โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ต้นไม้ทรงปลูก ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่มหาลัยต่างๆ

Campus Star

เผยแพร่ 12 ต.ค. 2561 เวลา 16.32 น.

การปลูกต้นไม้ เป็นอีกหนึ่งพระราชกรณียกิจที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงโปรด เวลาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงาน และทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย รวมไปจนถึงในสถานศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยด้วย พระองค์ท่านได้ทรงพระราชทานต้นไม้ และได้ทรงปลูกด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้ก็เพื่อทรงปลูกไว้เป็นที่ระลึก และเป็นแบบอย่างการให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้ และให้ทุกคนได้ตระหนักถึงคุณค่าของป่าไม้ แคมปัส-สตาร์ ขอรวบรวมต้นไม้ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9ท่านทรงพระราชทานให้แก่มหาลัยต่างๆ ในประเทศไทยมาให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงพระองค์ท่าน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย:: ต้นจามจุรี

ในวันที่ 15 มกราคม 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนิน ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระราชทานต้นจามจุรีแก่มหาวิทยาลัย จำนวน 5 ต้น ซึ่งพระองค์ทรงนำมาจากพระราชวังไกลกังวล หัวหิน และทรงปลูกด้วยพระองค์เอง บริเวณด้านหน้าหอประชุมจุฬาฯ ฝั่งด้านสนามฟุตบอล ทางด้านขวา จำนวน 3 ต้น ด้านซ้ายจำนวน 2 ต้น และยังได้พระราชทานพระราชดำรัสถึง ความผูกพันระหว่างชาวจุฬาฯ กับจามจุรีว่ามีมานานตั้งแต่สร้างมหาวิทยาลัย ทรงเน้นว่าดอกสีชมพูเป็นสัญลักษณ์สูงสุดอย่างหนึ่งของจุฬาฯ พระองค์ทรงเห็นว่าจามจุรีที่นำมานั้นโตขึ้น สมควรจะเข้ามหาวิทยาลัยเสียที และสถานที่นี้เหมาะสมที่สุด และจบกระแสพระราชดำรัสว่า “จึงขอฝากต้นไม้ไว้ห้าต้นให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล”

ชาวจุฬาฯ ยึดถือจามจุรีนี้เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มักเรียกกันว่า จามจุรีสีชมพู หรือจามจุรีศรีจุฬาฯ เมื่อถึงวันงานประเพณีต้อนรับน้องใหม่ทุก ๆ ปี นิสิตรุ่นพี่จะนำใบหรือกิ่งจามจุรีเล็ก ๆ มาผูกริบบิ้นสีชมพูคล้องคอให้นิสิตใหม่ เพื่อเป็นการต้อนรับเข้าสู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาณาจักรแห่งจามจุรีสีชมพู

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ :: ต้นหางนกยูงฝรั่ง (ยูงทอง)

หางนกยูงฝรั่ง เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงปลูกไว้บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่จำนวน 5 ต้น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 เวลา 14.30 น. พร้อมกับพระราชทานให้เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดอกมีสีเหลืองแดง (สีประจำมหาวิทยาลัย)

อนึ่ง ประชาคมธรรมศาสตร์มักเรียกเพลงพระราชนิพนธ์ธรรมศาสตร์ และต้นหางนกยูงฝรั่งว่า ยูงทอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อันเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระราชกรณียกิจโดยตรง รวมทั้งพิธีพระราชทานปริญญาบัตรด้วย

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์:: ต้นนนทรี

ต้นนนทรี เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2506 เป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลืองประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย ดังนั้นที่ประชุมสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2506 จึงได้เลือกให้ต้นนนทรีเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหลวงอิงคศรีกสิการอธิการบดีในขณะนั้นได้นำข้อสรุปของที่ประชุมกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินมายังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ บริเวณหน้าหอประชุม มก. เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 และมีพระราชดำรัสถึงบุคลากรและนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในคราวนั้นว่า

“ขอฝากต้นไม้นี้ให้มหาวิทยาลัยและนิสิตช่วยกันรักษาให้ดี อย่าให้หงอย ขอฝากนิสิตทั้งหลาย ขอให้ช่วยกันรักษาตัวเองให้ดี และอย่าลืมว่าตัวเองนั้นจะอยู่กันได้ก็ด้วยแผ่นดินไทย ขอให้ช่วยรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วย คนไทยถ้าไร้แผ่นดินก็จะหงอยกันหมด อยู่กันไม่ได้ และเราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น”

ภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินีทรงปลูกต้นนนทรี ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินีทรงปลูกต้นนนทรี ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

มหาวิทยาลัยขอนแก่น :: ดอกกัลปพฤกษ์

เป็นต้นไม้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกพระราชทาน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนิน ประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2510

ต้นกัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Cassia bakeriana Craib วงศ์ Leguminosae ลักษณะเป็นต้นไม้ขนาดย่อม พุ่มใบแบนกว้าง ดอกสีชมพู เมื่อโรยจะกลายเป็นสีขาว ออกดอกเป็นช่อช่วงฤดูหนาว แต่ดั้งเดิมเรียกว่าต้น “กาลพฤกษ์” แม้ต่อมาจะมีการเรียกในทางพฤกษศาสตร์ และพจนานุกรมว่า “กัลปพฤกษ์” แต่ชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ยังเรียกต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยว่า “กาลพฤกษ์” ด้วยเหตุที่ต้นไม้นี้ในปลายฤดูหนาวย่างเข้าฤดูร้อนจะทิ้งใบทั้งต้น ให้ดอกสีชมพูระเรื่อสลับขาวบานสะพรั่ง แลดูสวยงามอ่อนหวานยิ่งนัก ดอกกาลพฤกษ์บานคราใดก็ถึงเวลาสอบไล่ ปิดปลายภาคและจบการศึกษา กาลพฤกษ์จึงเป็นเสมือน ต้นไม้แห่งกาลเวลา ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

โดยเฉพาะช่วงสอบปลายภาคเรียนที่ 2 เป็นช่วงที่ดอกกาลพฤกษ์กำลังออกดอกบานสะพรั่งสวยงามชาว ม. ขอนแก่น จะถือว่าเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง เป็นช่วงที่รุ่นพี่กำลังจะจบการศึกษาต้องออกสู่สังคมเพื่อช่วยกันสร้างสรรค์ประเทศ และเป็นช่วงที่น้องใหม่กำลังจะเข้ามาศึกษาและใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย หลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นช่วงที่กาลพฤกษ์บาน กาลพฤกษ์จึงเป็นเสมือนสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีต้นไม้ทรงปลูก เสด็จพระราชดำเนินไปทรงงาน และทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาคต่างๆ ดังต่อไปนี้ด้วย

หน้าหอพระไตรปิฎก วัดระฆังโฆษิตาราม :: ต้นจันทน์

ต้นจันทน์ 1 คู่ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 ทรงปลูกไว้ทางด้านซ้ายมือ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถทรงปลูกไว้ทางด้านขวามือ เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2514 เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหอพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นนิวาสสถานเดิมของพระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบรมปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี การบูรณปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎกวัดระฆังโฆษิตารามนี้ สมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้ตั้งกรรมาธิการมีชื่อว่า คณะกรรมาธิการวิชาการสาขาอนุรักษ์ศิลปกรรม (พ.ศ. 2511) เพื่อดำเนินการ นับเป็นกรรมการชุดที่เป็นต้นกำเนิดของกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม และสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรม และสิ่งแวดล้อมต่อมาในปี พ.ศ. 2514 โดยภาพนี้เจ้าของผลงานคือ คุณปองขวัญ ลาซูส

ศูนย์ศึกษาฯห้วยฮ่องไคร้ :: ต้นมะม่วงและหญ้าแฝก

พระองค์ทรงปลูกต้นมะม่วงพันธุ์ “พิมเสนมัน” ไว้บริเวณหน้าเรือนเพาะชำกล้าไม้โตเร็ว ณ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้” อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 เป็นหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง วิจัย ศึกษาสภาพพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร การประมง เกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม และด้านเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ฯ แล้วนำไปใช้ปฏิบัติได้ผลจริง นอกจากนี้ยังทรงปลูกต้นหญ้าแฝกไว้ ณ บริเวณพื้นที่แปลงมะขามหวาน เมื่อวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0