ไม่ว่าใครก็ต้องเคยมีอาการหูอื้อข้างเดียวกันทั้งนั้น ส่วนใหญ่มักจะเกิดอาการนานๆ ครั้ง และก็ยังสามารถรักษาให้หายได้ด้วยตนเอง เช่น ขยับกราม หรือปิดจมูกไล่ลมแรงๆ
แต่ถ้าหากมีอาการหูอื้อแล้วได้ยินเสียงลดลง หรือมีเสียงอยู่ในหูบ่อยๆ นั่นอาจหมายถึงเกิดความผิดปกติภายในหู ก็เป็นได้
มาดูกันว่า หูอื้อข้างเดียวเกิดจากอะไร และมีวิธีรักษา หรือวิธีป้องกันดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง
หูอื้อ
หูอื้อ (Tinnitus) เป็นอาการที่หูมีอาการเสียงอื้อดังอยู่ในหู รู้สึกเหมือนมีแมลงอยู่ด้านใน หรือมีเสียงดังตุบๆ หรือได้ยินเป็นเสียงแหลม จนทำให้การได้ยินเสียงจากภายนอกลดลง
มักเกิดขึ้นในขณะที่อยู่ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม หรือเป็นโรคอื่นแฝงอยู่ โดยสามารถเกิดข้างเดียว หรือสองข้างก็ได้ ซึ่งมีทั้งแบบเป็นอันตราย และไม่เป็นอันตราย ดังต่อไปนี้
- เสียงดังแบบแหลม เป็นความผิดปกติของหูชั้นใน หรือเกิดจากสภาพของหูเสื่อมลง สามารถเกิดขึ้นได้ข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่เป็นอันตราย แต่ค่อนข้างรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่หลับ เพราะได้ยินตลอดเวลา ซึ่งการนอนไม่หลับจะส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม
- เสียงดังแบบได้ยินตามอวัยวะต่างๆ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของหูชั้นนอก หรือหูชั้นกลางก็ได้ มักเกิดในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ เนื่องจากมีแรงดันหูไม่ดี หรือหูระบายอากาศทำได้ไม่ดี เช่น อาการปวดหูขณะขึ้นเครื่องบินที่มักเป็นๆ หายๆ แต่หากปวดรุนแรงเป็นระยะเวลานานๆ อาจหมายถึงมีโรคร้ายแฝงอยู่
- เสียงดังแบบตุบๆ เหมือนมีเสียงชีพจรเต้นดังก้องอยู่ในหู มีสาเหตุมาจากเนื้องอกในหูชั้นนอก ซึ่งถ้าเป็นเนื้องอกสีแดงอาจลุกลามได้เร็ว และต้องรีบรักษา โดยอาการในลักษณะนี้มักจะเป็นอาการของหูอื้อข้างเดียว
สาเหตุของหูอื้อข้างเดียว
หูชั้นนอก เช่น ขี้หูอุดตัน เยื่อแก้วหูทะลุ หูชั้นนอกอักเสบ เนื้องอกของหูชั้นนอก
หูชั้นกลาง เช่น หูชั้นกลางอักเสบ,น้ำขังอยู่ในหูชั้นกลาง เนื่องจากท่อยูสเตเชี่ยน (ท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูก)ทำงานผิดปกติ โรคหินปูนในหูชั้นกลาง
หูชั้นใน สาเหตุที่พบได้บ่อยสุด คือ ประสาทหูเสื่อมจากอายุ นอกจากนั้นเส้นประสาทหูอาจเสื่อม สาเหตุอาจเกิดจาก
- การได้รับเสียงที่ดังมากในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้เส้นประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน (acoustic trauma) เช่น ได้ยินเสียงปืน เสียงระเบิด เสียงประทัด
- การได้รับเสียงที่ดังปานกลางในระยะเวลานาน ๆ ทำให้ประสาทหูเสื่อมแบบค่อยเป็นค่อยไป (noise-induced hearing loss)เช่น อยู่ในโรงงาน หรือยู่ในคอนเสิร์ตที่มีเสียงดังมากๆ
- การใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู (ototoxic drug)เป็นระยะเวลานาน เช่น salicylate, aminoglycoside, quinine, aspirin
- การบาดเจ็บของกะโหลกศีรษะแล้วมีผลกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน (labyrinthine concussion)
- การติดเชื้อของหูชั้นใน (labyrinthitis) เช่น ซิฟิลิส ไวรัสเอดส์
- การผ่าตัดหูแล้วมีการกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน
- มีรูรั่วติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน
- เป็นโรคมีเนีย หรือน้ำในหูไม่เท่ากัน
ความผิดปกติภายในสมอง โรคของเส้นเลือด เช่น เส้นเลือดในสมองตีบ เลือดออกในสมอง ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เนื้องอกในสมอง เช่น เนื้องอกของเส้นประสาทหู และ/หรือ ประสาทการทรงตัว(acoustic neuroma)
ความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดแดงมีการเชื่อมต่อที่ผิดปกติกับหลอดเลือดดำ (arteriovenous malformation)
สาเหตุอื่นๆ เช่น โรคโลหิตจาง โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคเกล็ดเลือดสูงผิดปกติ โรคที่มีระดับยูริกในเลือดสูง โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตต่ำ โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคต่างๆ เหล่านี้สามารถทำให้เกิดเสียงดังในหูได้
การวินิจฉัย
การวินิจฉัย จะอาศัยการซักประวัติ และการตรวจอื่นๆ เพื่อหาสาเหตุต่างๆ ที่เป็นไปได้ ดังต่อไปนี้
- การตรวจหู และบริเวณรอบหู
- การตรวจการได้ยิน
- การวัดความดัน ท่านอน ท่านั่ง และท่ายืน
- การตรวจเลือด เพื่อหาความผิดปกติของเคมีในเลือด
- การตรวจปัสสาวะ
- การตรวจคลื่นสมองระดับก้านสมอง
- การถ่ายภาพรังสี เช่น เอกซเรย์ คอมพิวเตอร์สมองหรือกระดูกหลังหู ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ฉีดสารรังสีเข้าหลอดเลือด
การรักษา
รักษาตามสาเหตุ ซึ่งแบ่งการรักษาได้เป็น การรักษาด้วยยา และการผ่าตัด
อย่างไรก็ตาม เสียงดังในหูที่เกิดจากพยาธิสภาพของหูชั้นใน เส้นประสาทหู และระบบประสาทส่วนกลางนั้น มักจะรักษาไม่หายขาด โดยเฉพาะหากเกิดจากประสาทหูเสื่อม ยกเว้นว่าสาเหตุดังกล่าวเป็นสาเหตุที่รักษาได้
นอกจากนั้นถ้าเกิดจากประสาทหูเสื่อม ควรหาสาเหตุ หรือปัจจัยที่จะทำให้หูเสื่อมเร็วกว่าผิดปกติ เพื่อหาทางชะลอความเสื่อมนั้นด้วย ในบางรายอาจไม่ทราบสาเหตุ หรือทราบสาเหตุแต่ก็เป็นสาเหตุที่รักษาไม่ได้ อาการอาจหายไปได้เอง หรือจะมีอยู่ตลอดชีวิตก็ได้
การป้องกันหูอื้อข้างเดียว
ควรปรับการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการหูอื้อข้างเดียวด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- เมื่อเป็นโรคหวัดจะต้องรักษาหวัดให้หาย อย่าปล่อยให้เป็นโรคเรื้อรัง
- รับประทานวิตามินเสริม เช่น วิตามินบี 12 เพื่อบำรุงระบบประสาท และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการหูอื้อข้างเดียว
- ควรพักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการฟื้นฟูอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย
วิธีการดูแลตนเองเมื่อมีอาการหูอื้อข้างเดียว
หากมีอาการหูอื้อข้างเดียวร่วมกับอาการวิงเวียนศีรษะ ทรงตัวไม่อยู่ เป็นไข้ หรือเป็นหวัดแล้วหูอื้อ อาการเหล่านี้ยังเกิดขึ้นบ่อยจนกระทบชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาการหูอื้ออาจรุนแรงขึ้นได้
ระหว่างนั้นผู้ป่วยจะต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าหู และหมั่นทำความสะอาดเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าไปข้างใน
อาการหูอื้อข้างเดียวแม้จะไม่ได้เป็นอาการที่น่ากลัว แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง รวมทั้งดูแลตนเองตามลักษณะอาการที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที จึงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้หาย หรือทุเลาจากโรคนี้ได้
ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android
👨⚕️⚕️👩⚕️⚕️ ค้นหาโรค อาการ ยา โรงพยาบาล คลินิก และอ่านบทความสุขภาพ เขียนโดยคุณหมอหรือผ่านการรีวิวจากคุณหมอแล้ว ที่ www.honestdocs.co และ www.honestdocs.id
💪❤️ ไม่พลาดข้อมูลดีๆ ที่จะทำให้คุณแข็งแรงขึ้นทั้งกายและใจ คลิกที่นี่เพื่อแอดไลน์ @hdcoth หรือแสกน QR Code ด้านล่างนี้ และยังติดตามเราได้ที่ Facebook และ Twitter วันนี้
📱📰 โหลดแอป HonestDocs สำหรับ iPhone หรือ Android ได้แล้ววันนี้! จะอ่านบทความ จะเก็บบทความไว้อ่านทีหลัง หรือจะแชร์บทความให้คนที่เราเป็นห่วง ก็ง่ายกว่าเดิมเยอะ
เปรียบเทียบดีลสุขภาพ ทำฟัน และความงาม จาก รพ. และคลินิกกว่า 100 แห่ง พร้อมจองคิวผ่าน HonestDocs คุณหมอมือถือได้เลยวันนี้ ถูกกว่าไปเอง
ขอบคุณที่วางใจ ทุกเรื่องสุขภาพอุ่นใจ ให้ HonestDocs (ออเนสด็อกส์) คุณหมอมือถือ ดูแลคุณ ❤️