ในบรรดาผลงานหลายเรื่องของ “สุนทรภู่” กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ “พระอภัยมณี” นับว่าแพร่หลายและเป็นที่รู้จักของผู้คนมากที่สุด แม้เบื้องหน้าอาจมีน้ำหนักเป็นเรื่องราวความรักของตัวละครต่างๆ แต่เบื้องหลังที่แท้จริงคือ เป็นวรรณคดีต่อต้านการล่าอาณานิคมที่เขาแต่งได้อย่างแนบเนียน
แรงบันดาลใจ
สุนทรภู่รับรู้เรื่องการล่าเมืองขึ้นของชาติตะวันตกตั้งแต่เด็ก โดย พ.ศ. 2338 ขณะมีอายุ 9 ขวบ อังกฤษยึดครองลังกาเป็นอาณานิคม และขยายอิทธิพลในแหลมมลายู เมื่อถึงวัยทำงานสุนทรภู่ถือเป็นปราชญ์ในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 2 ย่อมได้รับรู้ข่าวสารบ้านเมืองมากกว่าคนทั่วไป กระทั่งเข้าสู่ต้นรัชกาลที่ 3 เมื่ออังกฤษส่งกองทัพยึดเมืองหงสาวดี พม่ายอมสงบศึก จนต้องเสียดินแดนด้านยะไข่ลงมาถึงพื้นที่ตอนล่างด้านตะนาวศรีทั้งหมดใน พ.ศ. 2368
หลังจากนั้นไม่กี่ปี เขาก็ลงมือเขียนพระอภัยมณี
นักวรรณคดีหลายคนเห็นตรงกันว่า สุนทรภู่น่าจะแต่งเรื่องนี้ขึ้นเมื่อเป็นภิกษุจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ราว พ.ศ. 2376 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะสุนทรภู่อายุราว 47 ปี ซึ่งการคุกคามของชาติตะวันตกเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
วรรรณกรรมการเมือง
วรรณกรรมเรื่องนี้สะท้อนทัศนคติของเหล่าขุนนางและชนชั้นปกครองสยาม รวมถึงสุนทรภู่เองซึ่งเป็นชนชั้นกระฎุมพี ที่ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีในกรุงเทพฯ ที่มีต่อลัทธิจักรวรรดินิยม การล่าอาณานิคมของชาวยุโรปในศตวรรษที่ 18 ทำให้หวาดระแวงและไม่นิ่งนอนใจในการมีปฏิสัมพันธ์กับชาวตะวันตก ตลอดจนการเข้ามาของคริสต์ศาสนานิกายต่างๆ
ทั้งหมดถูกดัดแปลงปะปนอยู่ในงานของสุนทรภู่
สุนทรภู่กำหนดให้เมืองลังกา มีที่มาจากศรีลังกา ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เมืองลังกาปกครองโดย “ผู้หญิง” คือนางละเวงวัณฬา เป็นภาพแทนของ “สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ”
แต่ในวรรณกรรมเขาสลับบทบาทกับสถานการณ์จริง
โดยให้ไทยเป็นฝ่ายล่าเมืองขึ้น และชวนฝรั่งเข้ารีต เมื่อพระอภัยฯ ทำศึกกับเมืองลังกามานานจนชนะ ได้นางสุวรรณมาลีและนางละเวงวัณฬาเป็นชายาแล้ว สงครามยุติ, เมืองลังกากลายเป็นเมืองขึ้นฝ่ายไทย ชายาทั้งสองก็ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ แต่สุนทรภู่ไม่ได้ใช้คำว่า “ศาสนาพุทธ” หรือ “ศาสนาคริสต์” แต่กลับใช้คำว่า “เข้ารีตไทย” หรือ “ศาสนาข้างฝรั่ง”
แม้คริสต์ศาสนาจะเป็นของแปลกใหม่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่สุนทรภู่ก็เห็นและยอมรับว่า กิจกรรมของบรรดามิชชันนารีในชีวิตจริง นอกจากสอนศาสนาแล้วก็ยังมีการแจกยารักษาโรค, การตั้งสถานศึกษา ฯลฯ ที่เป็นสาธารณประโยชน์
เขาจึงไม่เขียนให้บาทหลวงในเรื่องถูกฆ่าตาย ทุกครั้งจะหนีรอดไปได้ และในตอนจบสังฆราชบาทหลวงก็แก่ชรา ยอมถอดใจที่ไม่สามารถกอบกู้เมืองลังกาได้
“มีความรู้สู้เขาก็ไม่ได้ แกแค้นใจราวกะถูกซึ่งลูกศร
ทั้งตัวแก่เกินการจะราญรอน สิ้นอาวรณ์เวียงวังเกาะลังกา”
แม้ว่าเป็นวรรณกรรมต่อต้านการล่าอาณานิคม แต่ด้วยฝีมือระดับสุนทรภู่ การต่อต้านจึงไม่ได้ดุดัน หรือทำให้ผู้อ่านเคร่งเครียดแต่อย่างใด
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุจิตต์ วงศ์เทศ. “วรรณคดีการเมือง ต่อต้านการล่าเมืองขึ้น” ใน, สุนทรภู่ เกิดวังหลัง ผู้ดีบางกอก มหากวีกระฎุมพี มีวิชารู้เท่าทันโลกและชีวิต, กองทุนการแบ่งปันเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะจัดพิมพ์ พ.ศ. 2547.
ปติสร เพ็ญสุต. “คริสต์ศาสนาในมโนทัศน์ของสุนทรภู่จากวรรณกรรมเรื่องพระอภัยมณี” ใน, ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2562.
เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มีนาคม 2568.
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : พระอภัยมณี วรรณคดีการเมืองที่สุนทรภู่แต่งสมัย ร.3 เพื่อต่อต้านอะไร?
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com