รมว.ยุติธรรม แจงโครงการอ่านหนังสือลดวันต้องโทษ มีคณะกรรมการร่วมในการพิจารณาวัดผล หวังให้ได้รับการศึกษา ไม่กลับไปประพฤติผิด เผย ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำมีผลแล้ว โยนถามอธิบดีราชทัณฑ์ ผู้ต้องขังล็อตแรกที่อยู่ในเกณฑ์
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงโครงการอ่านหนังสือลดวันต้องโทษ (Read for Release) หรือการอ่านหนังสือเพื่อเลื่อนชั้นผู้ต้องราชทัณฑ์ ว่า เราต้องยอมรับว่าผู้ที่อยู่ในเรือนจำ หรือผู้ที่ถูกคุมประพฤติ หรือผู้ที่กระทำความผิดส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา หรือจบการศึกษาไม่ถึงเกณฑ์ขั้นพื้นฐาน ถ้าหากประเทศไทยสามารถทำให้คนได้เรียนหนังสือตามที่รัฐบาลกำหนด จากที่เรือนจำทั่วประเทศต้องดูแลผู้ต้องราชทัณฑ์กว่า 300,000 ราย ก็อาจจะลด 70,000 ราย เพราะผู้ต้องราชทัณฑ์ที่จบการศึกษาผ่านเกณฑ์ขั้นพื้นฐานมีเพียง 70,000 ราย ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ที่ถูกคุมความประพฤติทั่วประเทศ จำนวน 400,000 ราย หากได้รับการศึกษาก็จะไม่กลับไปประพฤติผิด
ดังนั้น กฎหมายราชทัณฑ์ จึงมีการบอกว่าความคืบหน้าเรื่องการศึกษาเป็นเหตุให้ลดโทษได้ตามมาตรา 52 แม้ว่าเราอาจจะใช้เกณฑ์การศึกษาภายนอกไม่ได้ แต่การอ่านหนังสือ 1 เล่ม จะสามารถพิจารณาพักโทษได้ ส่วนจะได้กี่วันนั้นอยู่ระหว่างให้คณะกรรมการพิจารณา แต่ในส่วนของต่างประเทศที่เป็นโมเดลมาก่อนนั้น พบว่าถ้าหากอ่านหนังสือจบ 1 เล่ม จะได้พักโทษ 4 วัน แต่ของเราต้องมีคณะกรรมการพิจารณาด้วย อย่างไรก็ตาม เรามีความประสงค์ให้ผู้ต้องราชทัณฑ์อ่านออกเขียนได้ คำนวณคณิตศาสตร์เป็น หากรู้หนังสือก็จะสามารถไปประกอบอาชีพอื่นได้ในอนาคต เราอยากเปลี่ยนเรือนจำให้เป็นสถานที่สำหรับสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงให้กับสังคม โดยเรือนจำต้องเปลี่ยนเป็นสถานที่สำหรับฟื้นฟูหรือเป็นมหาวิทยาลัยชีวิต เพื่อให้เขากลับเป็นคนใหม่และไปมีชีวิตที่ดี ตอนนี้จึงเป็นแนวความคิดที่เราจะทำ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อไปว่า โครงการดังกล่าวแม้จะยังไม่ใช่การลดโทษได้ทันที แต่ในกฎกระทรวงของกรมราชทัณฑ์ ก็อาจจะเป็นการเลื่อนชั้นให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ได้จากการอ่านหนังสือ 1 เล่ม หรือหากในปีใดมีการพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณลดโทษอย่างไร ผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์จากในส่วนนี้ให้ได้รับการเลื่อนชั้นตามลำดับ ซึ่งตอนนี้อาจจะยังไม่สมบูรณ์ในส่วนของกฎกระทรวง แต่ก็อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการจัดทำ และในส่วนที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่าอะไรคือหลักเกณฑ์การประเมินว่าผู้ต้องราชทัณฑ์ได้อ่านหนังสือจบเล่มและผ่านการพิจารณาเลื่อนชั้นนั้น ขอเรียนว่าเรามีคณะกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ หรืออาจจะมีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยที่สอนในเรื่องภาษาศาสตร์เข้าไปร่วมในการพิจารณาวัดผลด้วย เพราะเมื่ออ่านหนังสือจบหนึ่งเล่มก็ต้องให้มีการสรุปความการอ่าน การจับใจความ
ส่วนความคืบหน้าของระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 หรือระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในส่วนของการนำไปใช้ ผู้ต้องขังล็อตแรกที่จะอยู่ในเกณฑ์ใช้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำนั้น จะต้องสอบถามทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากคณะกรรมการราชทัณฑ์ฯ ได้เห็นชอบไปแล้ว ขณะนี้อาจอยู่ในช่วงของการปฏิบัติ ซึ่งระเบียบดังกล่าวมีผลแล้วก็สามารถใช้ได้เลย แต่ต้องถามทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่าได้มีการใช้แล้วหรือยัง เพราะเป็นเรื่องการปฏิบัติของแต่ละเรือนจำ ซึ่งตอนนี้อาจจะมีการเตรียมความพร้อม มีการฝึกอบรมอยู่ นอกจากนี้เราอยากเรียนให้สังคมทราบว่ามันเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ ไม่ใช่เรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แล้วถ้าหากบุคคลใดได้ไปคุมขังนอกเรือนจำก็จะต้องมีการติดกล้องวงจรปิดอยู่แล้ว บางส่วนก็อาจจะต้องติดกำไล EM ซึ่งรายละเอียดอย่างไรขอให้สอบถามทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้ให้คำตอบได้ เพราะระเบียบสามารถใช้ได้แล้ว
ทางด้าน นางกนกวรรณ จิ๋วเชื้อพันธุ์ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนนทบุรี และในฐานะรองโฆษกกรมราชทัณฑ์ กล่าวเสริมถึงเรื่องความคืบหน้าเรื่องระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 หรือระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ ยังคงอยู่ในขั้นตอนระหว่างอธิบดีกรมราชทัณฑ์ลงนาม เนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงการจัดทำหลักเกณฑ์และการกำหนดคุณสมบัติของผู้ราชทัณฑ์ทั้ง 4 กลุ่ม ว่าจะต้องมีคุณสมบัติ หลักเกณฑ์การต้องราชทัณฑ์มาอย่างไรบ้าง ทราบว่าทางคณะกรรมการฯ ยังคงมีการประชุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะดูรายละเอียดให้ครอบคลุมมากที่สุด จึงขอชี้แจงว่าในขณะนี้ยังไม่มีในส่วนของกลุ่มเป้าหมายผู้ต้องขังล็อตแรกที่จะได้ไปคุมขังภายนอกเรือนจำฯ อาจต้องมีการประชุมของคณะกรรมการฯ อีกสักระยะ จึงจะได้ข้อสรุป
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath