“ธนาธร” ลั่น! ผมไม่ใช่ภัยคุกคามของประเทศ
หากพูดถึงกระแสของการเมืองไทยในโลกออนไลน์ ก็คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นาทีนี้ ไม่มีใครจะเป็นที่น่าจับตาได้เท่ากับ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" และพรรคอนาคตใหม่ของเขา ที่เป็นภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ ที่กล่าวว่าพวกเค้าพร้อมที่จะนำทางเลือกใหม่มาให้สังคมไทยที่หยุดนิ่งในเกมการเมืองแบบเดิมมากว่าสิบปี วันนี้เราจึงขอเชิญธนาธร ออกจากโลกออนไลน์มาร่วมพูดคุยในโลกจริงถึงมุมมอง ความคิด ทิศทางการเมือง และปัญหาสังคมง่ายๆ ที่เขากล่าวว่ามัน อธิบายได้ด้วยสิ่งที่เราพบเจออยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว
ปัญหาสำคัญที่สุดของการเมืองไทยปัจจุบันคืออะไร
“…คนหมดหวังครับ คนหมดศรัทธากับสถาบันทางการเมืองทุกสถาบัน ในพรรคการเมือง ระบอบรัฐสภา กระบวนการยุติธรรม ถามว่าวันนี้คุณจะเชื่อคำตัดสินศาลไหม ว่ามันจะออกมาด้วยความยุติธรรม มันจำเป็นที่จะต้องกอบกู้ภาพลักษณ์ของสถาบันทางการเมืองขึ้นมาใหม่ทำให้การเมืองไทยมีชีวิตชีวาอีกครั้งนึงขณะเดียวกันก็ต้องมีความหมายด้วยไม่ใช่ออกมาทำให้สนุก ตื่นเต้น ออกมาแฉกันแล้วไม่มีความหมาย มีความหมายในที่นี้หมายความว่าอะไร ก็คือมีจุดยืน มีอุดมการณ์ที่แน่ชัดว่าจะพาสังคมไทยเราไปในแนวทางไหน เรามองไม่เห็นคนที่ทำแบบนี้ นั่นคือเหตุผลว่า เฮ้ย ! ต้องมีใครสักคนมาทำ จริงๆ ผมไม่ได้อยากมาทำงานการเมืองเลย ผมก็มีความสุขกับชีวิตของผมมาก แต่ผมหมดหวังกับสังคม และผมเชื่อว่าคนในสังคมไทยเป็นล้านคนรู้สึกแบบเดียวกันกับผม งั้นกลับมาทำด้วยกันครับ กลับมาให้ทุกคนเชื่อมั่นว่า อนาคตที่ดีกว่านี้เป็นไปได้…”
แล้วปัญหาปากท้องของประชาชนที่เรามองว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดเลยคืออะไร ?
“…การไม่เข้าถึงสิทธิของตัวเองครับผมยกตัวอย่างง่ายๆ ผมเพิ่งไปภาคใต้มา ภูเก็ต พังงา กระบี่ นี่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวมาก รู้ไหม สิ่งที่ชาวบ้านเค้าอยากได้คืออะไร ? เค้าอยากได้ท่าเรือระดับโลกครับ ท่าเรือระดับโลกหมายความว่าอะไร คือท่าเรือที่ห้องน้ำสะอาด มีทางลาดสำหรับผู้พิการ มีราวจับที่ปลอดภัย มีศักยภาพที่จะรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ อยากได้ท่าเรือแบบนี้คุณต้องทำอะไรบ้าง หนึ่ง คุณต้องไป กระทรวงการคลัง ไปติดต่อ อบต. อบจ. กระทรวงมหาดไทย คุณต้องไปติดต่อกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปกรมอุทยานฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม นี่อย่างน้อยนะ กว่าจะได้มา ทั้งๆที่เค้ามีศักยภาพที่พัฒนาต่อไปได้ แต่ทำไมมันไม่เคยเกิดขึ้นจริงล่ะ ?
หรือเอาง่ายๆ อย่างจังหวัดอยุธยา คนอยุธยาน้ำท่วม เพื่อให้พื้นที่เมืองและเขตอุตสาหกรรมน้ำแห้ง คนในพื้นที่นี้มีส่วนร่วมในการจัดการน้ำท่วมไหม ไม่นะ แต่เค้ารับผิดชอบอย่างเดียว เป็นเวรกรรมของเค้ารึเปล่า ? ไม่ใช่นะ คนที่รับน้ำเค้าต้องเสียเวลาอยู่กับน้ำสามเดือน นอกจากนั้นแล้วเมื่อน้ำลดยังต้องซ่อมบ้าน ขนของลงอีก แล้วคุณไปบอกว่าเค้าจนนี่คือความเหลื่อมล้ำใครพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมแต่ไม่พูดเรื่องนี้ไม่รู้จริงไม่เคยคุยกับชาวบ้านจริง คนที่เปียกไม่เคยได้รับค่าชดเชย จากการเปียก เพื่อให้คนบางกลุ่มแห้ง คนที่แห้ง ไม่เคยต้องจ่ายอะไรเลยเพื่อให้ตัวเองแห้ง นี่เป็นเรื่อง Simple แต่ Serious มากนะ ไม่ใช่เรื่องอะไรเลย นอกจากสิทธิ์ในการเข้าถึงทรัพยากรของคุณไม่เท่ากัน สิทธิ์ในการกำหนดอนาคตตัวเองเราไม่มีไง รัฐยัดเยียดให้หมด แล้วสิ่งที่รัฐดึงอาไปจากประชาชนธรรมดา ก็คือทรัพยากรทุกอย่างเพื่อมาสนับสนุนสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ของคนบางกลุ่มเท่านั้นเอง…”
เราเคยกล่าวไว้ว่า “ประเทศไทยมีศักยภาพจะไปไกลได้มากกว่านี้แต่เพราะหลังจากรัฐประหารปี๔๙เราอยู่กับความขัดแย้งมา๑๒ปี” ศักยภาพของประเทศที่เราอยากจะส่งเสริมคืออะไรบ้าง
“…ประเทศเราทำได้หลายอย่างมากเลยนะ อย่างท่าเรือที่เล่าไปแล้ว แต่ไม่มีใครแสดงให้เห็นว่าเค้าทำได้ สนับสนุนเค้า เราเป็นไทยที่วิวัฒน์ตัวเองได้ ยกตัวอย่าง คุณดู K-Pop สิ ถามว่ามันเป็นเกาหลีไหม ทุกคนรู้ แต่ขายได้ทั่วโลก ของเราคุณไปดูสิ เรามีไทบ้าน เดอะซีรีส์ เป็นอะไรที่น่าส่งเสริมมาก มันเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นมาก ถ่ายทำในต่างจังหวัดทั้งหมด เว่าอีสานกันทั้งเรื่อง แล้วงบครั้งแรกผมเข้าใจว่าใช้สิบล้าน แต่ขายได้สี่สิบล้าน กำไรสี่เท่าตัว น่าทึ่งไหมล่ะ ศักยภาพของท้องถิ่น สนับสนุนเค้าสิ ไม่ใช่สนับสนุนให้เค้า ขายความเป็นอีสานที่ยากจน ให้คนอีสานดูต้องการความเห็นอกเห็นใจ ไม่ใช่เลย คุณไปดูเพลงลูกทุ่งที่ฮิตๆ สองร้อยสามร้อยล้านวิวเป็นเรื่องปกติ แต่คนกรุงไม่รู้เลย คุณไปดูรักควายควายสิ มีฉากไหนในรักควายควายที่ต้องแต่งชุดไทยออเจ้ากันไหม ? ไม่มีนะ สร้างวัฒนธรรมที่เชิดชูท้องถิ่นบ้างไม่ใช่ว่าท้องถิ่นต้องเป็นคนแบมือขอไปตลอดอย่าเห็นเค้าเป็นคนที่ต้องได้รับการอุปถัมป์แต่เห็นเค้าเป็นคนที่มีศักยภาพที่ควรจะได้รับสิทธิของตัวเองที่ตัวเองพึงมี
แต่คุณไปดูเลย กระทรวงวัฒนธรรมเราเวลาให้งบอะไรใหญ่ๆ ทั้งหมด เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างหนัง ภาพยนตร์ หรือเรื่องเกี่ยวกับการสนับสนุนให้วัฒนธรรมจารีตนิยมอยู่ต่อไปในสังคมได้ยาวนาน ทำไมคุณไม่ไปสนับสนุน B-Boy บ้างล่ะ Rapper นี่รู้จักบ้างไหม เขาเป็นวัฒนธรรมเหมือนกันไหม เป็นนะ วัฒนธรรมเยาวชนเมือง คนจนเมืองพวกเค้าไม่มีใครไปดูพระนเรศวรหรอก นี่เป็นวัฒนธรรมของเค้า แต่เราไปสนับสนุนให้วัฒนธรรมการที่ทำให้การดำรงอยู่ของความล้าหลังในสังคมไทยมันเป็นไปได้ Break มัน ทำลายมันให้สิ้นซาก สร้างสังคมใหม่ สร้างการเชิดชูวัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนธรรมใหม่ๆ ไม่ใช่วัฒนธรรมที่รับใช้แต่คนที่ได้รับผลประโยชน์ในสังคมไทย…”
แล้วคิดอย่างไรบ้างเมื่อชนชั้นกลางพูดว่านโยบายที่ผ่านๆมามุ่งดูแลแต่คนท้องถิ่นรากหญ้าโดยที่ไม่ได้สนใจชนชั้นกลางที่จ่ายภาษีแบกรับค่าใช้จ่ายของประเทศส่วนใหญ่เลย
“…ผมนี่เป็นคนที่เติบโตในกรุงเทพฯ และเพื่อนของผมส่วนใหญ่ก็เติบโตในกรุงเทพฯ ไม่ได้อยากให้เข้าใจผิด แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนที่โตมาในเมืองได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมแต่มันไม่ใช่ความผิดของเค้านะเพราะเค้าไม่ใช่คนออกแบบระบบดังนั้นต้องบอกว่า คนที่บอกว่าตัวเองต้องจ่ายภาษีมากกว่าคนอื่นนี้ ได้รับสิทธิพิเศษ คุณจึงสามารถจ่ายภาษีมากกว่าคนอื่นได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องการสร้างเขื่อน เขื่อนนี่ทำลายวิถีชีวิตชุมชน ป่าไม้ไปหมดเลยนะ แล้วคนที่อยู่ตรงนั้น ไม่ได้ใช้ ใช้น้อยมาก แล้วไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากตรงนั้นเอาไปไหน เอาไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ในเมือง ถามว่าคุณได้ประโยชน์จากการสร้างเขื่อนไหม ชัดๆ เลย คำถามคือ ที่คุณจ่ายภาษีเยอะกว่าคนอื่น เป็นเพราะคุณเก่งกว่าคนอื่นรึเปล่า ไม่ใช่เสมอไปนะ ดังนั้นวาทกรรมแบบนี้ไม่ถูกต้องเสมอไป แต่ที่สำคัญที่สุดคือ อย่าให้คนต้องเติบโตมาในสังคม แล้วต้องถูกกักขังโดยครอบครัวที่คุณเกิด คุณเกิดมาในครอบครัวที่เป็นคนจน ก็ถูกกักขังในความจนต่อไปเหรอ ต้องสร้างสังคมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีชีวิตของตัวเองได้ ฝันถึงอนาคตที่ดีได้ การเลือกเกิดมันเลือกไม่ได้ แต่อย่าทำให้การเลือกเกิดไม่ได้เป็นจุดจบของชีวิตคุณ…”
แล้วความเป็น “จึงรุ่งเรืองกิจ” กักขังเราบ้างไหมหรือรู้สึกอย่างไรเวลาที่คนนำประเด็นนี้มาพูดถึง
“…ผมไม่ใช่ภัยคุกคามของประเทศแต่ผมเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งเก่าๆที่มันล้าหลัง คนที่ทำให้คุณเชื่อว่าผมเป็นภัยคุกตาม คือคนที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง คือคนที่ได้รับประโยชน์บนหัวคนอื่น คนพวกนี้เป็นการเมืองแบบเก่า เป็นอะไรที่เราอยากเปลี่ยนแปลงมาก เราอยากจะพูดแต่เรื่องสร้างสรรค์ เราจะพาสังคมไทยไปข้างหน้าอย่างไร ข้อเท็จจริงคือผมกับคุณอาไม่ได้เคยสนิทกัน เอาเวลาที่เราสนทนากันในรอบสิบปี ไม่เกินชั่วโมงนึง สิ่งที่ผมและพรรคการเมืองผมจะไม่ทำคือการสาดโคลน ถ้าผมไม่เห็นด้วยกับคุณ การเมืองปัจจุบันทำอะไร ก็ทำแบบที่ทำกับผมอยู่ คือลดความน่าเชื่อถือ แต่เป็นผม ผมจะบอกเลยว่า เฮ้ย ! นโยบายแบบนี้คุณผิดตรงไหน มาเถียงกันเรื่องนโยบาย ว่านโยบายของใครดีกว่า ใครได้ประโยชน์ ประชาชนไง แต่คุณมาบอกว่าผมเลวยังไง ไม่มีใครได้ประโยชน์นอกจากคุณ เราเกลียดกันพอแล้วในสังคมนี้ เราเห็นโรงเรียน เห็นที่ทำงาน พังเป็นเสี่ยงๆ ในรอบสิบกว่าปีนี้ เพราะการยัดเยียดความเกลียดให้แก่กันไง
เราออกแบบนโยบายเพื่อทุกคน ไม่ใช่เพื่อคนที่ชอบผม เลือกผม เราไม่ได้ออกแบบนโยบายว่านโยบายไหนได้คะแนนเสียง แต่เป็นนโยบายที่คิดมาว่า คนไทยหนึ่งคนควรจะได้อะไรบ้างในชีวิต…”
แล้วเราจะจัดการปัญหา “โคลนติดล้อ” ต่างๆในประเทศเราอย่างไร
“…ต้องDisrupt ทั้งหมดเลยเขย่าประเทศไทยทั้งหมดเลยทั้งการเมืองทั้งระบบข้าราชการปรับเปลี่ยนองค์กรกระจายอำนาจออกไปเยอะที่สุด กระทรวงไหนดี สนับสนุนเค้า ทำให้เค้าเห็นว่ากระทรงที่ดี กรมกองที่ดี สามารถสร้างสรรค์งานที่ดีได้ ให้เกียรติเค้า กระทรวงไหนไม่ดี ยุบ ปรับเปลี่ยน โยกย้ายงานเข้าออก ผลัดเปลี่ยนกัน อย่างเช่น การรถไฟ ต้องยอมรับว่ามันมีปัญหา ทั้งการบริหาร ความไม่มีประสิทธิภาพ ความไม่โปร่งใส จริง มีปัญหาว่ารัฐวิสาหกิจเป็นพื้นที่ให้นักการเมืองส่งคนของตัวเองไปกอบโกยประโยชน์ จริง แต่ถ้ายกเรื่องการเมืองออก ก็ต้องเข้าใจอีกเหมือนกันว่าปัญหาของการรถไฟ คือมันไม่มีใครกล้าจริงๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบรถไฟของประเทศ ทำให้มันเป็นระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงเครือข่ายทั่วประเทศได้…”
ถ้าเราได้รับการเลือกตั้งขึ้นมาแล้วการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบนี้มันจะมีทางสำเร็จในช่วงระยะเวลาที่เราได้เป็นรัฐบาลได้จริงหรือ ?
“…ไม่มีทางเร็วเลย สิ่งที่ผมพูดทั้งหมด ไม่มีทางเสร็จในรัฐบาลเดียวหรอกครับ ผมพูดตรงๆเลย แต่มันจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ครับ ต้นทุนที่เราเสียหายไปกับการปกครองด้วยระบอบเผด็จการ มันเยอะเกินไปแล้วล่ะ แต่ถ้าถามว่าในสี่ปีเราจะทำอะไรให้ได้ ก็คือ อย่างแรกเอาทหารออกจากการเมืองสองแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยสามกระจายอำนาจสี่ปฏิรูปการศึกษาต้องทำให้ได้ ถึงแม้การแก้รัฐธรรมนูญดูจะเป็นเรื่องใหญ่มาก มีอำนาจต่างๆมากมายมาเกี่ยวพันกับการออกกฏหมายต่างๆ แต่เราก็ต้องค่อยๆทำ ต้องสถาปนาเรื่องความเท่าเทียมในสิทธิของคนทุกคนให้ได้ในสังคมไทย เอาชนะทางความคิดให้ได้ สำคัญยิ่งกว่าการได้เสียงในสภาอีก ถ้าเราเอาชนะความคิดหลักในสังคมไม่ได้แล้วปล่อยให้ความคิดหลักในสังคมเป็นความคิดที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ส่งเสริมลักษณะจารีตนิยมแบบเดิม ก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ผมถึงได้บอกว่างานทางด้านการสนับสนุนทางวัฒนธรรมจึงสำคัญ ดังนั้นการปฏิรูปสื่อซึ่งเป็นเครื่องมือในการสื่อสารก็สำคัญตามไปด้วย ซึ่งปัจจุบันวงการสื่อ ไม่โดนเซ็นเซอร์ ก็เซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งมันน่าหดหู่มาก มันมีกฏหมายเยอะแยะเลยที่เซ็นเซอร์สื่อ ให้อำนาจทหารในการ Hack โทรศัพท์ ให้อำนาจ กสทช. ปิดสื่อนั้นสื่อนี้ ยกเลิกให้หมด เอาความธรรมดากลับคืนมา มันเป็นเครื่องมือที่จะสร้างขึ้นมาเพื่อกดหัวประชาชน ต้องแก้ให้ได้ ทำลายให้หมด อันนี้ต้องทำ…”
ถ้าผมทำการเมืองแล้วต้องประนีประนอม‘ผมไม่ทำ’
มี“พรรค” ก็ต้องมี“พวก” ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าวันหนึ่งระบบการเมืองที่บิดเบี้ยวมาอย่างยาวนานนี้จะไม่กลืนกินความหวังและอุดมการณ์ของอนาคตใหม่จนกลายเป็นนักการเมืองที่ครั้งนึงเราบอกว่าเราจะไม่เป็นแบบเค้า
“…มีวิธีเดียว ให้โอกาสผม ผมก็มั่นใจตัวเองในระดับหนึ่งนะ ว่าผมจะไม่ทรยศต่ออุดมการณ์ของตัวเอง แต่ต่อจะให้มั่นใจยังไง ผมก็ไม่เคยถูกทดสอบด้วยความหนักหนาสาหัสอย่างที่กำลังจะเจอ แต่ผมเชื่อได้ว่า ถ้าผมต้องทำการเมืองแล้วทำให้ผมต้องประนีประนอมกับจุดยืนของตัวเอง‘ผมไม่ทำ’…”
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทิ้งท้ายกับเราไว้อย่างหนักแน่น
ด้วยความรู้สึกที่พร้อมจะรับบทพิสูจน์จากประชาชนทุกคนในบทต่อไปของชีวิต
พบกับตัวตนอีกด้านของ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ"ใน ‘The OutLINE’ รายการที่จะพาไป “คุยนอกกรอบ ตอบนอกเส้น” โดยผู้ประกาศข่าวผู้ทรงพลัง “สุทธิชัย หยุ่น” ที่จะพูดคุยกับแขกรับเชิญสุดพิเศษในประเด็นที่ไม่เคยได้รู้มาก่อน ทุกเรื่องราวของ "ธนาธร" จะถูกเปิดเผยที่นี่ วันพฤหัสบดีที่ 31 ม.ค. นี้ 2 ทุ่มตรง บน LINE TODAY เท่านั้น