โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โลกเปลี่ยน ยูนิฟอร์มเปลี่ยน ส่องไอเท็ม “ชุดนักเรียนญี่ปุ่น” ที่อุ่นเครื่องรับความหลากหลาย

นิตยสารคิด

อัพเดต 15 พ.ค. 2566 เวลา 20.04 น. • เผยแพร่ 15 พ.ค. 2566 เวลา 20.04 น.
Japanese-School-Uniform-cover
Japanese-School-Uniform-cover

การให้ความสำคัญกับบทบาททางเพศนับเป็นหนึ่งในประเด็นที่เห็นได้เด่นชัดในวัฒนธรรมญี่ปุ่น และมีอิทธิพลต่อรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงเรื่องของ “เครื่องแบบนักเรียน” ชายหญิง ที่มีแบบแผนแยกกันอย่างชัดเจน

ชุดเครื่องแบบนักเรียนญี่ปุ่นที่หลายคนคุ้นตาจากภาพยนตร์หรือการ์ตูนนั้นมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ยุคเมจิ โดยเครื่องแบบคลาสสิกดั้งเดิมของนักเรียนชายจะเป็นชุดคอตั้งสีดำหรือน้ำเงินเข้ม มีกระดุมสีทอง 5 เม็ด กางเกงขาตรงสีดำ ในขณะที่ชุดคลาสสิกของนักเรียนหญิงนั้น ออกแบบมาจากชุดของกะลาสีเรือ เป็นชุดในแบบเดียวกับที่ “เซเลอร์มูน” สวมใส่

จากนั้นเมื่อกาลเวลาเปลี่ยน รูปแบบของชุดนักเรียนก็เปลี่ยนตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น การใส่เบลเซอร์ (Blazer) คลุมคู่กับกระโปรงหรือกางเกงลายสก็อต พร้อมผูกโบหรือเนคไท ทั้งยังมีเครื่องแบบสำหรับฤดูร้อนและหนาวที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมไม่เคยหยุดอยู่กับที่และมักมีกระแสใหม่ ๆ เข้ามาให้เราได้ปรับเปลี่ยนความนิยมกันอยู่เสมอ ในภาคการศึกษาใหม่นี้ โรงเรียนหลายแห่งของญี่ปุ่นจึงมี “นโยบายใหม่ ๆ” สำหรับชุดนักเรียนอีกครั้ง ซึ่งอาจเปลี่ยนภาพจำเดิมที่เคยเห็นในอนิเมะภาคเก่า ๆ ไปเลยก็ได้

jacob-plumb-XbX66OZeLaU-unsplash.jpg

Jacob Plumb / Unsplash

ยูนิฟอร์มยุคใหม่ออกแบบไม่เจาะจงเพศ
ในปี 2015 กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม การกีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่นได้เผยแพร่แนวปฏิบัติให้แก่โรงเรียนเพื่อสนับสนุนนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศในรูปแบบต่าง ๆ และมีเรื่องของเครื่องแบบนักเรียนและการแต่งกายเป็นส่วนหนึ่งในประกาศนั้น ท่ามกลางความสนใจในประเด็นเรื่องเพศที่เพิ่มสูงขึ้น

จนกระทั่งในปี 2018 ที่ธรรมเนียมสังคมว่าด้วยหลักปฏิบัติของความเป็นชายและหญิงมีความผ่อนคลายลง ทำให้เกิดก้าวแรกของความเปลี่ยนแปลงขึ้น เมื่อโรงเรียนบางแห่งเริ่มมี “เครื่องแบบที่เป็นกลางทางเพศ” (gender-neutral uniform) หรือ “เครื่องแบบปราศจากเพศ” (genderless uniform) มาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับนักเรียนในยุคนี้ แถมกระแสการปรับเปลี่ยนดังกล่าวยังขยายไปอย่างรวดเร็วทั่วประเทศโดยเฉพาะในปีล่าสุด

โดยลักษณะของเครื่องแบบที่เป็นกลางทางเพศนั้น นอกเหนือจากจะทำให้นักเรียนได้มีอิสระในการเลือกใส่กางเกงหรือกระโปรง เช่นเดียวกับโบหรือเนคไทตามสมัครใจแล้ว ก็ยังมีการออกแบบเบลเซอร์ให้มีรูปทรงที่เหมือนกันทั้งชายหญิง เพื่อไม่ให้เกิดการเน้นทรวดทรงองค์เอวอย่างชัดเจนอีกด้วย

เรียว อุชิดะ รองศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาการศึกษาของมหาวิทยาลัยนาโกย่า กล่าวว่า “การออกแบบเครื่องแบบนักเรียนใหม่ เป็นสัญลักษณ์ของทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปของโรงเรียนต่อความคิดเห็นของเด็ก ๆ … มันมีความหมายต่อนักเรียนในการที่จะคิดและทำด้วยตัวเองผ่านการอภิปรายเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียน”

ข้อมูลทางสถิติจากหลายแหล่งยังชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงจากโรงเรียนทั่วประเทศที่มีอย่างก้าวกระโดด Kankō Gakuseifuku Co. (Kankō) ผู้ผลิตเครื่องแบบนักเรียนจากโอคายามะกล่าวว่า พวกเขาได้รับคำสั่งซื้อเบลเซอร์แฟชั่นเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่โรงเรียนจำนวนน้อยลงมองหาแจ็กเก็ตปกตั้งและชุดกระโปรง สอดคล้องกับตัวเลขที่รายงานว่า ในปีการศึกษา 2023 นี้ มีโรงเรียนกว่า 3,041 แห่งที่นำกางเกงสแล็กของเด็กผู้หญิงมาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบชุดนักเรียน โดยในปีนี้ Kankō ผลิตกางเกงสแล็กให้กับลูกค้าถึง 832 แห่ง (แบ่งเป็นโรงเรียนมัธยมต้น 641 แห่ง มัธยมปลาย 173 แห่ง และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ อีก 18 แห่ง) การเติบโตนี้เห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับการผลิตกางเกงสแล็กสำหรับนักเรียนหญิงของแบรนด์ในยุคแรกในช่วงปี 1996-1997 ซึ่ง ณ ขณะนั้น เกิดเนื่องด้วยความจำเป็นในภูมิภาคที่มีอากาศหนาว ทำให้มีเพียงไม่กี่โรงเรียนที่รับกางเกงนี้ไปใช้ และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยในช่วงสองทศวรรษต่อมา จนกระทั่งผ่านปีการศึกษา 2019 ที่ตัวเลขแตะหลักร้อยเป็นครั้งแรก และเพิ่มอย่างก้าวกระโดดมาถึงทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่ Kankō เท่านั้น แต่แบรนด์ชุดนักเรียนอื่น ๆ อย่าง Tombo ก็รายงานแนวโน้มที่เป็นไปในทางเดียวกัน ด้วยตัวเลขการสั่งซื้อเครื่องแบบไม่ระบุเพศที่เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากเดิม 370 แห่งในปี 2018 สู่ 1,000 แห่งในปี 2021

ตัวเลขที่ทะยานขึ้น อาจเป็นเพราะในปีการศึกษาใหม่นี้ มีจังหวัดหลายจังหวัดในญี่ปุ่นที่ปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดโออิตะที่เข้าร่วมเทรนด์เครื่องแบบที่หลากหลายถึง 4 แบบให้นักเรียนเลือกสรรได้อย่างอิสระ เช่นเดียวกับโรงเรียนมัธยมต้นนำร่อง 5 แห่งในเมืองซูโซโนะ จังหวัดชิซุโอกะ ที่จะเริ่มใส่เครื่องแบบพื้นฐานเหมือนกันตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลินี้ โดยมีทั้งยูนิฟอร์มสำหรับฤดูหนาว และเสื้อโปโลสีกรมท่าสำหรับฤดูร้อน และสามารถเลือกสวมกระโปรง กางเกง รวมถึงโบและเนกไทได้อย่างอิสระ

ในขณะที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเฮียวโงะ ก็ได้มีการออกกางเกงคูลอต (Culottes) หรือกางเกงทรงขาบานที่มีความยาวคุมหัวเข่าถึงหน้าแข้ง เป็นเครื่องแบบเพิ่มเติม หลังจากที่ได้ปรับกฎระเบียบเรื่องการแต่งกายไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีความเห็นของนักเรียนที่ยังรู้สึกไม่สบายใจกับการใส่ทั้งกระโปรงและกางเกงสแล็ก พร้อมไปกับการเปิดตัวเบลเซอร์ที่สามารถติดกระดุมได้ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา เพื่อให้เด็ก ๆ ได้แต่งตัวในแบบที่เข้ากับตัวเองมากที่สุด โดยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ดูเหมือนจะถูกอกถูกใจนักเรียนส่วนใหญ่ไม่น้อย แม้ว่าหลายคนจะไม่ได้คิดที่จะเปลี่ยนมาสวมใส่กางเกงคูลอตก็ตาม

hakan-nural-8l8gQsG4c-E-unsplash.jpg

Hakan Nural / Unsplash

เพราะยูนิฟอร์มเพื่อความหลากหลาย ตอบโจทย์ได้หลายหลากเช่นกัน
แนวทางการเลือกชุดนักเรียนตามใจผู้ใส่และการออกแบบชุดใหม่ให้มีความเป็นกลางทางเพศนั้น ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์เรื่องการสนับสนุนความหลากหลายที่เกิดขึ้นในสังคม และทำให้เด็ก ๆ ได้เป็นตัวของตัวเอง พร้อมมองโลกด้วยทัศนคติที่ต่างออกไปเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์ไปถึงประเด็นอื่น ๆ เช่น การใช้งานที่เข้าที่เข้าทางมากกว่าเก่าด้วย

“เครื่องแบบนักเรียน ควรที่จะช่วยให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบายจากจุดยืนทั้งในแง่ของจิตใจและฟังก์ชันการใช้งาน” มิกิ ทานิโอกะ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของ Kankō กล่าว โดยจากการสัมภาษณ์เด็กนักเรียนหญิงกว่า 400 คนที่เลือกสวมกางเกงแทนกระโปรงก็พบว่า พวกเธอชอบที่กางเกงช่วยป้องกันขาจากลมหนาว ทั้งยังสะดวกในการปั่นจักรยานมาโรงเรียนด้วย รวมไปถึงความสะดวกในการร่วมกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางกายอื่น ๆ เช่นกัน

นโยบายเครื่องแบบใหม่นี้ยังตอบโจทย์เรื่องของสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าสนใจ หลังจากการปรับชุดนักเรียนให้มีความเป็นกลางทางเพศแล้ว หลาย ๆ พื้นที่ยังปรับนโยบายที่เอื้อให้มีการส่งต่อชุดนักเรียนให้แก่พี่หรือน้องในรุ่นถัด ๆ ไป ซึ่งเป็นเรื่องที่สะดวกกว่าเมื่อไม่ได้มีการแบ่งแยกเพศ และนับได้ว่าเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง ทั้งในแง่ของการส่งต่อ และในแง่ของการลดความเหลื่อมล้ำของราคาค่าชุดที่แตกต่างกัน นโยบายการส่งต่อชุดนักเรียนยังดำเนินควบคู่ไปกับนโยบายการยืมชุดนักเรียนแทนการซื้อขาด สำหรับบางพื้นที่ ทั้งยังสามารถเปลี่ยนขนาดได้โดยไม่ต้องจ่ายเพิ่ม เพื่อสอดคล้องไปกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติที่ภาคธุรกิจและรัฐบาลกำลังให้ความสนใจ

charlesdeluvio-ptfO0GLahFM-unsplash.jpg

charlesdeluvio / Unsplash

โละใหม่ยกเซ็ต
นอกจากชุดนักเรียนที่ต้องใส่กันเป็นประจำแล้ว ก็ยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างที่ดำเนินการตามกระแสที่เปลี่ยนไปนี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น “ชุดว่ายน้ำ” ที่นักเรียนจะต้องใส่เพื่อเรียนในวิชาพละ เดิมทีชุดว่ายน้ำของนักเรียนหญิงและชายนั้นมีความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนและเหมือนกันเพียงแค่สีกรมท่าเท่านั้น แต่ในช่วงที่ผ่านมาบริษัท Footmark กลับได้พัฒนาชุดว่ายน้ำแบบใหม่ที่ปราศจากเพศ เพื่อให้เด็กนักเรียนได้มีสิทธิ์เลือกจะใส่ทั้งแบบใหม่และแบบเก่า (แน่นอนว่าเด็ก ๆ ในโรงเรียนนำร่องกว่าครึ่งเลือกที่จะใส่ชุดแบบใหม่) และในปีการศึกษาใหม่ที่เริ่มในเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ ก็มีโรงเรียนพิจารณาเข้าร่วมแล้วกว่า 200 แห่ง

ชุดว่ายน้ำนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นประมาณ 4-5 ปีก่อน หลังจากบริษัทได้รับฟังความเห็นจากเด็กนักเรียนที่อยู่ในช่วงพัฒนาอัตลักษณ์ทางเพศและสับสนว่าควรจะเลือกใส่ชุดว่ายน้ำแบบไหน ประกอบกับอีกหลาย ๆ ข้อคิดเห็น เช่น เด็กชายที่ต้องการชุดว่ายน้ำที่ปกป้องผิวหนังของตัวเองได้มากกว่านี้ และเด็กอีกหลาย ๆ คนที่ไม่ต้องการให้ใครเห็นสภาพผิวหรือรอยแผลเป็นจากการผ่าตัด ดังนี้การพัฒนาชุดว่ายน้ำชุดแรกที่เกิดขึ้นโดยไม่คำนึงถึงเพศ และสามารถปรับให้เข้ากับการใช้งานของแต่ละคนได้จึงเกิดขึ้น

ชุดว่ายน้ำแบบใหม่นี้ มีสีกรมท่าตามมาตรฐานชุดว่ายน้ำแบบเดิมของโรงเรียน ท่อนบนเป็นเสื้อแขนยาวที่ป้องกันรังสียูวี และท่อนล่างเป็นกางเกงขาสั้นสบาย ๆ ที่ไม่แนบไปกับต้นขา นอกจากนี้การออกแบบแพทเทิร์นของชุดว่ายน้ำยังไม่เน้นสัดส่วนช่วงหน้าอก เอว และบั้นท้าย แต่ถูกดีไซน์ให้มีความกลมกลืน สวมใส่สบาย และยังมีช่องสำหรับใส่ซับในเพิ่มเติมและซิปที่มีตัวป้องกันไม่ให้รูดออกระหว่างการออกกำลังกายด้วย ทำให้ชุดว่ายน้ำนี้เป็นที่ถูกใจของเด็ก ๆ อย่างมาก บ้างว่า “ฉันมีสมาธิจดจ่ออยู่กับคาบเรียนว่ายน้ำโดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับร่างกายตัวเอง” “ชุดใหม่นี่ทำให้ว่ายน้ำได้ง่ายขึ้นจริง ๆ ” และ “ถ้าคะแนนเต็ม 5 ฉันคงจะให้ 4 หรือ 5 เลย”

นอกเหนือจากชุดว่ายน้ำแล้ว กระเป๋านักเรียนประถมที่เรียกกันว่า “รันโดะเซะรุ” (randoseru) ก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน โดยปกติแล้วรันโดะเซะรุจะมีการแบ่งเป็น 2 สีสำหรับเด็กชายและหญิง คือสีดำสำหรับผู้ชาย และสีแดงสำหรับผู้หญิง แต่เมื่อไม่นานมานี้แบรนด์กระเป๋า Tsuchiya Kaban Co. ได้ออกกระเป๋าซีรีส์ใหม่ชื่อว่า “Reco” ภายใต้ธีม “เลือกสีที่แสดงออกถึงความเป็นตัวเราได้ดีที่สุด” พร้อมกับสีทางเลือกที่มากขึ้น ด้วยความมุ่งหวังที่จะขจัดกรอบความคิดเดิม ๆ ที่ตายตัวว่าเพศไหนควรคู่กับสีอะไร และให้อิสระแก่เด็ก ๆ ได้เลือกสีที่ใช่ด้วยตัวเอง ทำให้ต่อมาก็มีแบรนด์กระเป๋าอีกหลายแบรนด์ที่ออกสีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น และตัดทอนองค์ประกอบด้านดีไซน์ที่เคยเจาะจงเฉพาะกลุ่มออกไป ในขณะที่เทศบาลคาชิมะในจังหวัดอิบารากิจะ ที่เคยจัดเตรียมกระเป๋ารันโดะเซะรุให้แก่เด็ก ๆ มาตั้งแต่ปี 1976 ก็ได้ออกแบบกระเป๋าใหม่ และเปลี่ยนการแจกกระเป๋าจากเดิมที่เคยแยกสีแดง-ดำ มาเป็น “สีอูฐ” (camel color) ตามที่เด็ก ๆ ได้โหวตเลือก เพื่อสนับสนุนประเด็นความเท่าเทียมทางเพศเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากผลสำรวจแล้วก็ยังเห็นได้ว่านักเรียนชายกว่าครึ่งยังคงเลือกกระเป๋าสีดำ เช่นเดียวกับกระเป๋าโทนสีแดงและฟ้าที่ครองใจเด็กผู้หญิง อีกทั้งโรงเรียนส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในก้าวแรกที่ให้สิทธิ์เพียงแค่ผู้หญิงเท่านั้นที่จะเลือกใส่กางเกง และยังไม่เห็นภาพโปรโมตใดที่เด็กนักเรียนชายจะใส่กระโปรง และบางคนก็ให้ความเห็นว่า หากเคารพในปัจเจกและอิสระของตัวเด็กจริง ผลลัพธ์ก็ควรจะเห็นว่าเครื่องแบบนักเรียนอาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

กระนั้นสิ่งต่าง ๆ ที่เริ่มขึ้นในวันนี้ อาจจะเป็นก้าวแรกสำหรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีขึ้นและความหวังว่าเราจะไปสู่จุดหมายนั้นได้ ภายใต้การดำเนินการผ่านมุมมองต่าง ๆ ที่ครอบคลุม และกาลเวลาที่จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงความคิดและแบบแผนเดิมที่ฝังรากลึกให้หมดไปอย่างสมบูรณ์

ที่มา : บทความ “From Tradition to Today: Japanese School Uniforms” จาก learnjapanese123.com
บทความ “ย้อนตำนานชุดนักเรียนญี่ปุ่น จากทหารสู่แฟชั่น” จาก mgronline.com
บทความ “Japanese high school adds culottes to uniforms to better accommodate gender diversity” โดย Casey Baseel จาก japantoday.com
บทความ “Picking Up the Slacks: Gender-Neutral School Uniform Options Increasing in Japan” จาก nippon.com
บทความ “Genderless school uniforms is beneficial for all students in Japan” โดย Chris Lee จาก zenbird.media
บทความ “Japan city launches standardized school uniforms; students free to choose skirt, pants” จาก mainichi.jp
บทความ “A New School Year in Japan Brings Gender-Free Uniform Choices, “Subscriptions”” โดย Jay Allen จาก unseenjapan.com
บทความ “Japan’s school uniforms turn away from gender stereotypes” โดย Masaki Kujirai และ Sachiko Asakuno จาก japannews.yomiuri.co.jp
บทความ “Schools across Japan work on adopting pants as option for all” จาก asahi.com
บทความ “Japan’s first genderless, two-piece school swimsuits are now available for adoption by schools” โดย Krista Rogers จาก soranews24.com
บทความ “Japan’s first genderless, two-piece school swimsuits now available” โดย Krista Rogers จาก japantoday.com บทความ “Genderless uniform trend accelerating in Japan” โดย Moe Kamimoto จาก zenbird.media
บทความ “Japan's school backpacks going genderless as makers launch various colors, designs” จาก mainichi.jp
บทความ “Japan city to provide camel-color school bags instead of black for boys, red for girls” จาก mainichi.jp

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0