โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“กระดาษกับคนเรา ของคู่กัน” มากกว่าจดบันทึก คือวัฒนธรรมที่สืบต่ออย่างบรรจง

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 03 มิ.ย. เวลา 05.44 น. • เผยแพร่ 02 มิ.ย. เวลา 17.08 น.
ภาพปก-กระดาษ

แม้ว่าระบบการเขียน และความต้องการที่จะจดบันทึกจะเป็นแรงผลักสำคัญที่ก่อให้เกิดการผลิต “กระดาษ” ขึ้น แต่ในทุกวันนี้เราไม่ได้ใช้ “กระดาษ” เพียงเพื่อจดบันทึกอย่างเดียว แต่เรายังใช้ชีวิตอยู่คู่กับมัน สร้างคุณค่าทางวัฒนธรรมขึ้น

ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของกระดาษ ชนชาติแรก “ชาวอียิปต์โบราณ” ได้ผลิตกระดาษขึ้นจากพืชกกชื่อว่า ต้นปาปิรัส (Papyrus) เป็นรากศัพท์ของคำว่า paper ในภาษาอังกฤษ

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า มีการใช้กระดาษปาปิรัสในการจารึกบทสวดและคำสาบาน ที่ถูกบรรจุไว้ในพีระมิดอียิปต์ มาตั้งแต่ราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาล

แต่เนื่องจากวิธีการผลิตที่นำเยื่อมาติดซ้อนๆ กัน และมีลักษณะที่ไม่เป็นเนื้อเดียว ทำให้นักวิจัยรุ่นหลังกลับไม่ยอมรับว่าสิ่งนี้ คือ “กระดาษ” เนื่องจากวัสดุที่ใช้ไม่ได้เป็นแผ่นเนื้อเดียวกัน เพียงแต่นำเยื่อมาติดซ้อนๆ กัน และให้การยอมรับว่า กระดาษของชนชาติจีน คือกระดาษที่แท้จริง เพราะเป็นเนื้อเดียวกัน

กระดาษของชนชาติจีน เกิดขึ้นในรัชสมัย พระเจ้าจักรพรรดิโฮตี ใน ค.ศ. 105 โดยชาวจีนนามว่า ไซลุง ผู้สามารถผลิตกระดาษจากการใช้เปลือกไม้และเศษแหอวนเก่าๆ นำมาต้มจนได้เยื่อกระดาษ แล้วนำไปเกลี่ยบนตะแกรงและปล่อยให้แห้ง เวลาดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ภายหลังจากการสู้รบระหว่างกองทัพจีนกับมุสลิมในสงครามทัลลัส เมื่อ ค.ศ. 751 ที่เชลยศึกชาวจีน 2 คน เป็นผู้เปิดเผยวิธีการทำกระดาษแบบจีนให้ชาวมุสลิม

แต่สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างกระดาษของชาวมุสลิมกับของชาวจีน คือ ชาวมุสลิมได้ปรับปรุงวิธีการทำกระดาษ โดยใช้ผ้าลินินแทนเปลือกไม้ของต้นหม่อน โดยนำผ้าลินินไปหมักในน้ำ ซึ่งมันจะไม่เน่าเปื่อย และจะนำเศษผ้าที่ต้มเสร็จแล้ว ซึ่งปราศจากกากที่เป็นด่างและสิ่งสกปรก มาตอกด้วยค้อน เพื่อทำให้กลายเป็นเยื่อกระดาษขึ้น และถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้การพัฒนาศิลปวิทยาการในโลกมุสลิมสมัยกลางเจริญก้าวหน้าอย่างมากอีกด้วย

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย คำว่ากระดาษที่เราใช้เรียกกันอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่คำไทย แต่เป็นคำที่แปลงมาจากภาษาโปรตุเกส คือ “Cartas” ทำให้เข้าใจว่าโปรตุเกสเป็นผู้นำกระดาษแบบฝรั่งเข้ามาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา คำว่ากระดาษจึงติดปากใช้กันมาตั้งแต่สมัยนั้น [1]

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยเราจะไม่ปรากฏหลักฐานของการผลิตกระดาษว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่คาดว่ามีการใช้กระดาษจดบันทึกมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ใช้คำว่า “กระดาษ” ในการเรียก โดยจะเรียกว่า ใบสมุด แทน เพราะคำว่าสมุดหมายถึงเล่ม เช่น สมุดข่อย สมุดไทย [2] เป็นต้น

ความสามารถในการผลิตกระดาษได้ นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชนชาตินั้นๆ ยังก่อให้เกิดวัฒนธรรมอีกด้วย เช่น วัฒนธรรมการพับกระดาษของจีน ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมการไหว้เจ้า คือการเผา “กระดาษเงินกระดาษทอง หรือ ค้อซี” ไปให้บรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว อันถือเป็นการแสดงความกตัญญู เปรียบเสมือนกับการส่งเงินทองไปให้ [3]

หรือหากย้อนกลับไปในสมัยราชวงศ์ถัง ก็มี “กระดาษเรียกวิญญาณ” คือการตัดกระดาษเป็นรูปเรือใบ แล้วนำมาห่อยอดข้าวเกาเหลียง ซึ่งจะใช้สำหรับวิญญาณที่ตายไม่ปกติ เป็นการชักนำดวงวิญญาณให้หาทางกลับบ้านถูก และไปสู่สุขคติ

นอกจากใช้ในการพิธีกรรม วัฒนธรรมการตัดกระดาษยังกลายมาเป็นสิ่งที่ใช้ประเมินว่าใครจะเป็นเจ้าสาวที่ดีได้ด้วยเช่นกัน

ในช่วงยุคหลังสมัยหมิงและชิง ศิลปะการตัดกระดาษถูกนำมาใช้สอยอย่างกว้างขวาง มีการตัดกระดาษเพื่อนำมาใช้ตกแต่งบ้าน ประตู หน้าต่าง เพดาน ดั้งนั้นจึงทำให้การตัดกระดาษกลายมาเป็นงานฝีมือที่ผู้หญิงจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญ [4] ในระดับหนึ่งเลยที่เดียว

ที่ประเทศญี่ปุ่น มีวัฒนธรรมการพับกระดาษเช่นกัน คือ “โอริกามิ” เป็นการนำกระดาษมาพับเป็นรูปร่างต่างๆ ที่นิยมที่สุดคือ รูปนกกระเรียน อันมีความหมาย คือ พันปี [5] และเป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืนยาว ความหวัง ความโชคดีและความสุข ตามตำนานซุรุ หรือนกกระเรียน ที่เชื่อว่าถ้าพับนกกระเรียนครบ 1,000 ตัว แล้วนำมาร้อยเป็นของขวัญ จะทำให้คนที่ได้รับสามารถหายจากอาการเจ็บป่วย มีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาว [6]

ดังจะเห็นได้จากเรื่องราวอันโด่งดังของ “ซาดาโกะ ซาซากิ” ที่มีอนุสาวรีย์อยู่ใจกลางสวนสาธารณะสันติภาพฮิโรชิม่า สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงซาดาโกะและเด็กๆ อีกหลายคนที่เสียชีวิตจากระเบิดปรมาณู และเพื่อเป็นการตระหนักถึงพิษภัยของสงครามโลกครั้งที่ 2 [7]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เชิงอรรถ :

[1] หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม, ตำนานกระดาษ เข้าถึงเมื่อ 18 มิถุนายน 2561 จาก http://www.finearts.go.th/nakhonphanomlibrary/parameters/km/item/ตำนานกระดาษ

[2] สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, วารสารส่งเสริมการลงทุน ธุรกิจการพิมพ์ กระดาษจากลุ่มแม่น้ำไนล์สู่สิ่งพิมพ์ดิจิตอล, เข้าถึงเมื่อ 15 มิถุนายน 2561 จาก http://www.boi.go.th/upload/content/BOI_Nov_2010_99373.pdf, หน้า 6-8.

[3] Myhome, ทำความรู้จักกระดาษไหว้เจ้าและวิธีการพับกระดาษเงินกระดาษทองอย่างถูกวิธี เข้าถึงเมื่อ 15 มิถุนายน 2561 จาก http://www.baanlaesuan.com/94218/diy/easy-tips/chinesenewyear-paper/

[4] Ingtimja, ศิลปะการตัดกระดาษจีน เข้าถึงเมื่อ 15 มิถุนายน 2561 จาก https://xingyun657.wordpress.com/

[5] Sanook, ตำนานนกกระดาษ เข้าถึงเมื่อ 15 มิถุนายน 2561 จาก https://guru.sanook.com/3917/

[6] มาเรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นกันเถอะ! สัมผัสประสบการณ์ พับกระดาษโอริกามิของญี่ปุ่น เเละ โอริกามิอาร์ท เข้าถึงเมื่อ 15 มิถุนายน 2561 จาก http://soodyod-hokkaido.jp/tourisms/detail/T010033

[7] por_kk, ซาดาโกะกับนกกระเรียนพันตัว สัญลักษณ์แห่งสันติภาพและบทเรียนราคาแพงของมนุษย์โลก เข้าถึงเมื่อ 18 มิถุนายน 2561 จาก https://www.online-station.net/movie/view/36524

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มิถุนายน 2561

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “กระดาษกับคนเรา ของคู่กัน” มากกว่าจดบันทึก คือวัฒนธรรมที่สืบต่ออย่างบรรจง

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น