เจาะลึกวงการดนตรี T-POP ต่อยอด ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ มุ่งสู่สากล
เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยากจะพัฒนาต่อยอดไปให้เป็น Soft Power ของประเทศไทย สำหรับวงการดนตรี ‘T-POP’ ที่จะเป็นแรงดึงดูดและแผ่อิทธิพลไปยังกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้ ในวงเสวนาโต๊ะกลม Youth In Charge ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, มูลนิธิเอสซีจี, soft power Ambassadors และเยาวชนจากแพลตฟอร์ม Youth In Charge ในหัวข้อ ‘การพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรี T-Pop สู่สากล’ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ได้มีการแสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ
พงศ์สิริ เหตระกูล ผู้บริหารค่ายเพลง NO1R และ Siam Music Festival กล่าวถึงความแตกต่างเมื่อเทียบกับอุตสากรรมดนตรีในต่างประเทศว่า แม้ประเทศไทยจะมีเงินทุนที่ไม่สามารถเทียบเท่าประเทศอื่น ๆ ได้ แต่ประเทศไทยไม่เคยขาดแคลนเรื่องของคุณภาพ รวมไปถึงความสามารถส่วนตัว ซึ่งคนไทยเป็นประเทศที่โดดเด่นในเรื่องของวิถีความมัน ความสนุกสนาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ดนตรีไทยแตกต่างไปจากต่างประเทศ นอกจากนี้ค่ายเพลงแต่ละค่ายของไทยจะแข่งขันกันดุเดือดอย่างมาก
ด้านอัษฎกร เดชมาก (AUTTA) ในฐานะศิลปินรุ่นใหม่ผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรี กล่าวถึงนักดนตรีเมื่อสมัย 10 ปีที่แล้ว ถึงอัตราค่าจ้างในการเล่นคอนเสิร์ตช่วงเวลากลางคืน เฉลี่ยประมาณ 500-1,000 บาท ซึ่งในปัจจุบันอัตราค่าจ้างก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอัตราค่าเงินเฟ้อ ทำให้รายได้ของนักดนตรีไม่สามารถดำรงชีพได้ จึงมองว่าคนที่จะมีอาชีพได้ต้องเป็นคนที่มีทักษะและเก่งมาก ๆ ในสายอาชีพนั้น ๆ
“ควรมีระบบในการดูแลศิลปินและนักดนตรีที่เพิ่งเริ่มต้น หรือยังไม่ได้ประสบความสำเร็จ เพื่อช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จและหล่อเลี้ยงชีพได้ด้วยอาชีพนักดนตรี” อัษฎกรกล่าว
ด้วยเหตุนี้ พงศ์สิริ จึงได้เผยถึงการดำเนินการพัฒนาในเรื่องของสวัสดิการ เพื่อที่จะสร้างระบบในการรองรับนักดนตรีและศิลปินไทย ไม่ว่าจะเป็นการที่ทำให้อาชีพฟรีแลนซ์มีสวัสดิการ เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ และระบบความปลอดภัยให้กับศิลปินในการแสดงคอนเสิร์ต รวมไปถึงการพัฒนาการตลาดในต่างประเทศ โดยสนับสนุนให้มีกองทุนในการผลิต ดังเช่นในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการทำมิวสิควิดีโอเพลง การอัดเพลง การเชิญศิลปินจากต่างประเทศมา Featuring และการสนับสนุนการเดินทางไปแสดงที่ต่างประเทศ
“ในส่วนทิศทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมปัจจุบัน คือ การพัฒนาในเรื่องของระบบโครงสร้าง ทำให้ระบบมีความสามารถและแข็งแรงมากพอที่จะทำให้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ยืนระยะยาวในวงการได้ โดยเฉพาะศิลปินที่ไม่มีตลาดเพลงอยู่ในไทย” พงศ์สิริกล่าว
ในฐานะบทบาทเจ้าของค่ายเพลงปิยะพงษ์ เล็กประยูร หรือ โปเต้ วง MEAN เผยว่า ค่ายเพลงจะอยู่ไม่ได้ถ้าขาดทุนไปเรื่อยๆ หรือไม่มีหัวหอก ดังนั้นจะมีศิลปินที่ประสบความสำเร็จ ที่มีรายได้ และเป็นหัวหอกของค่าย ในการเข้ามาสนับสนุนค่ายเพลง เพื่อการกระจายผลประโยชน์ไปสู่ศิลปินหน้าใหม่ หรือศิลปินอื่น ๆ ซึ่งเรียกว่าเป็น “คอมมูนิตี้”
และเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรีให้กลายเป็น Soft Power ของไทย ควรมีการคัดเลือก “หัวหอก” T-Pop ที่ได้รับความนิยมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อน ภายใต้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นอกจากนี้ ควรบูรณาการกับอุตสาหกรรมซีรีส์วายเพื่อเข้าถึงตลาดโลก และสนับสนุนดนตรีและศิลปินอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม เนื่องจากการพัฒนามาตรฐานดนตรีและบุคลากรเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อสร้างตลาดที่แพงสมมาตรฐานและผู้บริโภคยอมจ่าย
ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ นักประพันธ์เพลงและคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอให้สถานศึกษาสร้างเส้นทางอาชีพให้นักศึกษา เพื่อเสริมสร้างมุมมองให้เยาวชนเห็นความสำคัญของการเรียนและการนำไปใช้ในชีวิต ซึ่งได้นำเสนอแนวคิดจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้มีการร่วมงานกับค่ายเพลง ซึ่งเป็นสถานที่ ๆ ใช้สำหรับการเรียนรู้และฝึกอบรม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทักษะของนักศึกษาในสายอาชีพดนตรี และทำให้พวกเขาเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและ AI ในด้านดนตรีและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นักศึกษามีความพร้อมในสายอาชีพและต่อยอดในอนาคต
“เราไม่ได้แค่อยากจะเข้ามาเรียนหนังสือ แต่เราอยากมาเรียนเพื่อมีอนาคตที่ดีขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น ได้ทำงานในสิ่งที่รักในแง่ของดนตรี ซึ่งถ้าเราสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดนี้ได้ ท้ายที่สุดคนรุ่นใหม่ ที่สนใจดนตรีก็จะสามารถอยู่ในกลไกนี้ได้” ดร.ณรงค์กล่าว
นอกจากนี้ พงศ์สิริ ได้เสนอว่าให้มีการเชิญผู้จัดเทศกาลดนตรีจากต่างประเทศมาร่วมงานในประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานร่วมกัน และเพื่อสร้างการเข้าถึงที่ดีต่อศิลปินไทย รวมไปถึงการตระหนักรู้เกี่ยวกับศักยภาพของศิลปินไทย เพื่อส่งศิลปินไทยออกไปสู่สายตาคนทั้งโลกผ่านผลงานและการแสดงในเทศกาลดนตรีระดับโลก
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เจาะลึกวงการดนตรี T-POP ต่อยอด ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ มุ่งสู่สากล
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th
ความเห็น 0