โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เจาะตำนาน “วัดพนัญเชิง” อยุธยา อายุกว่า 700 ปี เกี่ยวอะไรกับ “สำเภาล่ม”?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 13 ส.ค. 2567 เวลา 03.29 น. • เผยแพร่ 10 ส.ค. 2567 เวลา 23.00 น.
cover-01
หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา (ภาพจาก /www.matichon.co.th)

วัดพนัญเชิง เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานว่าสร้างราว พ.ศ. 1867 หรือ 700 ปีมาแล้ว พุทธศาสนิกชนนิยมไปกราบไหว้ขอพร “หลวงพ่อโต” ที่วัดนี้ ที่นี่ยังมีเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงกับตำนาน “พระเจ้าสายน้ำผึ้ง” กับ “พระนางสร้อยดอกหมาก” เป็นมุขปาฐะเล่าเรื่องราวกรุงศรีอยุธยาช่วงก่อนการก่อตั้งเมืองในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ที่เกี่ยวพันกับเรื่อง “สำเภาล่ม” อีกด้วย

ตำนานพระเจ้าสายน้ำผึ้ง-พระนางสร้อยดอกหมาก

ตำนานเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในเอกสารประวัติศาสตร์ 2 แหล่ง คือ พงษาวดารเหนือ และ คำให้การชาวกรุงเก่า

พงษาวดารเหนือ กล่าวถึงตำนานเรื่องนี้โดยสรุปคือ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ทรงเดินทางไปเมืองจีน เพื่อไปรับ พระนางสร้อยดอกหมาก พระราชธิดาพระเจ้ากรุงจีน มาเป็นพระอัครมเหสี เมื่อพิสูจน์บุญญาบารมีให้เป็นที่ประจักษ์แก่พระเจ้ากรุงจีนแล้ว พระองค์ก็เดินทางกลับมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมด้วยพระนางสร้อยดอกหมาก และสำเภา 4 ลำ

ทั้งสองพระองค์ใช้เวลาเดินทาง 15 วันจากเมืองจีนสู่กรุงศรีอยุธยา เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จลงจากสำเภาตรงปากน้ำแม่เบี้ยมุ่งสู่พระราชวัง ทรงสั่งให้จัดตำหนักซ้าย-ขวา แต่ทรงไม่สะดวกมารับพระนางสร้อยดอกหมากด้วยพระองค์เอง จึงโปรดให้เถ้าแก่ขึ้นเรือพระที่นั่งมารับพระนางเข้าพระราชวัง

ทว่าพระนางสร้อยดอกหมากทรงมีพระประสงค์ให้พระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จมารับพระนางด้วยพระองค์เอง เถ้าแก่จึงกลับไปกราบทูลพระเจ้าสายน้ำผึ้งว่า พระนางสร้อยดอกหมากทรงไม่ยอมเสด็จมาหากพระองค์ไม่เสด็จไปรับ

พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงตรัสหยอกเล่นว่า “มาถึงที่นี่แล้ว จะอยู่ที่นั่นก็ตามเถิด” เมื่อพระนางทรงทราบก็ทรงเศร้าพระทัยมาก เมื่อพระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จมารับ พระนางทรงตัดพ้อไม่ยอมเสด็จ พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงตรัสว่า “ไม่มาก็อยู่นี่” พอตรัสเสร็จพระนางทรงกลั้นพระทัยจนสิ้นพระชนม์

เมื่อชาวจีนทราบว่าพระนางสร้อยดอกหมากสิ้นพระชนม์ ต่างพากันโศกเศร้าร่ำไห้ แล้วเชิญพระศพของพระนางมาถวายพระเพลิงที่แหลมบางกระจะ แล้วสร้างเป็นวัดขึ้นมีชื่อว่า “วัดพระเจ้าพระนางเชิง” (ต่อมาเพี้ยนมาเป็นวัดพนัญเชิง-ผู้เขียน)

ส่วน คำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวถึงตำนานเรื่องนี้ต่างออกไป โดยสรุปคือ พระนางสร้อยดอกหมากอภิเษกสมรสกับพระเจ้าประทุมสุริยวงศ์แห่งกรุงอินทรปัตถ์ (กัมพูชา) และพระนางสร้อยดอกหมากในพงษาวดารเหนือมีพระชนมชีพสั้น ส่วนพระนางสร้อยดอกหมากในคำให้การชาวกรุงเก่ามีพระชนมชีพสืบมา จนกระทั่งมีพระราชโอรสและพระราชธิดาถวายพระเจ้าประทุมสุริยวงศ์

แม้รายละเอียดจะต่างกัน แต่ที่เอกสารทั้งสองมีตรงกันคือ พระนางสร้อยดอกหมากกำเนิดจากจั่นหมาก

ที่มาวัดพนัญเชิง

ตำนานพระนางสร้อยดอกหมากในพงษาวดารเหนือ ถูกนำมาผูกโยงกับการเกิดวัดแห่งนี้ ขณะเดียวกัน พื้นที่นอกเมืองทางทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยา ฝั่งตรงข้ามวัด มีบริเวณที่เรียกว่า “ตำบลสำเภาล่ม”

เล่ากันว่า หลังจากนำพระศพของพระนางสร้อยดอกหมากมาประกอบพิธีที่บางกระจะแล้ว ชาวจีนที่ติดตามพระนางมาจากเมืองจีนพร้อมใจกันเจาะสำเภาเพื่อตายตามพระนาง

แต่ด้วยกระแสน้ำไหลเชี่ยว จึงพัดสำเภามาล่มอีกฝั่งแม่น้ำ เรียกบริเวณนั้นว่า “สำเภาล่ม”

หากพิจารณาภูมิศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 อธิบายว่า

แผ่นดินที่ตั้งกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมไม่ได้เป็นเกาะ แต่มีลักษณะคล้ายแหลมยื่นจากทุ่งหันตราทางทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก จนถึงแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลลงมาจากทิศเหนือ แล้วไหลวกลงเป็นแนวทางทิศใต้ที่หน้าวัด ทำให้แผ่นดินที่คล้ายแหลมนี้มีแม่น้ำล้อมรอบสามด้าน

ทิศตะวันออกมีลำรางสายเล็กเรียกคูขื่อหน้า ไหลจากหัวรอไปบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาที่หน้าวัดพนัญเชิง ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้ขุดขยายคูขื่อหน้าให้กว้างกว่าเดิม นานเข้าก็ทำให้สายน้ำในคูขื่อหน้าไหลเชี่ยวแรงจัดขึ้น กัดเซาะตลิ่งพังกว้างออกไป จนกลายเป็น แม่น้ำป่าสัก อย่างที่เรียกทุกวันนี้

บริเวณแม่น้ำป่าสักด้านทิศตะวันออกของกรุงศรีอยุธยาไหลเป็นทางตรง กระแสน้ำจึงไหลเชี่ยวกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลอย่างคดเคี้ยว จากทิศเหนือแล้วไหลวกลงเป็นแนวทางทิศใต้ กระแสน้ำด้านนี้จึงถูกชะลอ ไม่ไหลเชี่ยวมากเท่ากับแม่น้ำป่าสัก

จุดที่แม่น้ำทั้งสองสายมาบรรจบกันบริเวณวัด จึงเป็นจุดที่กระแสน้ำไหลเชี่ยวและมีปริมาณน้ำมาก หากไม่มีความรู้เชี่ยวชาญเดินเรือมากพอ ก็อาจทำให้เรือล่ม บริเวณนี้จึงอาจเป็นจุดที่มีสำเภาล่มมาก

นอกจากจุดที่แม่น้ำมาบรรจบดังกล่าว บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดไก่เตี้ยพฤฒาราม ตรงข้ามตำบลเกาะเรียน ซึ่งอยู่ห่างจากวัดและตำบลสำเภาล่มลงมาทางใต้ (คนละฟากแม่น้ำ) ราว 5 กิโลเมตร สันนิษฐานว่า อาจใช้เป็นจุดจอดสำเภาอีกจุดหนึ่ง พบโบราณวัตถุจากเรือที่จมอยู่ใต้แม่น้ำ อาจมีเรือสำเภาขนาดใหญ่บางลำมาล่มในบริเวณนี้ จนทำให้ได้รับการขนานนามว่า ตำบลสำเภาล่ม

เหตุนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่า สมัยหลังมีการผูกเรื่องชาวจีนเจาะสำเภาเพื่อตายตามพระนางสร้อยดอกหมากขึ้นมา เพื่ออธิบายที่มาของสถานที่บริเวณนี้ เป็นเรื่องเล่าที่ขยายต่อจากตำนานพระนางสร้อยดอกหมากนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

ปริวัฒน์ จันทร. (2546). เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง”. กรุงเทพฯ : มติชน.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2544). อยุธยายศยิ่งฟ้า. กรุงเทพฯ : มติชน.

ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์. (มกราคม-มิถุนายน, 2562). ศึกษาการอธิบายเหตุของสถานที่และภูมินามในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ปรากฏในตำนานเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก. อยุธยาศึกษา. ปีที่ 11 : ฉบับที่ 1.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 สิงหาคม 2567

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เจาะตำนาน “วัดพนัญเชิง” อยุธยา อายุกว่า 700 ปี เกี่ยวอะไรกับ “สำเภาล่ม”?

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com