เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 15 ธ.ค.2566 ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปในพิธีลงพระนามและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถวายรายงานถึงการลงพระนามและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับ 4 สถาบัน ด้วยพระปรีชาสามารถและด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลเพื่อที่จะทรงสร้างบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเป็นเลิศในวิชาชีพ มีความรู้และทักษะทางการแพทย์ ในวิชาชีพแพทย์และศาสตร์อื่นๆ และเพื่อเป็นการสนองพระปณิธาน หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตร 7 ปี 2 ปริญญา ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงมีความมุ่งมั่นที่จะผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาชีพตลอดจนทักษะทางด้านการวิจัย นวัตกรรม ควบกับศาสตร์ด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบวิชาชีพแพทย์ที่สามารถนำไปประยุกต์เพื่อรับใช้และพัฒนาสังคมให้ดียิ่งขึ้นไป
จึงได้ก่อให้เกิดความร่วมมือจาก 4 สถาบันหลักใน “โครงการหลักสูตรแพทยศาสตรบันฑิตควบคู่กับหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา” โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ยินดีให้ความร่วมมือ สนับสนุน และส่งเสริมการนำสาขาวิชาที่เปิดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาของคณะต่างๆ ไปเป็นสาขาวิชาควบให้กับนักศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน
ระยะแรกจะมีจำนวน 8 สาขาวิชา จากคณะวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และวิทยาลัยการจัดการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งหลักสูตรนานาชาติ สาขาพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม ของสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน
โดยมีสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ยินดีให้ความร่วมมือสนับสนุนนักวิจัย ห้องปฏิบัติการวิจัย ให้กับการเรียนการสอนหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ทั้งนี้เมื่อนักศึกษาแพทย์สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และปริญญาระดับบัณฑิตศึกษาจากสถาบันตามหลักสูตรที่เลือกเรียนอีก 1 ปริญญา รวมเป็น 2 ปริญญา
นอกจากนี้ในปี 2567 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดตั้งหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภายใต้โครงการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีรูปแบบการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียน มีกระบวนการคิด วิเคราะห์ และสร้างนวัตกรรม ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการหรือต่อยอดในเชิงพาณิชย์-อุตสาหกรรมได้.