ในปัจจุบันนี้ช่องทางการลงทุนต่างๆ ได้เปิดกว้างมากขึ้นสำหรับนักลงทุนรายย่อย ทำให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงรูปแบบการลงทุนได้หลากหลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ปัญหาของนักลงทุนส่วนใหญ่คือมักไม่มีเวลาในการศึกษาและติดตามข้อมูลการลงทุนอย่างใกล้ชิด และเนื่องด้วยมีเงินลงทุนจำนวนจำกัด ทำให้ไม่สามารถกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้มากพอ ดังนั้นการลงทุนผ่าน ‘กองทุนรวม’ จึงเป็นตัวช่วยให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้มีประสิทธิภาพ และมีการจัดการลงทุนอย่างเป็นระบบมากขึ้น
โดย “กองทุนรวม” นั้นเป็นเครื่องมือในการลงทุน (Investment Vehicle) ชนิดหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมเงินลงทุนจากนักลงทุนจำนวนมาก และนำไปจดทะเบียนให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล (กองทุน) โดยผู้จัดการกองทุนจะนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทต่างๆ ตามนโยบายการลงทุนที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนการลงทุนซึ่งนักลงทุนจะได้รับ“หน่วยลงทุน” ตามสัดส่วนที่ได้ลงทุนไว้ และผลการดำเนินงานของกองทุนจะสะท้อนไปที่ ‘มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของหน่วยลงทุน (Net Asset Value : NAV)’ ซึ่งจะทำการคำนวณตามราคาตลาด (Mark to Market) ในแต่ละวัน
“ข้อดี”…ของการลงทุนใน ‘กองทุนรวม’ มีดังนี้
1. มีกลไกที่ปกป้องคุ้มครองผู้ถือหน่วยลงทุน
โดยมี ‘สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)’ เป็นหน่วยงานรัฐที่คอยควบคุมและกำกับดูแลบลจ. ให้การลงทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนรวม รวมถึงจัดให้มีผู้ดูแลผลประโยชน์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ถือหน่วยลงทุน ทำให้นักลงทุนได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งนักลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลเหล่านี้ได้จากหนังสือชี้ชวนการลงทุนของกองทุนรวมนั้นๆ
2. สามารถใช้เงินลงทุนไม่มาก
ในขณะที่การลงทุนอื่นๆ จำเป็นต้องมีเงินลงทุนพอสมควรในการเริ่มลงทุน เช่นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แต่การลงทุนในกองทุนรวมนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากโดยสามารถลงทุนในหลักร้อยหรือหลัก ‘พันบาท’ จึงเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นใหม่ในการลงทุน
3. กองทุนรวมบริหารโดยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ
การลงทุนต่างๆ จำเป็นต้องใช้เวลาศึกษาและติดตามข้อมูลการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งกองทุนรวมนั้นจะมีทีมงาน ‘ผู้จัดการกองทุน’ ที่มีความรู้ความสามารถ คอยดูแลและบริหารกองทุนให้เป็นไปตามนโยบายของกองทุน ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถวางใจได้ว่ามีมืออาชีพดูแลอย่างใกล้ชิด
4. กองทุนรวมมีสิทธิประโยชน์ทางภาษี
ในแง่ของกองทุนรวมทั่วๆ ไปนั้น ผลกำไรจากการขายกองทุนได้รับการยกเว้นภาษีส่วนต่างกำไร ทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย (แต่หากกองทุนนั้นๆ มีเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไร จะเสียภาษีในอัตรา 10% ซึ่งนักลงทุนสามารถแยกหักภาษีโดยไม่รวมคำนวณกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้)
และใน “การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” นั้น ก็มี ‘กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)’ ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้สุทธิ แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท (โดยนักลงทุนจะต้องถือครอง LTF อย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน จึงจะขายได้โดยไม่ต้องเสียภาษี) และ ‘กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)’ ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้สุทธิ แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กบข./ประกันชีวิตแบบบำนาญ (โดยนักลงทุนต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี จนถึงอายุ 55 ปี จึงจะขายได้โดยไม่ต้องเสียภาษี )
“ถึงแม้ว่า LTF จะไม่มีการต่ออายุในสิ้นปี 2562 แล้ว แต่ก็ยังมีกองทุน RMF ที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ต่อเนื่อง”
5. กองทุนรวมมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย
เนื่องจากจุดประสงค์ในการลงทุน และการยอมรับความเสี่ยงของนักลงทุนแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ทำให้การลงทุนในแต่ละสินทรัพย์นั้นจะมีความเสี่ยงเฉพาะตัว แต่สำหรับกองทุนรวมนั้นมี ‘นโยบายการลงทุน’ ที่หลากหลาย ทำให้นักลงทุนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองได้ เช่น หากต้องการที่จะพักเงินในระยะสั้น รับความเสี่ยงได้ต่ำแต่ต้องการผลตอบแทนที่มากกว่าเงินฝาก ก็สามารถเลือกลงทุนใน ‘กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund)’
“หรือหากต้องการผลตอบแทนที่มากกว่าเงินฝากประจำ รับความเสี่ยงได้ปานกลางก็อาจจะลงทุนใน ‘กองทุนรวมตราสารหนี้’ และสำหรับนักลงทุนที่มีประสบการณ์แล้ว ‘การจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation)’ ด้วย ‘กองทุนรวมผสม’ หรือ ‘กองทุนรวมตราสารทุน’ ‘กองทุนรวมต่างประเทศ’ ทำให้ความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตลงทุนนั้นลดลงและผลตอบแทนที่ได้รับมีเสถียรภาพมากขึ้น”
*จะเห็นว่า ‘กองทุนรวม’ นั้น มีข้อดีมากมายสำหรับนักลงทุน แต่นักลงทุนเองก็ควรจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายของกองทุนรวมที่ตนเองจะเข้าไปลงทุน รวมถึงลงทุนให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของตนเอง เพราะหากเลือกนโยบายการลงทุนที่ไม่เหมาะสมกับตนเอง ก็อาจจะทำให้การลงทุนไม่บรรลุวัตถุประสงค์ได้ *
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand,TFPA Facebook Fanpageและ www.tfpa.or.th