โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อุ้ง กมลนาถ: การต่อสู้เพื่อความยั่งยืนบนโลกแฟชั่นที่แสนแปดเปื้อน

a day BULLETIN

อัพเดต 25 ก.พ. 2563 เวลา 12.31 น. • เผยแพร่ 25 ก.พ. 2563 เวลา 12.31 น. • a day BULLETIN
อุ้ง กมลนาถ: การต่อสู้เพื่อความยั่งยืนบนโลกแฟชั่นที่แสนแปดเปื้อน

พูดถึง ‘แฟชั่น’ หลายคนอาจนึกไม่ออกว่าคำคำนี้จะโยงไปหาคำว่า ‘สิ่งแวดล้อม’ หรือความยั่งยืนอย่างไรบ้าง ทุกวันนี้ผู้คนตื่นตัวต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น แต่รู้ไหมว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมบางเรื่องก็ฝังตัวอยู่ในอุตสาหกรรมที่ ‘ใกล้ตัว’ เรามากๆ อย่างเช่น ‘อุตสาหกรรมแฟชั่น’ นี่เอง อุตสาหกรรมนี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเป็นอันดับสองของโลก และมีข่าวเรื่องการจ้างแรงงานที่ไม่เป็นธรรมออกมาให้ได้ยินอยู่เสมอ

        เมื่อเสื้อผ้าที่เราสวมใส่กลายเป็นตัวการสำคัญของปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม หลายภาคส่วนจึงออกมาผลักดันแนวคิดพัฒนาธุรกิจแฟชั่นอย่างยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ‘อุ้ง’ - กมลนาถ องค์วรรณดี อดีตบล็อกเกอร์มากประสบการณ์ที่หลังจากเรียนจบด้านสิ่งทอจาก Royal College of Art ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็ผันตัวเองมาทำงานร่วมกับกลุ่ม ‘Fashion Revolution’ ที่มีเครือข่ายมากกว่า 100 แห่งทั่วโลก ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution Thailand 

        หลังจากได้รับมอบหมายหน้าที่นี้มา อุ้งและทีมงานก็ทุ่มเทผลักดันประเด็นแฟชั่นยั่งยืนในประเทศไทยด้วยการสื่อสารให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคตระหนักรู้ถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาจากการบริโภคเสื้อผ้าแบบมาเร็ว ไปเร็ว ทิ้งเร็ว อย่าง ‘Fast Fashion’ พร้อมสนับสนุนกระบวนการผลิตในท้องถิ่นและเรียกร้องความโปร่งใสในอุตสาหรรมนี้

        a day BULLETIN ชวนอุ้งมาสร้างบทสนทนาว่าด้วยแฟชั่น ในคอลัมน์ ‘Fashion Matter’ ว่าทำอย่างไรแฟชั่นจะไม่ได้เป็นเพียงความงามแบบฉาบฉวยอีกต่อไป แต่เป็นความยั่งยืนที่ไม่ทิ้งภาระไว้ให้โลกอนาคต 

 

อุ้ง กมลนาถ
อุ้ง กมลนาถ

สิ่งที่ Fashion Revolution Thailand กำลังผลักดันในตอนนี้มีเรื่องอะไรบ้าง

        โดยหลักๆ Fashion Revolution Thailand ผลักดันอยู่ 2 ด้านใหญ่ๆ ด้านแรกเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อม เราพยายามรณรงค์รณรงค์ให้เห็นผลกระทบจากฟาสต์แฟชั่น แต่ไม่ได้บอกว่าคุณจะต้องเลิกซื้อไปเลยนะ เราเพียงนำเสนอวิธีการบริโภคอย่างอื่นที่สามารถสนุกกับแฟชั่นได้ และเสื้อผ้าไม่กลายเป็นเรื่องขยะ หรือเรื่องกดขี่แรงงานในอุตสาหกรรม เช่น การจัดกิจกรรม ‘Clothes Swap’ อีเวนต์สนุกๆ ที่เปิดพื้นที่ให้คนนำเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใส่แล้วมาแลกกัน เพราะเรามองว่าขยะที่เรามีเยอะที่สุดก็คือขยะในตู้เสื้อผ้าของเราเอง แน่นอนว่า ทุกคนมีเสื้อผ้า แต่เราไม่ได้ใส่ทุกตัว แทนที่จะไปซื้อใหม่ เราก็เอามาแลกกันดีกว่า แล้วคุณจะรู้เลยว่าเสื้อตัวนี้ไม่มีผีแน่ๆ เพราะเรารู้จักคนแลกเสื้อกับเราโดยตรง 

        อีกด้านหนึ่งเป็นประเด็นสังคม เราทำงานเกี่ยวกับการให้ความรู้เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการทำสื่อเล็กๆ จัดงานอีเวนต์ จัดเวิร์กช็อป และก็ชวนผู้บริโภคที่เขาสนใจเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืนมาเจอกัน มาร่วมกันหาทางเรียกร้องแบรนด์ หรือแชร์ข้อมูล แชร์ไอเดียว่าการที่เราจะเป็นผู้บริโภคที่ยั่งยืนขึ้นในแง่ของเสื้อผ้าแฟชั่นจะทำได้อย่างไรบ้าง เช่น แฮชแท็ก #WhoMadeMyClothes ที่เราทำกันอยู่ ก็เป็นการชวนผู้บริโภคให้ใช้โซเชียลมีเดียของตัวเองตั้งคำถามกับแบรนด์ ในเรื่องของค่าแรงที่เป็นธรรม ว่ามีคนให้คุณค่า ให้ความสนใจคนที่อยู่เบื้องหลังเสื้อผ้าที่เราใส่ไหม  

คำว่า ‘ยั่งยืน’ มันมีหลายมิติมาก แต่ในวงการแฟชั่นความยั่งยืนคือเรื่องอะไรบ้าง

        เท่าที่เห็นตอนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ว่าสิ่งที่ Fashion Revolution ริเริ่มมาและเชื่อว่าจะทำต่อไป ก็คือเรื่อง ‘คน’ ทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และการดูว่าแรงงานเขาได้รับการปฏิบัติที่ดีจากผู้ว่าจ้างหรือเปล่า บางทีคนก็อินกับเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม จนลืมความเป็นมนุษย์ในสายการผลิตไป ถ้าของทุกอย่างยั่งยืนจริง แต่ค่าแรงนรกเหมือนเดิม อันนั้นก็ไม่ยั่งยืนอยู่ดี เราไม่อยากให้ไปมองเรื่องความยั่งยืนว่าต้องเป็นถุงผ้ารักษ์โลกหรือหลอดพลาสติก จนลืมว่าจริงๆ แล้ว ถ้ามนุษย์เป็นต้นกำเนิดของปัญหาสิ่งแวดล้อม คนที่จะแก้ก็คือมนุษย์ ดังนั้น ถ้าเราปฏิบัติต่อมนุษย์ให้ดีเป็นอันดับแรก เขาจะมีความสามารถไปทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นเอง เพราะปัญหานี้มันกดกันอยู่เป็นทอดๆ ทุกอย่างก็เลยเชื่อมโยงกันหมด 

ส่วนหนึ่งที่อุตสาหกรรมแฟชั่นยังมีปัญหาด้านแรงงานอยู่เป็นเพราะความหละหลวมของกฎหมายในประเทศผู้ผลิตซึ่งเป็นประเทศโลกที่สามหรือเปล่า 

        เกี่ยวมาก เพราะเมื่อก่อนฐานการผลิตเสื้อผ้าจะอยู่ที่อเมริกา อยู่ที่ยุโรป และเขาทำเยอะมากจนเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา ทำให้ต้องย้ายฐานการผลิต แต่ก็มีการออกกฎหมายการค้าระหว่างประเทศที่สนับสนุนให้สามารถย้ายไปประเทศโลกที่สามได้ โดยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี ได้รับข้อยกเว้นทางการค้าต่างๆ ซึ่งก็ทำให้แบรนด์สามารถจ้างการผลิตได้ในราคาถูกกว่า ค่าแรงต่ำกว่า แต่ไม่ได้มีกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหรือแรงงาน มันจึงเป็นเหมือนการตัดความรับผิดชอบนิดหนึ่งว่า ‘ก็ฉันจ้างที่นี่แล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของฉันแล้ว ต้องเป็นหน้าที่ของโรงงานที่นั่นที่เขาจะต้องดูแล’ อย่างที่บังกลาเทศจะเป็นตายร้ายดีอย่างไรบริษัทแม่ก็ไม่สนใจ เพราะถือว่าเขาเป็นลูกค้า 

        ในขณะเดียวกันกฎหมายเรื่องการคุ้มครองแรงงาน หรือการรักษาสิ่งแวดล้อมของบังกลาเทศก็ค่อนข้างละหลวมมากเพราะไม่มีความโปร่งใสอยู่เยอะ มันก็เลยเกิดปัญหาพวกนี้ตามมา แล้วบางทีแบรนด์เขาก็ไม่สามารถรู้เลยว่าโรงงานที่เขาไปจ้างมันมีการไปจ้างต่อเป็นทอดๆ เพื่อให้มันถูกลงเรื่อยๆ นี่ก็เป็นความหละหลวมของกฎหมายเช่นกัน แต่เราเชื่อว่าถ้ามีประเทศที่ตั้งกฎหมายขึ้นมาคุ้มครองก็จะไม่มีปัญหานี้เกิดขึ้น อย่างประเทศเราก็ไม่ได้มีเรื่องพวกนั้นแล้ว แต่พอประเทศเราไม่ได้ เขาก็เลยย้ายไปบังกลาเทศ กัมพูชา เวียดนาม ซึ่งถ้าเกิดกฎหมายที่นั่นแข็งขึ้นมา ปัญหาก็จะไปสู่ประเทศที่จนกว่านี้ แล้วก็เป็นการถูกกดไปเรื่อยๆ

        ความหวังของเราก็เลยอยู่ที่ผู้บริโภค ซึ่งเราไม่ได้มองว่าเป็นผลักภาระให้ผู้บริโภคนะ แต่เราเชื่อว่าผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญหลักที่จะเรียกร้อง เพราะสุดท้ายถ้าคุณไม่ซื้อเขา เขาก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งมันเป็นกลไลตลาดที่พื้นฐานมากเลย แต่ถ้าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่ได้ตื่นตระหนก หรือรับรู้เรื่องนี้ หรือว่ามองว่ามันสำคัญ หรือมองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ต่อไป 

คุณเคยกล่าวเอาไว้ว่าแฟชั่นหากจะยั่งยืนจริงได้จริง ไม่ใช่แค่การทำ ‘Green marketing’ แต่ต้องรู้ทันโครงสร้างการล่าอาณานิคมที่เป็นรากฐานของแนวคิดทำลายทรัพยากรและวัฒนธรรม อธิบายให้ฟังหน่อยว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร 

        อันนี้ลึกมาก คือมันไม่ใช่แค่เรื่องของแฟชั่น แต่ว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องบริโภคนิยมที่เป็นวัฒนธรรมหลักของยุคนี้ เพราะถ้าเรามองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์แฟชั่น อุตสาหกรรมแฟชั่นก็ถูกสร้างขึ้นมาบนแนวคิดบริโภคนิยม คือเมื่อก่อนพวกเราเป็นเพียงทาสหรือไพร่ที่ไม่สามารถเข้าถึงแฟชั่นได้ ส่วนคนที่มีสิทธิ์แต่งตัวสวยจะเป็นกลุ่มชนชั้นสูง จากนั้นเสื้อผ้าของชนชั้นสูงก็ค่อยๆ กลายเป็นเทรนด์ขึ้นมาและขยายความนิยมไปยังประชาชนทั่วไปหรือในประเทศอื่นๆ แฟชั่นจึงผูกกับเรื่องอำนาจว่าใครมีอิทธิพลด้านวัฒนธรรมมากกว่ากัน ซึ่งวัฒนธรรมตะวันตกก็เข้ามาขยายอิทธิพลในยุคล่าอาณานิคม อย่างของไทยเราก็ต้องเปลี่ยนการแต่งกายจากแบบเดิมไปเป็นแบบตะวันตก ซึ่งปัจจุบันเทรนด์แฟชั่นก็ถูกตั้งมาจากประเทศเพียงไม่กี่ประเทศ ส่วนเสื้อผ้าอื่นๆ ที่ไม่ตรงกับเทรนด์ก็เลยถูกมองว่าล้าสมัย มันจึงเป็นเรื่องความพยายามที่จะทำลายความหลากหลายด้วยการให้ทุกคนต้องตามเทรนด์เดียวกัน 

        อีกเรื่องคือการผลิต ประเทศที่รวยกว่าสามารถเลือกได้ว่าตัวเองจะโบยขี้ไปไว้ที่ไหน แล้วใช้แรงงานเขา สูบทรัพยากรเขา หรือเอาขยะเสื้อผ้าไปทิ้งไว้ในประเทศเขา โดยไม่สนใจว่าคนที่นั่นจะเป็นตายร้ายดียังไง เหมือนกับเขาเป็นทาส เหมือนประเทศเขาเป็นที่ทิ้งขยะของคนรวย ลักษณะนี้เรามองว่าเป็นการล่าอาณานิคมสมัยใหม่ เพียงแต่รูปแบบมันเปลี่ยนไป ไม่ได้มีสงคราม ไม่ได้มีคนยิงปืนไล่ แต่เป็นเรื่องของการทำการค้า อำนาจการต่อรอง หรือว่าเรื่องกลไกต่างๆ ที่ยังคงมีอยู่

ปัจจุบันแบรนด์แฟชั่นใหญ่ๆ ตื่นตัวกับความยั่งยืนมากขนาดไหน 

        ถ้าพูดในมุมของอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก ตอนนี้ฝั่งแบรนด์ลักชัวรีตื่นตัวกันมากๆ อย่าง บริษัท LVMH ที่ดูแลแบรนด์ลักชัวรีกว่า 30 แบรนด์ทั่วโลก ก็ตระหนักเรื่องความยั่งยืน และดีไซเนอร์ที่เขาจ้างเข้ามาดูแลแต่ละแบรนด์ก็มีนโยบายที่จะออกมาผลักดันเรื่องนี้เป็นหลัก 

        ขณะเดียวกันแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นก็ไม่ได้นิ่งเฉย คือเขารู้ว่าตัวเองกำลังโดนโลกประณาม เขาจึงได้แบ่งเงินจำนวนมากมาลงทุนในการพัฒนาวัสดุ หรือจัดโครงการให้นักวิทยาศาสตร์ส่งงานวิจัยเส้นใยใหม่ๆ ที่จะช่วยทำให้เกิด Circular Economy ได้ไวขึ้น แต่บางแบรนด์ถ้าปรับตัวไม่ทันก็จะเกิดสตาร์ทอัพใหม่ๆ เข้ามาดิสรัปต์ในที่สุด อย่างที่อเมริกา ธุรกิจเช่าเสื้อผ้ามือสองชื่อว่า ‘Rent the Runway’ เป็นสตาร์ทอัพที่ทำเงินได้เยอะมากในตอนนี้ ซึ่งมันก็จะมีคนที่คิดโมเดลดีกว่ามาทดแทนเขาไปเรื่อยๆ แต่คนที่จะอยู่ยากคือแบรนด์ที่ไม่มีจุดยืนว่าจะทำอะไร  

มีแบรนด์ไหนบ้างที่เป็นโมเดลของแฟชั่นยั่งยืนในยุคปัจจุบัน 

        ก็มี Patagonia ที่เขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ยุค 70-80s ก่อนที่จะมีคำว่ายั่งยืนอีก เรียกว่าเป็นผู้นำก็ได้ ตอนนี้ก็ยังเป็นผู้นำอยู่ เขามีแคมเปญหนึ่งที่ทำขึ้นในช่วง Black Friday ด้วยการขึ้นป้ายโฆษณาใหญ่มากว่า ‘Don't buy this jacket’ ฟังเหมือนเป็นการปั่นกระแสมากๆ แต่จริงๆ แล้วเขาต้องการบอกว่าเสื้อผ้าทุกชิ้นของเขาสามารถนำกลับมาซ่อมที่ช็อปได้โดยไม่ต้องซื้อใหม่ แล้วในช็อปเขาก็มีคุณลุงนั่งไถจักรอยู่ เลยกลายเป็นว่าเมื่อแคมเปญนี้ออกไป สินค้ากลับขายได้มากกว่าเดิม เพราะคนไปดูที่ช็อปด้วยความอยากรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในร้าน และคนที่ยังไม่เคยเป็นลูกค้าของเขาเลยก็ให้ความสนใจ

        ส่วนแบรนด์ลักชัวรีก็น่าจะเป็น Stella McCartney ที่เป็นผู้นำไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไม่ใช้ขนสัตว์ ไม่ใช้หนังสัตว์ แถมตอนนี้เขายังเริ่มที่จะร่วมมือกับคนที่คิดค้นวัสดุใหม่ๆ ด้วย ซึ่งเรามองว่าอันนี้น่าสนใจมาก อย่างเช่น กระเป๋ารุ่นคลาสสิกของทางแบรนด์ แต่เดิมเป็นสายโซ่และใช้หนังเทียม แต่ตอนนี้เขาลองเปลี่ยนมาใช้หนังที่ผลิตจากเห็ดแทน แล้วเขาก็เป็นดีไซเนอร์คนแรกๆ ที่กล้าใช้ กล้าทำ และก็ทำให้เหมือนเรื่องนี้มันเป็นเทรนด์ขึ้นมา

        อีกแบรนด์ที่เป็นฝั่งลักชัวรีเหมือนกัน แอาจจะไม่ได้สะท้อนออกมาทางตัวผลิตภัณฑ์เยอะ แต่เป็นเคสที่น่าสนใจก็คือ Prada ซึ่งเป็นแบรนด์แรกที่ไม่ได้พูดอย่างเดียวว่าจะทำ แต่เขาไปกู้เงินระยะ 5 ปี แล้วเอาอัตราดอกเบี้ยไปผูกกับพันธะสัญญาว่าฉันจะยั่งยืนขึ้นให้ได้ในด้านอะไรบ้าง ถ้าเขาทำไม่สำเร็จตามนั้นดอกเบี้ยจะขึ้น ก็คือเหมือนเอาเงินไปพนันนั่นเอง แล้วเขาก็ให้คำมั่นด้วยว่ากระเป๋าผ้าไนลอนของเขาทุกใบจะต้องผลิตจากไนลอนรีไซเคิลให้ได้ภายใน 5 ปี และก็ไม่ใช่แค่เรื่องเสื้อผ้า แต่ร้านค้าทุกร้านของเขาวัสดุที่ใช้ต้องผ่านพลังงานสะอาด ต้องมีอาคารสีเขียวที่ผ่านตามตัวชี้วัดของเขา

 

อุ้ง กมลนาถ
อุ้ง กมลนาถ

เมื่อฟาสต์แฟชั่นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่สโลว์แฟชั่นก็มีกระบวนการผลิตที่ช้า ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคไม่ทัน แบรนด์จะหาจุดกึ่งกลางของสิ่งนั้นได้ยังไง

        ถ้าพูดในมุมอุตสาหกรรมคือมันสโลว์ไม่ได้อยู่แล้ว มันต้องเร็ว แต่ว่าเรื่องหนึ่งที่เป็นเหมือนแนวคิดหลักของโลกตอนนี้ก็คือ ‘Circular Economy’ หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ แบบแรกคือเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบชีวภาพ ทุกอย่างที่เข้ามาในระบบนี้จะต้องย่อยสลายได้หมด จะไม่นำวัสดุที่ย่อยสลายไม่ได้มาผลิตรวมกันเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นเดียว ส่วนอีกแบบหนึ่งจะเป็นพวกนวัตกรรมต่างๆ อย่างผ้าโพลีเอสเตอร์ หรือเส้นใยที่ใช้ผลิตเสื้อผ้ากีฬาทั้งหลาย ที่สามารถรีไซเคิลได้ไม่รู้จบ ถ้าเรารีไซเคิลอย่างถูกวิธี ความพยายามอีกเรื่องของอุตสาหกรรมตอนนี้จึงเป็นการคัดแยกขยะเสื้อผ้า ถ้าเป็นมุมของดีไซเนอร์ก็จะต้องเรียนรู้เรื่องการออกแบบด้วยวิธี Circular design ตั้งแต่ขั้นตอนแรกว่าเขาจะไม่เอาวัตถุดิบที่หลากหลายมาปนกัน เหมือนเป็นมาตรฐานใหม่ของดีไซเนอร์ยุคนี้เลยว่าเวลาจะออกแบบอะไรต้องคิดถึงจุดจบของมันว่า เมื่อคนเราใช้เสร็จแล้วจะแยกชิ้นส่วนทิ้งถังขยะได้ไหม 

        ตอนนี้ในมุมของฟาสต์แฟชั่นคือผลิตให้มากที่สุด ขายให้มากที่สุด แต่ความเป็นจริงคือ ถ้าขายไม่ได้ ส่วนที่ขายไม่ได้สุดท้ายเขาก็เอาไปเผา เพราะถ้าทิ้งแบรนด์จะเสียภาพลักษณ์ บริจาคก็ไม่ได้เดี๋ยวแบรนด์ดูไม่ดีอีก ก็เลยต้องเผา ตรงนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่แบรนด์ต้องจัดการ ซึ่งเรามองว่าแบรนด์ต้องมีการใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลต่างๆ ที่สามารถประมวลผลได้ว่าการผลิตครั้งต่อไปควรผลิตกี่ชิ้น เพื่อสอดคล้องกับปริมาณที่ผู้บริโภคต้องการจริงๆ  

ในฐานะผู้บริโภคเราจะเติมส่วนที่ขาดหายไปของ ‘แฟชั่นยั่งยืน’ ให้เต็มได้อย่างไร

        อย่างแรกคือการตระหนักว่า จริงๆ แล้วเสื้อผ้าที่เราซื้อกันอยู่มีราคาถูกเกินไป คือขายตัวละ 150 บาท แล้วคนเย็บจะได้ตัวละเท่าไหร่ อันนี้คือเรื่องหนึ่ง ขณะเดียวกันเรื่องที่อยากจะให้ค่อยๆ เปลี่ยนคือการสร้างความคิดว่า ‘Buy less choose well make it last’ ซึ่งเป็นคำที่ วิเวียน เวสต์วูด เคยพูดไว้ ก็คือ ซื้อให้น้อยลง เลือกให้ดีขึ้น ใช้ให้ยาวนาน ถ้าเรารู้จักสไตล์ตัวเองและเลือกในสิ่งที่เหมาะกับเราจริงๆ เสื้อผ้าชิ้นนั้นจะสามารถใส่ไปได้ยาวๆ ถึงแม้ว่าจะมีราคาแพงมาก แต่คุณภาพมันก็ดีด้วย ถ้าหารเอาจำนวนปีที่เสื้อผ้าคงอยู่ได้ หรือจำนวนครั้งที่เราใส่ได้ คำนวณออกมาแล้วมันถูกกว่าเสื้อผ้าที่เราใส่ 4 ครั้งแล้วเยินอีก เราไม่ได้บอกว่าทั้งตู้ต้องมีแต่เสื้อผ้าดีๆ ราคาแพง แต่เราควรจะซื้อสักตัวที่เป็นของคลาสสิก ใส่ได้นานๆ และก็มีตัวที่จะช่วยเพิ่มสีสันให้กับเราผสมๆ กันไป แล้วความสำคัญอย่างหนึ่งของเสื้อผ้าที่เราใส่คือ มันเป็นตัวแทนของเรา คืออัตลักษณ์ที่คุณอยากจะให้โลกเห็นคุณแบบไหน คุณก็แต่งแบบนั้น แต่ถ้าเกิดกลับมารู้จักตัวเอง รู้ว่าเรามีคุณค่าและจุดยืนเรื่องอะไร แฟชั่นของเราก็ไม่จำเป็นต้องวิ่งตามกระแสแฟชั่น เพราะแฟชั่นคือสิ่งที่เราต้องไปไล่ตาม แต่สิ่งที่มันจะอยู่กับเราจริงๆ และไม่มีวันหายไปไหน คือสไตล์ 

        อีกอย่างหนึ่งก็คือไอเดีย ‘Capsule Wardrobe’ ที่ตอนนี้บล็อกเกอร์แชร์กันเยอะมาก ซึ่งเป็นวิธีการเล่นกับเสื้อผ้าที่เรามีอยู่ สมมติมีเสื้อผ้าแค่ 12 ชิ้น แต่เราแมตช์ออกมาได้ 30 ลุกส์ ทั้งเดือนจะแมตช์ออกมาให้แต่ละลุกส์ไม่เหมือนกันเลยสักวัน โดยการเพิ่มเครื่องประดับต่างๆ เข้าไปแทน ก็เป็นวิธีที่ช่วยให้คนมาสนุกกับการแต่งตัว โดยที่เราไม่ต้องไปซื้อเยอะตลอดเวลา ซึ่งก็มีหลายแบรนด์ที่ชูคอนเซ็ปต์นี้ ด้วยการทำให้เสื้อผ้าของเขามีคอลเลกชันที่สามารถมิกซ์แอนด์แมตช์ได้ทุกวัน

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าแบรนด์ที่ใช้โปร่งใสจริง เมื่อกระบวนการผลิตมีขั้นตอนที่ยาว เบื้องต้นเราสามารถตรวจสอบได้ด้วยวิธีไหนบ้าง

        มีแอพพลิเคชันชื่อว่า ‘Good on you’ ที่เราสามารถเข้าไปอ่านได้ว่าตั้งแต่กระบวนการผลิตของแบรนด์เป็นอย่างไร และเขาจะมีการให้คะแนนอยู่ 3 เรื่อง คือแรงงาน สิ่งแวดล้อม และสัตว์ แต่พูดตรงๆ ว่าไม่มีแบรนด์ไหนเพอร์เฟ็กต์หรอก เพราะมันโฟกัสทุกเรื่องพร้อมกันไม่ได้ เราต้องเลือกเอาว่าตัวเองอยากให้ความสำคัญกับเรื่องไหน แต่แอพฯ นี้ค่อนข้างดีเพราะรวบรวมแบรนด์ใหญ่ๆ ทั่วโลก และมีรีวิวเยอะมาก แต่ถ้าเป็นแบรนด์เล็กๆ ความยากของผู้บริโภคก็คือบางทีเราไม่มีได้มีเวลามานั่งทำการบ้านขนาดนั้น เราอาจจะเข้าไปอ่านคอนเซ็ปต์ของแบรนด์เขา ดูวิธีการสื่อสาร ดูว่าเขารู้ที่มาของผลิตภัณฑ์ตัวเองไหม ถ้าเขาเล่าอย่างละเอียดแปลว่าเขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับสายพานการผลิตของตัวเอง แต่มันก็อยู่ที่คุณด้วยว่าอยากจะเอาเงินที่มีไปให้กับธุรกิจแบบไหน เอาไปให้ฟาสต์แฟชั่นหรืออยากเอาไปให้ธุรกิจเล็กๆ ที่เขาตั้งใจทำ ซึ่งก็แล้วแต่เรา เพราะอำนาจมันอยู่ในกระเป๋าตังค์ของคุณเอง 

ภาพรวมของวงการแฟชั่นโลกในปี 2020 จะเป็นอย่างไร ทั้งตัวแบรนด์เองและพฤติกรรมของผู้บริโภค

        เราเห็นว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคค่อนข้างตื่นตัวเรื่องนี้มากๆ โดยเฉพาะฝั่งยุโรป เพราะเขาเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ค่อนข้างหลุดจากความเป็นผู้บริโภค และมีวัฒนธรรมของตัวเอง ถ้าเราไปเดินในเมืองใหญ่ๆ ในยุโรปเราจะเห็นโซนที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์แบบนี้มากๆ ไม่ว่าจะเป็น zero market, zero waste shop fashion ในเมืองเขาทุกอย่างมันเอื้อต่อการใช้ชีวิตให้กรีนขึ้น แล้วการไปตลาดนัดเปิดท้ายขายของก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเรื่องของคนจนนะ แต่มันกลายเป็นความฮิปด้วยซ้ำว่าเจ๋งมากที่มีสิ่งนี้อยู่

        ในขณะเดียวกันเราก็เห็นการเติบโตของเทรนด์นี้ที่ไทยเหมือนกัน ซึ่งเรื่องสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นเทรนด์ใหญ่ที่สุดของปีที่ผ่านมาก็ว่าได้ จากการลดการใช้พลาสติก แต่เรื่องของเสื้อผ้าก็ยังมีคนไม่เข้าใจว่ามันเป็นขยะได้ด้วย เพราะจริงๆ แล้วเสื้อผ้าเราก็เป็นโพลีเอสเตอร์ซึ่งก็คือพลาสติกเหมือนกัน แต่เราเชื่อว่าพอคนเริ่มหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น อุปสรรคในการสื่อสารจะลดลง 

แล้วตลอดทศวรรษ 2020s นี้ คิดว่าเทรนด์แฟชั่นจะพัฒนาไปในทิศทางไหน 

        คิดว่าผู้คนอาจจะเริ่มหันมาสนใจเสื้อผ้าที่พวกเขาสามารถผลิตเองได้มากขึ้น มีสตาร์ทอัพหนึ่งชื่อว่า ‘Maker Revolution’ ที่ทำเป็นเหมือนเครื่องพิมพ์เสื้อผ้าออกมา ออกแบบเอง พรินต์ออกมาใส่เอง เราเลยมองว่าในทศวรรษนี้ในวงการแฟชั่นจะมีความหลากหลายมาก และทุกคนมีทางเลือกมากขึ้น

        อย่างหนึ่งที่มาชัดๆ เลยคือเรื่องของ Digital Fashion ต่อไปคนเราจะใช้ชีวิตอยู่บนโลกเสมือนมากขึ้น โดยที่ยังสามารถเอนจอยกับแฟชั่นได้อยู่ ตอนนี้ก็เริ่มเห็นว่ามี AI ที่เข้ามาเล่นใน Virtual Platform ของแบรนด์ลักชัวรีมากขึ้น อย่าง Louis Vuitton ก็มีการออกแบบเสื้อให้ตัวละครในเกม League of Legends ซึ่งตรงนี้จะตอบโจทย์คน Gen Z กับ Gen Alpha ที่เขาจะโตมาในความเป็น Native Digital เลยอาจไม่ได้มาสัมผัสกับโลกภายนอกมากขึ้น และถ้าเราดูการเติบโตของโลกในอีกสิบปี ทุกอย่างมันก็จะเป็นดิจิตอล หรือเป็นอีคอมเมิร์ซหมดเลย

        แล้วก็มีเรื่องของนวัตกรรมวัสดุ ตั้งแต่เรื่องเส้นใย ไปจนถึงฟังก์ชันที่ในอนาคตชุดกีฬาเราอาจจะวัดเหงื่อ วัดอัตราการเต้นของหัวใจได้โดยไม่ต้องใส่สมาร์ตวอตช์แล้วก็ได้ ที่อเมริกาเริ่มทำแล้ว ที่ญี่ปุ่นเองก็เริ่มมีบริษัทสตาร์ทอัพเกี่ยวกับเสื้อผ้าที่ใช้เส้นใยจากเปลือกส้ม กล้วย หรือเอา DNA ของแมงมุมมาเพาะในแล็บทำเป็นเส้นใยแบบ Spider Silk โดยที่ไม่ต้องมีแมงมุมสักตัว เราจึงน่าจะเริ่มเห็นการนำงานคราฟต์จากในอดีตมารวมกับเทคโนโลยีแล้วพัฒนาต่อ

ถ้าในอีก 10 ปีข้างหน้า Sustainable Fashion ยังไม่เป็นรูปธรรม อุตสาหกรรมแฟชั่นจะสร้างผลกระทบให้กับโลกอย่างไรบ้าง

        เราไม่อาจรู้ได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่เท่าที่เห็นตอนนี้คือขยะจะล้นโลกแล้ว ซึ่งคาดหวังว่าตอนนั้นเรื่องของ Circular Economy น่าจะเป็นทางเลือกให้เยอะขึ้น แต่เชื่อว่าตราบใดที่เรายังไม่ได้ให้คุณค่ากับเรื่องของสังคม สิ่งแวดล้อม แม้แต่ตัวเอง มันก็ไม่ยั่งยืน เพราะเราก็ไหลไปตามกระแสเรื่อยๆ และคนจะกลับมาคิดถึงคุณค่าเหล่านี้ก็ต่อเมื่อเราเจออะไรสักอย่างในชีวิตที่มันไม่ไหวแล้ว

        เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งที่เรียนด้วยเขาบอกเราว่า วิกฤตของโลกตอนนี้ไม่ใช่วิกฤตของสิ่งแวดล้อมหรือสังคม พวกนั้นมันเป็นปลายเหตุ แต่จริงๆ มันเป็นวิกฤตทางปัญญา มันเหมือนกับคนไม่คิดเพื่อตัวเอง ตั้งแต่การศึกษา ผลิตออกมารับใช้สังคม พอเขาพูดคำนี้มันก็จริงนะ คือเราคิดแค่ว่าต้องทำงานให้ได้เงินเยอะมากที่สุด เพื่อจะได้จับจ่าย ซื้อรถ ซื้อบ้าน มีชีวิตที่ดี มันเป็นเรื่องของความสะดวกสบายส่วนตัวหมดเลย แต่การคิดแบบนี้แหละที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้าเกิดคุณอยากจะให้ยั่งยืนจริงๆ ต้องกลับมามองดูระบบการให้คุณค่าที่สังคมหลอมขึ้นมา เราต้องกลับไปวิเคราะห์ตั้งแต่จุดนั้น และถ้าสิ่งนั้นมันเปลี่ยน คนจะเริ่มคิดได้ 

 

Fashion Matters

        เราอยากเขียนถึงแฟชั่นในมุมที่นิตยสารแฟชั่นหลักๆ อาจจะไม่ค่อยได้พูดถึง เช่น ประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม และฉากหลังของวงการแฟชั่น ว่ามัน Matter อย่างไรบ้าง คอลัมน์ ‘Fashion Matters’ จึงเป็นการชวนคนอ่านมาค้นพบความซับซ้อนและย้อนแย้งต่างๆ ของอุตสาหกรรมแฟชั่น ตั้งแต่เทคโนโลยีและงานคราฟต์, สไตล์และเทรนด์, การบริโภคและความยั่งยืน, ธุรกิจและความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้ทุกคนเข้าใจความสำคัญของแฟชั่นมากขึ้น และคิดถึงผลกระทบของแฟชั่นทั้งในเชิงบวกและลบ 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0