โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

รอบโลก By กรุณา บัวคำศรี : เสียงที่ไม่มีใคร(อยาก)ได้ยิน

PPTV HD 36 Exclusive

อัพเดต 26 ธ.ค. 2560 เวลา 09.00 น. • เผยแพร่ 18 พ.ย. 2560 เวลา 10.39 น.

ตั้งแต่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 600,000 คนอพยพหนีตายจากรัฐยะไข่ไปยังค่ายอพยพบริเวณแนวชายแดนบังกลาเทศ ถือเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ขยายตัวเร็ว ฉุกเฉินและรุนแรงที่สุดในโลก  ในการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด มีความลำบากของคนอีกกลุ่มซุกซ่อนอยู่อีกชั้น คนกลุ่มที่ถูกจัดไว้ต่ำเตี้ยติดดินที่สุด นั่นคือผู้หญิง

ยะไข่หรือชื่อเดิมคืออาระกัน เป็น 1 ใน 14 รัฐของพม่าที่ยากจนที่สุด อยู่ทางชายแดนด้านตะวันตกของประเทศ  มีชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมอาศัยอยู่

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  อังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคม จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธให้ชาวโรฮิงญาเพื่อให้ช่วยต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ในขณะที่กองทัพพม่าร่วมมือกับญี่ปุ่นเพราะต้องการเป็นอิสระจากอังกฤษ การช่วยอังกฤษรบทำให้ชาวพม่าจำนวนหนึ่งรู้สึกว่า โรฮิงญามีส่วนในการขัดขวางการเรียกร้องเอกราช 

หลังพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ เกิดสงครามกลางเมืองในบังกลาเทศทำให้ชาวมุสลิมอพยพเข้าสู่รัฐยะไข่อีกเป็นจำนวนมาก  จุดกระแสการต่อต้านมุสลิมขึ้นมา โดยเฉพาะรัฐบาลเผด็จการทหารของนายพลเนวินที่ได้อำนาจจากการรัฐประหารเมื่อปี 1962 ปลุกกระแสชาตินิยมสุดโต่งโดยใช้ศาสนาพุทธเป็นประเด็นนำ

 ปี 1982 มีการออกกฎหมายพลเมืองฉบับใหม่  ระบุว่าชาวโรฮิงญา ไม่ใช่ชาวพม่าแต่เป็นชาวต่างชาติ การสูญสิ้นสถานะพลเมืองทำให้โรฮิงญาหมดโอกาสรับการศึกษาหรือทำงานในระบบ ถูกจำกัดการเคลื่อนย้าย ใช้ชีวิตภายใต้ความลำบากและไร้อนาคต

ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธ และมุสลิมโรฮิงญา ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อ ปี 2012 เกิดการจลาจลระหว่างชาวพม่าพุทธและชาวโรฮิงญามุสลิม มีการฆ่าและเผาทำลายบ้านเรือนจำนวนมาก นำไปสู่การจัดตั้ง “กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งรัฐอาระกัน” จนกระทั่ง 25 สิงหาคม 2017  สมาชิก ARSA โจมตีด่านตำรวจพม่า  เหตุปะทะกันทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยคน ทำให้กองทัพพม่าส่งทหารเข้าปฏิบัติการกวาดล้างอย่างรุนแรง จนมีอพยพออกจากรัฐยะไข่กว่า 6 แสนคน ในจำนวนนี้ กลุ่มผู้หญิง ดูเหมือนจะได้รับความลำบากมากที่สุด หลายคนถูกข่มขืนหรือละเมิดทางเพศ 

ใน กูตูปาลอง ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยใกล้ชายแดนบังคลาเทศ  หญิงสาวคนหนึ่งเล่าว่า เธอมาจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองมองดอว์ของรัฐยะไข่ในสหภาพเมียนมาร์  จนกระทั่งเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมาสามีของเธอถูกทหารจับตัวไป และมีทหารพม่า 3 คนบุกมาที่บ้านก่อนลงมือข่มขืนเธอ

หลังทหารถอนกำลังกลับไป เธอจึงเดินทางข้ามชายแดนมา พร้อมกับลูกอีก 5 คน  ใช้เวลา 2 สัปดาห์ ต้องกินใบไม้และน้ำฝนประทังชีวิต  จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานอิสระใดที่จะพิสูจน์สิ่งที่หญิงสาวเหล่านี้เล่าหรือบอกกล่าวได้ เพราะการเข้าถึง รัฐยะไข่ขณะนี้ยากลำบากและถูกจำกัด

โรฮิงญากลายเป็นคนไร้รัฐ ไร้แผ่นดิน กลุ่มคนที่โลกผลักไสไม่ต้องการ  จำนวนเป็นล้านคนที่อพยพหนีตายจากบ้านเกิด  บางส่วนอพยพไปยังประเทศที่สาม บางส่วนอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ส่งเสียงอ้อนวอนขอความเมตตา  แต่ในสังคมที่ผู้หญิงมีสถานะแค่สมบัติอย่างหนึ่งของครอบครัวเมื่อยังเด็กและของสามีเมื่อแต่งงาน พวกเธอจึงอยู่ล่างและต่ำที่สุด เสียงแห่งความเจ็บปวดของพวกเธอไม่มีใครได้ยิน

 

รอบโลก By กรุณา บัวคำศรี : เสียงที่ไม่มีใคร(อยาก)ได้ยิน
ตั้งแต่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 600,000 คนอพยพหนีตายจากรัฐยะไข่ไปยังค่ายอพยพบริเวณแนวชายแดนบังกลาเทศ ถือเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ขยายตัวเร็ว ฉุกเฉินและรุนแรงที่สุดในโลก ในการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด มีความลำบากของคนอีกกลุ่มซุกซ่อนอยู่อีกชั้น คนกลุ่มที่ถูกจัดไว้ต่ำเตี้ยติดดินที่สุด นั่นคือผู้หญิง
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ดูเพิ่มเติม PPTV HD 36 Exclusive