกจอก มีลักษณะการพับคล้ายดอกไม้

การพับกาบตามแนวคิดของท้องถิ่น เช่น กาบวีเจียงใหม่ มีลักษณะคล้ายรูปพัด

การพับกาบตามปีนักษัตรของล้านนา เช่น กาบหูกระต่าย เป็นตัวแทนปีเถาะ กาบหูช้างหรือกาบคัณฑราช เป็นตัวแทนปีกุญชรหรือช้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในปีนักษัตรของล้านนา

ดอกไม้ที่นำมาใส่ในสวยนิยมนำดอกไม้ที่มีในพื้นบ้านมาใส่ เช่น ดอกเก็ดถวาหรือดอกพุดซ้อน ดอกแก้ว ดอกซอมพอ และดอกกระดังงา ซึ่งมีความหอมนาน ใช้ดอกไม้มีชื่อเป็นสิริมงคล มีกลิ่นหอม ส่วนสีของดอกไม้ จะเป็นสีเหลือง และสีขาว เป็นส่วนใหญ่

ตามธรรมเทศนาเรื่อง อานิสงส์ดอกไม้ ซึ่งกล่าวว่า การได้บูชาด้วยดอกไม้สีเหลืองจะมีอานิสงส์สูงสุด รองลงมาคือสีขาว ดอกไม้ที่ไม่นิยมนำมาใส่ในสวยของชาวล้านนา (บางพื้นที่) คือ ดอกเข็ม เพราะเชื่อว่า เข็มมันแหลมคม จะไปทิ่มแทงไม่ให้มีความสุข ดอกไม้สีแดง เพราะมีสีเหมือนประจำเดือนผู้หญิง จะได้อานิสงส์น้อยที่สุด

ชาวล้านนาใช้สวยดอกในโอกาสต่างๆ เช่น

การไหว้ครู ใช้ 8 สวย

การแบ่งครู ใช้ 8, 12, 16, 32 สวย

การถวายเครื่องไทยทาน การนิมนต์พระ ใช้ 1 สวย

การทานขันข้าว เพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตาย ใช้ 1 สวย ต่อ 1 ขัน

การเลี้ยงผี เช่น ผีหลักเมือง ใช้ 104 สวย ผีขุนน้ำ ใช้ 4 สวย ผีปู่ย่า ใช้ 12 สวย เป็นต้น

ในสวยดอก นอกจากจะใส่ดอกไม้แล้ว ยังต้องมีธูป 3 ดอก เทียน 2 เล่ม

บางท้องถิ่นมีความเชื่อว่าสวยกาบถวายพระ ต้องมี 5 กลีบ ถือเป็นการบูชาพระเจ้า 5 พระองค์

สวยดอกไม้ที่ใช้ในงานมงคล เช่น งานแต่งงาน นิยมใช้สวยกาบ 4 กลีบ เพราะเป็นเลขคู่ เพื่อความเป็นสิริมงคล

การพับสวยดอกไม้ในงานศพ จะไม่พับกาบใบตองซ้อนกัน เพราะอาจมีการตายต่อเนื่องกัน

สวยดอกที่ใช้ถวายพระ มักจะใช้ใบตอง 2 ชั้น เพื่อให้มีบุญบารมีเพิ่มขึ้น การทำสวยดอกไม้ ควรเช็ดใบต้องให้สะอาด เพื่อความเป็นสิริมงคลในการนำไปบูชา เมื่อทำสวยดอกเสร็จแล้ว จะต้องวางไว้ที่สูง หรือนำไปใส่ภาชนะ เช่น ใส่ในแก้ว ในพาน ไม่นิยมนำไปวางกับพื้น การทำสวยดอกไม้ไม่ควรใช้ใบตองตามขวาง เพราะจะทำให้ขวางโชคลาภและบุญบารมี

การใช้สวยดอกมีวัตถุประสงค์เพื่อนำพาดอกไม้นั้นไปเคารพสักการะพระรัตนตรัย เทพยดา ครูบาอาจารย์ หรือผี ซึ่งแล้วแต่ว่าใช้บูชาในงานใด และทุกพิธีธรรมของล้านนาจะใช้สวยดอกไม้เพื่อคารวะบูชาเสมอ

ปัจจุบันน้อยคนนักที่จะรู้ความหมาย หรือทำสวยดอกเป็น อาจเพราะเห็นว่าไม่สำคัญ หรือคิดว่ามีขายตามท้องตลาด อย่างไรก็ตาม การได้เรียนรู้ อนุรักษ์ และสืบสานวัฒนธรรม ซึ่งบรรพบุรุษได้ปฏิบัติมาสืบทอดมาไว้ ไม่ให้สูญหายเป็นสิ่งที่ดีงามของชาวล้านนาต่อไป •

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง

สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj

— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0