สวัสดีชาว Dek-D ค่ะ ถ้าพูดถึงประเทศที่หลายคนใฝ่ฝันอยากไปเรียนต่อ เชื่อว่าลิสต์อันดับต้นๆ จะต้องมี “สหราชอาณาจักร (UK)” และ “สหรัฐอเมริกา (USA)”อย่างแน่นอน เพราะอย่างที่รู้กันว่า 2 ประเทศนี้ระบบการศึกษามีคุณภาพ เป็นที่ตั้งของยูระดับท็อปโลก และเปิดกว้างให้กับชาวต่างชาติสามารถทำงานต่อได้หลังเรียนจบ เรียกว่ามีช่องทางต่อยอดได้ในระยะยาวเลยทีเดียว
แต่เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่แน่ใจว่าควรปักหมุดเรียนต่อปริญญาโทที่ไหนดี วันนี้เราเลยสรุปข้อมูลและประเด็นสำคัญๆ ที่ควรใช้พิจารณาก่อนตัดสินใจว่าจะเป็นทีมไหนดี ทั้งเกณฑ์การสมัครเรียน, ประเมินค่าใช้จ่ายเบื้องต้น, การขอวีซ่าทำงานต่อหลังเรียนจบ รวมถึงชี้พิกัดทุนการศึกษาด้วย จะมีเรื่องอะไรที่ควรอัปเดตบ้าง เลื่อนไปอ่านกันเลยค่ะ Let’s go~
……………………….
ตัวอย่างสาขายอดฮิต
อยากเรียนต่อสาขานี้ ควรเลือกที่ไหนดี?ถือว่าเป็นประเด็นท็อปๆ ที่หลายคนมักถามกัน ดังนั้นเรามาเริ่มต้นด้วยตัวอย่างสาขาวิชาที่คนนิยมไปเรียนต่อใน UK กับ USA กันก่อนเลยค่ะ
อังกฤษ
อเมริกา
วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science)
จิตวิทยา (Psychology)
การตลาด (Marketing)
การจัดการ (Mahagement)
สถาปัตยกรรมศาสตร์ (Architecture)
วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science)
วิศวกรรมสารสนเทศ (IT Engineering)
การเงิน (Finance)
การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ (Business Analytics)
การตลาด (Marketing)
วิทยาการข้อมูล (Data Science)
การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics)
Note:อย่างไรก็ตาม ตารางด้านบนก็ไม่อาจสรุปเป็นข้อมูลตายตัวได้เสมอไป แนะนำว่า ถ้าอยากเรียนสาขาไหน ให้ลองเช็กอันดับจาก QS World University Rankings by Subjectซึ่งเค้าจะสรุปข้อมูลมาให้ว่าถ้าอยากเรียนต่อด้านนี้ มีมหาวิทยาลัยอะไรจากประเทศไหนที่มีชื่อเสียงบ้าง(ค้นหาได้ทั้งโลก ไม่ได้จำกัดแค่ UK กับ USA) ลองเช็กให้ชัวร์ อาจจะช่วยให้เราพบคำตอบได้ง่ายขึ้น!
จะเรียนต่อ ป.โท ต้องใช้อะไรบ้าง?
มาต่อกันที่หัวข้อเบสิกอย่าง ‘เกณฑ์การสมัครเรียน’กันค่ะ สำหรับการสมัครเรียนที่สหราชอาณาจักรมักกำหนดเกณฑ์การพิจารณาเบื้องต้น ดังนี้
- ผลการเรียนระดับ ป.ตรี: ควรมีเกรดขั้นต่ำเทียบเท่า Upper Second-Class Honours (2:1) หรือLower Second-Class Honours (2:2) ของการเรียนในประเทศอังกฤษ ซึ่งถ้าจะเทียบกับ GPA ของมหาวิทยาลัยในไทยก็จะอยู่ที่ประมาณ 3.3-3.7 (2:1) และ2.8-3.2(2:2) นั่นเองค่ะ
- ผลสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ: ส่วนใหญ่ใช้ผลสอบ IELTS Academic ขั้นต่ำ band 6.5(อาจยื่นผลสอบประเภทอื่น เช่น TOEFL, PTE, CAE แทนได้) แต่หากใครไม่ชัวร์ว่าเราจะสอบได้ band ที่มหา’ลัยกำหนดไว้หรือไม่ อาจใช้ผลสอบ ‘IELTS UKVI’(แล้วแต่มหา’ลัย) ซึ่งได้รับการรับรองจาก UK Visas and Immigration (UKVI) แทนได้ โดยความพิเศษจะอยู่ที่กรณีสอบไม่ผ่านเกณฑ์ สามารถใช้ผลสอบนี้ยื่นสมัคร Pre-sessional English Course ซึ่งเป็นหลักสูตรปรับพื้นฐานภาษาอังกฤษก่อนเริ่มเรียน ป.โท ที่มหาวิทยาลัยใน UK ได้เลย (ไม่ต้องสอบใหม่)
ส่วนมหาวิทยาลัยฝั่งอเมริกากำหนดเงื่อนไขการสมัครเรียนเบื้องต้นไว้ ดังนี้
- ผลการเรียนระดับ ป.ตรี: ควรมี GPA ขั้นต่ำ 3.00
- ผลสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ: มักใช้ผลสอบ TOEFL ขั้นต่ำ 80 คะแนน ทั้งนี้อาจใช้ผลสอบประเภทอื่น เช่น IELTS, PTE, CAE แทนได้ (ขึ้นอยู่กับมหา’ลัย)
- ผลสอบ GRE หรือ GMAT: หลายมหา’ลัยกำหนดให้สอบ GRE (Graduate Record Examination) ซึ่งเป็นข้อสอบวัดความสามารถสำหรับสมัครเรียนต่อ ป.โท และสำหรับใครเล็งเรียนต่อ Business School (เช่น สาขา MBA, Marketing, Finance ฯลฯ) มักต้องสอบ GMAT (Graduate Management Admission Test) ที่ใช้วัดระดับสำหรับผู้ที่จะเรียนต่อในด้านนี้โดยเฉพาะเพิ่มเติมด้วย
Note:ทั้งนี้มหาวิทยาลัยอาจกำหนดเกณฑ์การรับสมัครแตกต่างจากที่ระบุไว้ด้านบนโปรดตรวจสอบที่หน้าเว็บไซต์ของแต่ละแห่งค่ะ
หลักสูตร & ระยะเวลาเรียน
เรื่องระยะเวลาในการเรียนก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่หลายคนใช้ในการตัดสินใจ ถ้าหากใครมีข้อจำกัดต้องการอัปเกรดความรู้ในระยะเวลาสั้นๆ ปักหมุดที่UK ก็น่าจะตอบโจทย์มากกว่า เพราะหลักสูตรระดับ ป.โท ของใช้เวลาเรียนประมาณ 9-12 เดือนโดยจะเน้นการเรียนแบบเจาะลึกในสาขาวิชานั้นๆสำหรับโพรเจกต์จบก็มีให้เลือกหลายประเภท (แล้วแต่หลักสูตร) เช่น วิทยานิพนธ์ (Dissertation), การฝึกงาน (Internship), โพรเจกต์ให้คำปรึกษา (Consulting Plan) เป็นต้น
ทางฝั่ง USAส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาเรียนประมาณ 2 ปี(อาจมีบางหลักสูตรใช้เวลาเรียนประมาณ 1 ปี ขึ้นอยู่กับหน่วยกิตของสาขานั้นๆ) ซึ่งการเรียนการสอนก็จะเน้นรอบด้าน ครอบคลุมทุกความรู้พื้นฐานแบบแน่นๆเพื่อให้นักศึกษาสามารถต่อยอดการเรียนช่วงครึ่งหลังของหลักสูตรได้ ส่วนโพรเจกต์จบก็มีหลากหลายทั้งวิทยานิพนธ์ (Thesis), Capstone Project และอื่นๆ
Note:ถ้าหากใครที่มีผลสอบวัดระดับภาษาไม่ถึงเกณฑ์ จะต้องเรียนปรับพื้นฐานก่อน จึงจะสามารถเรียนต่อ ป.โท ได้
ค่าเล่าเรียน
- ค่าเล่าเรียนที่ UKโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 17,109 ปอนด์/ปี(ประมาณ 755,190 บาท)
- ค่าเล่าเรียนที่ USAโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 22,000 ดอลลาร์/ปี(ประมาณ 768,000 บาท)
Note:
- แม้ค่าเล่าเรียนโดยเฉลี่ยต่อปีจะมีอัตราใกล้เคียงกัน แต่อย่าลืมว่าหลักสูตรที่อเมริกาใช้เวลาเรียนประมาณ 2 ปีดังนั้นจะต้องจ่ายค่าเล่าเรียนในปีการศึกษาถัดไปด้วยค่ะ
- แต่ละหลักสูตรมีค่าเล่าเรียนแตกต่างกัน แนะนำให้เช็กที่หน้าเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยโดยตรง
- ส่องอัตราค่าครองชีพของเมือง
- อ้างอิงเรตเงิน 1 ปอนด์ = 44.14บาท และ1 ดอลลาร์ = 34.94 บาท(อัปเดตเมื่อ 22 ธ.ค. 66)
เปิดรับสมัครเมื่อไหร่?
เชื่อว่าหลายคนอาจมีคำถามประมาณว่า “แล้วถ้าอยากสมัครเรียนต่อ ป.โท ที่ UK และ USAควรเตรียมตัวตอนไหนดีล่ะ?”การวางแผนเรื่องเวลานั้นก็สำคัญมากๆ ซึ่งโดยปกติแล้วควรเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี ก่อนวันเปิดรับสมัคร เพราะอย่างเรื่องขอเอกสารสำคัญบางอย่าง เช่น ใบวุฒิการศึกษา, ใบแสดงผลการเรียน, ผลสอบวัดระดับ ฯลฯ โดยเฉพาะกรณีที่ต้องแปลและนำไปรับรองที่กงสุล อาจใช้เวลานานและคาดเดาไม่ได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้เผื่อเวลาเอาไว้ และ+เริ่มดำเนินการอย่างน้อย 6-12 เดือนก่อนมหาวิทยาลัยเปิดรับสมัคร +
แล้วมหาวิทยาลัยจะเปิดรับสมัครเมื่อไหร่?ปกติแล้วมหาวิทยาลัยจะเปิดรับสมัครล่วงหน้า 1 ปี ก่อนปีที่เราจะไปเรียนค่ะยกตัวอย่างเช่น เมื่อมหาวิทยาลัยเปิดเทอม Fall ของปีนี้เสร็จปุ๊บ เค้าก็จะเปิดรับสมัครเทอม Fall ของปีถัดไปต่อเนื่องกันเลยค่ะ ก็คือใน 1 ปีเต็มๆ นี้เราต้องสมัครเรียน, ติดต่อมหาวิทยาลัย, ตอบรับ offer, ดำเนินการเรื่องวีซ่า, หาที่พัก, จองตั๋วเครื่องบิน พูดง่ายๆ ก็คือต้องดำเนินการให้เรียบร้อย จากนั้นจึงจะสามารถบินไปเข้าเรียนใน Intake ที่เราสมัครไปได้ // ว่าแล้วเรามาดู Timeline ของแต่ละประเทศกันว่า ในแต่ละเทอมเค้าเปิดรับสมัครช่วงไหนบ้าง?
Timeline สมัครเรียนต่อ UK
Intake
ระยะเวลารับสมัคร
September(เปิดเทอมเดือนกันยายน) เดือนกันยายน - มีนาคม January(เปิดเทอมเดือนมกราคม) เดือนกันยายน - พฤศจิกายน
Timeline สมัครเรียนต่อ USA
Intake
ระยะเวลารับสมัคร
Fall(เปิดเทอมเดือนกันยายน) เดือนสิงหาคม - ธันวาคม Spring(เปิดเทอมเดือนมกราคม) เดือนมกราคม - เมษายน Summer(เปิดเทอมเดือนมิถุนายน) เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม
Note:
- บางหลักสูตร/มหาวิทยาลัยอาจมีกำหนดการรับสมัครแตกต่างไป โปรดตรวจสอบที่หน้าเว็บไซต์ของแต่ละแห่ง
- บางเทอม (Intake) อาจไม่ได้เปิดรับสมัครทุกหลักสูตรดังนั้นเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย เราควรเช็กดีๆ ว่าคอร์สที่อยากเรียนนั้นเปิดรับสมัครเทอมไหน เพราะบางทีอาจมีคนสมัครเป็นจำนวนมาก และอาจรับแบบ first come, first serve (โดยส่วนใหญ่ถ้าเป็นเทอม Fall จะมีหลักสูตรเปิดรับสมัครเยอะกว่าเทอมอื่นๆ ค่ะ)
- ข้อมูลในตารางด้านบนอ้างอิงจากเว็บไซต์ UCAS ระบบส่วนกลางที่ใช้สมัครเรียนต่ออังกฤษ และ Hands Onผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนต่อ UK และ USA
ทำงานพาร์ตไทม์ได้ไหม?
แน่นอนว่าการเรียนต่อต่างประเทศนั้นมีภาระค่าใช้จ่ายจิปาถะมากมายที่ต้องรับผิดชอบ ที่ผ่านมานักศึกษาไทยหลายคนจึงหาช่องทางในการทำงานหลังเลิกเรียน เพื่อเพิ่มทั้งประสบการณ์และหาเงินเพื่อช่วยซัปพอร์ตค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไปในตัว ซึ่งความดีงามทั้งอังกฤษและอเมริกาก็คือ อนุญาตให้นักศึกษาในหลักสูตร ป.โท แบบเต็มเวลาสามารถทำงานพาร์ตไทม์ได้โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- UK: ช่วงเปิดเทอมสามารถทำงานพาร์ตไทม์ได้สูงสุด 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และทำงานเต็มเวลา (สูงสุด 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ในช่วงปิดเทอม
- USA : ช่วงเปิดเทอมสามารถทำงานพาร์ตไทม์ได้สูงสุด 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และทำงานเต็มเวลา (สูงสุด 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ได้ในช่วงปิดเทอม แต่ขอโน้ตไว้นิดนึงว่าต้องเป็นงานที่อยู่ภายในมหา’ลัย (on campus)เท่านั้นค่ะ
Graduate Visa
โอกาสหางานต่อหลังเรียนจบ
หลายคนที่วางแผนบินไปเรียน ป.โท มักจะสนใจเรื่องการทำงานต่อในประเทศนั้นๆ เพราะเป็นโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เรียนรู้วัฒนธรรม และอาจเป็นลู่ทางในการขอ PR ในอนาคตได้ ซึ่งทั้ง UK และ USA ต่างมีวีซ่าให้นักเรียนต่างชาติหางานหลังเรียนจบได้ ช่วยยืดระยะเวลาออกไปช่วงนึงค่ะ โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไขจะต่างกัน ดังนี้
UK : อนุญาตให้ผู้ถือStudent Visaระดับ ป.โท สามารถสมัคร Graduate Visaเพื่ออยู่หางานต่อได้ 2 ปี และเมื่อจบระยะวีซ่านี้แล้วสามารถสมัครวีซ่าประเภทอื่นๆ เพื่อพำนักต่อได้อีก เช่น Skilled Worker, Global Talent หรือ Innovator routes
USA: อนุญาตให้ผู้ถือ F Student Visaสามารถสมัครโปรแกรม Optional Practical Training (OPT)ประเภท Pre-completion OPT (ทำงานก่อนเรียนจบ) และ/หรือ Post-completion OPT (ทำงานหลังเรียนจบ) โดยแบ่งเป็น
กรณีเรียนจบสาขาอื่นๆ: ได้สิทธิ์ทำงานเป็นเวลา 12 เดือน
- กรณีเรียนจบสาขา STEM(Science, Technology, Engineering, Mathematics): ได้รับสิทธ์ขยายเวลาทำงาน (STEM OPT Extension) เพิ่มอีก 24 เดือน (รวมเป็น 36 เดือน)
Note:ยกเว้นกรณีถ้าหากเป็นนักเรียนทุน Chevening จากรัฐบาล UK จะมีเงื่อนไขว่าผู้ได้รับทุนต้องเดินทางกลับประเทศไทยและพำนักอย่างน้อย 2 ปีหลังเรียนจบจะไม่สามารถอยู่ต่อและทำงานได้ค่ะ
เปิดวาร์ปแหล่งทุนเรียนต่อ
อย่างที่รู้กันว่าไม่ว่าจะอเมริกาหรืออังกฤษก็ล้วนมีค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูง แต่อย่าเพิ่งนอยด์ไปค่ะ เพราะยังมีโครงการทุนหลายประเภทที่พร้อม support นักศึกษาต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นทุนจากมหาวิทยาลัย จากองค์กรต่างๆ และจากรัฐบาล สำหรับพาร์ตนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักทุนเต็มจำนวนจากรัฐบาล UK และ USA กันค่ะ!
Chevening Scholarships
ทุนชีฟนิ่งมอบโดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีศักยภาพความเป็นผู้นำ ประวัติการศึกษา-การทำงานโดดเด่น และมุ่งสร้างการเปลี่ยนเชิงบวกให้กับโลก สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพใน UK ได้
ความปังของทุนนี้คือเป็นทุนการศึกษาแบบเต็มจำนวนเป็นระยะเวลา 1 ปีเพื่อใช้เรียนต่อในระดับปริญญาโท แบบไม่จำกัดสาขาวิชาและจะเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยไหนก็ได้ใน UK
มูลค่าทุน & สิทธิประโยชน์
ค่าเล่าเรียนเต็มจำนวน
- ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ชั้นประหยัด
- ค่าตั้งรกราก (Arrival allowance)
- ค่าทำวีซ่าขาเข้า
- เงินสนับสนุนหลังเรียนจบ (Departure allowance)
- ค่าตรวจปอดเพื่อหาเชื้อวัณโรค (TB test) สูงสุด 75 ปอนด์ (ถ้ามี)
- ค่าเดินทางแบบเติมเงิน (Travel top up allowance)
- เบี้ยเลี้ยงรายเดือน ครอบคลุมค่าที่พักและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
- โอกาสเข้าร่วมเครือข่ายศิษย์เก่าทุนชีฟนิ่งกว่า 55,000 คน
ช่วงเวลาเปิดรับสมัคร: ประมาณเดือนกันยายน - พฤศจิกายนของทุกปีอ่านรายละเอียดที่เว็บไซต์ทางการ
Fulbright Thai Graduate Scholarship (TGS)
ทุนฟุลไบร์ทเป็นทุนเรียนต่อระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกณ มหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีโควตาให้คนไทยโดยเฉพาะ
เปิดรับสมัครทุกสาขาวิชา ยกเว้นแพทยศาสตร์ (Medicine), ทันตแพทยศาสตร์ (Dentistry), พยาบาลศาสตร์ (Nursing) และสัตวแพทยศาสตร์ (Veterinary Medicine)
มูลค่าทุน & สิทธิประโยชน์
ทุนเต็มจำนวนในปีการศึกษาแรก มูลค่าไม่เกิน $35,500 หากยังไม่จบหลักสูตรสามารถขอทุนต่อในปีที่สองได้ไม่เกิน $17,500
- ค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียน
- ประกันสุขภาพ
- ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ
- ได้รับวีซ่า J-1 (Exchange Visitor) สามารถฝึกงานหรือทำงานต่อได้ 9-18 เดือนหลังเรียนจบ และสามารถขอวีซ่าทำงานได้หลังกลับมาประเทศไทยแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี
ช่วงเวลาเปิดรับสมัคร: ประมาณเดือนมกราคม - เมษายนของทุกปีอ่านรายละเอียดที่เว็บไซต์ทางการ
มัดรวมแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์
หากใครต้องการหาข้อมูลการเรียนต่อในประเทศอังกฤษและอเมริกาเพิ่ม ขอแนะนำช่องทางต่อไปนี้ค่ะ
แหล่งข้อมูลสำหรับเรียนต่อ UK
- เว็บไซต์ UCAS(www.ucas.com) : เว็บไซต์ส่วนกลางที่ใช้สมัครเรียนต่อ และรวบรวมรายละเอียดการเรียนที่ UK ตั้งแต่ระดับ ป.ตรี-ป.เอก
- เว็บไซต์ Discover Uni (https://discoveruni.gov.uk/): เว็บไซต์การศึกษาในความร่วมมือของประเทศในเครือสหราชอาณาจักร
- FB เพจ “UK in Thailand”: เพจของสถานทูตอังกฤษ คอยอัปเดตข่าวสาร-เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ UK, รายละเอียดการขอวีซ่า และอื่นๆ
- FB เพจ “Chevening Awards (FCDO)”: อัปเดตข่าวการรับสมัครทุนชีฟนิ่ง และข้อควรรู้ต่างๆ
แหล่งข้อมูลสำหรับเรียนต่อ USA
- เว็บไซต์ EducationUSA (https://educationusa.state.gov/) : เว็บไซต์รวมรวมข้อมูลเพื่อการศึกษาต่อระดับปริญญาในสหรัฐอเมริกา
- FB เพจ “EducationUSA Thailand”: แชร์ข้อมูลการเรียนต่อ, โครงการแลกเปลี่ยน, ทุนการศึกษา ฯลฯ
- FB เพจ “Fulbright Thailand”: อัปเดตข่าวการรับสมัครทุนฟุลไบร์ทประเภทต่างๆ
อ่านรีวิวจากรุ่นพี่ #ทีมUK
- เปิดเส้นทางพิชิตทุน Chevening จนได้เรียนป.โทฟรีที่ King’s College London (+แชร์เทคนิคเพียบ)
- เมื่อเด็กสายภาษาบินลัดฟ้าไปอังกฤษ เริ่มชีวิต ป.โท Computer Science ใน Newcastle Univ.
- เจาะลึกขอทุนยันเรียนจบ ฉบับ 'มิ้นท์-พรปรียา' เด็กป.โทสาขาอาชญาวิทยาแห่ง 'Cambridge' #ทีมอังกฤษ
- Go Beyond Limits! เล่าชีวิตป.โท 1 ปีในรั้ว Warwick แห่ง UK กับหลักสูตรปั้นนักธุรกิจสุดครบเครื่อง (Innovation & Entrep.)
อ่านรีวิวจากรุ่นพี่ #ทีมUSA
- อยากเรียนต่อ ป.โท 'อเมริกา' เริ่มยังไงดี? รีวิวการเตรียมตัวจากศิษย์เก่า ม.ดังแบบจัดเต็ม!
- Ready Set Go! เล่าเส้นทาง ป.โท สู่การโกอินเตอร์เป็น 'นักออกแบบฉาก' ในอเมริกา
- ชีวิตเด็กโทควบเอกสุดท้าทายที่ U. of Virginia ในสหรัฐฯ กับบทบาทผู้ช่วยสอน/ผู้ช่วยวิจัย/อาจารย์พิเศษ!
- เล่าเส้นทางกว่าจะได้ทำงานที่ Microsoft (รีวิวกระชับ+เรียลๆ) โดย 'พี่ซอล' #ทีมอเมริกา
……………………….
เป็นยังไงบ้างคะกับข้อแตกต่างการเรียนต่อ ป.โท ที่ 2 ประเทศสุดฮิตที่เราสรุปมาให้ในวันนี้ สำหรับใครที่เลือกได้แล้วว่าจะเป็น#ทีมอังกฤษหรือ #ทีมอเมริกาขอแนะนำให้เตรียมเอกสารการสมัครไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ กันนะคะ แต่หากใครยังไม่แน่ใจก็แนะนำให้ศึกษาข้อมูลจากช่องทางต่างๆ ที่เราแปะไว้และหน้าเว็บไซต์ของหลักสูตรที่อยากเรียนค่ะ
สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า “แม้ความฝันนั้นจะไกลแค่ไหน แต่ก็เป็นไปได้เพียงแค่เราลงมือทำ”แล้วเจอกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ~
สำหรับใครที่มองหาโอกาสโกอินเตอร์ ตอนนี้มีหลายทุนกำลังเปิดรับสมัคร
ตามไปเช็กกันต่อได้เลยที่ "โปรแกรมค้นหาทุนเรียนต่อนอก by Dek-D"
ติดตามทุนต่อนอกง่ายๆ กับ Dek-D
Website: www.dek-d.com/studyabroad
X: @tornokandcourse
IG: @tornokandcourse
Facebook: Study Abroad เรียนต่อนอก by Dek-D
Facebook: Study Guide ไปเรียนต่อนอกกันเถอะ
TikTok: @tornokandcourse