โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ทำไมยิ่งเรียนยิ่งโง่..6 ปัญหาเด็กไทย แก้ยังไงก็ไม่หายสักที

LINE TODAY

เผยแพร่ 10 ม.ค. 2561 เวลา 16.44 น. • Pimpayod

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและโลกที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าแทบจะตลอดเวลา สิ่งหนึ่งที่ต้องถูกพัฒนาควบคู่กันไปก็คือ “การศึกษา” ที่เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อให้ทันกับกระแสโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

หันมามองที่ระบบการศึกษาไทยที่ใคร ๆ ก็คาดหวังว่ามันจะต้องค่อย ๆ พัฒนาขึ้น แต่จนแล้วจนรอด ผ่านมากี่ยุคกี่สมัย ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการศึกษาบ้านเราก็แทบจะไม่ได้ถูกแก้ไขให้ดีขึ้นเลย

ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่หลายคนสัมผัสมาจนชินตา เรียกว่ารับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกันเป็นอย่างดีว่าเด็กไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันต้องประสบกับอะไรบ้าง ที่น่าแปลกใจก็คือในเมื่อโลกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่ทำไมระบบการศึกษาบ้านเรากลับหยุดนิ่งอยู่กับที่ ทำไมเด็กไทยไม่ได้รับการศึกษาที่ถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับยุคสมัย ทำไมปัญหาเหล่านี้ยังตามหลอกหลอนอนาคตของชาติอยู่ตลอดเวลา

1. มัวแต่ท่องจำ

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่าระบบการศึกษาไทยเน้นการท่องจำมากขนาดไหน เรื่องนี้มีการพูดคุย วิจัย เปรียบเทียบกันมาหลายครั้ง แต่ละครั้งล้วนตีแผ่การเรียนการสอนแบบท่องจำว่าด้อยพัฒนา และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อะไรไม่ได้เลย เรื่องนี้จะไปโทษเด็กฝ่ายเดียวคงไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่รากเหง้าดึกดำบรรพ์ ผ่านไปกี่ปีก็มีแต่ท่องจำ ไม่ได้สอนให้เด็กรู้จักใช้ความคิดวิเคราะห์เพื่อพัฒนาตนเอง

2. อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้

หลายคนไม่เชื่อว่าจะมีเด็กไทยที่อยู่ในระบบโรงเรียนแล้วอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้จริงหรือ แต่นี่คือความจริงที่สังคมไทยต้องยอมรับ ซึ่งจากผลการสำรวจพัฒนาการของนักเรียนในสังกัด กทม. 437 โรงเรียนเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่ามีเด็กที่อ่าน-เขียนภาษาไทยไม่คล่องตามเกณฑ์ประมาณ 2 หมื่นคน โดยในจำนวนนี้มีประมาณ 3,000 คน ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้เลย 

ตัวเลขดังกล่าวถือว่าน่าตกใจอย่างมาก เนื่องจากเป็นโรงเรียนใน กทม. ที่ถือว่ามีมาตรฐานและเข้าถึงการศึกษาได้มากกว่าโรงเรียนในต่างจังหวัด แต่กลับมีเด็กที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้อีกเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นคุณภาพการศึกษาไทยที่มีความเหลื่อมล้ำและไม่ได้มาตรฐานอีกมากมาย

3. เก่งแต่คิดไม่เป็น

ที่ผ่านมาเด็กไทยถูกเน้นให้ก้มหน้าก้มตาเรียน ต้องเรียนหนังสือให้เก่งอย่างเดียวเท่านั้น แต่ไม่เคยได้รับโอกาสให้ออกสำรวจ เรียนรู้ และลงมือทำใด ๆ เท่าที่ควร จึงไม่แปลกที่เด็กจะขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ ขาดการเรียนรู้ และทักษะชีวิต กลายเป็นเด็กที่ไม่มีวินัย เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ คิดไม่เป็น ไม่รู้จักประยุกต์ใช้วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาให้เกิดประโยชน์ได้

4. ถึงคิดเป็น แต่ก็วิเคราะห์ไม่ได้อยู่ดี

ยกตัวอย่างง่าย ๆ บ้านเราไม่ค่อยออกข้อสอบแบบอัตนัยที่ต้องเขียนคำตอบกันสักเท่าไหร่ ทั้ง ๆ ที่ข้อสอบลักษณะนี้ทำให้เด็กได้คิด วิเคราะห์มากกว่าข้อสอบปรนัยที่เป็นแบบเลือกตอบ เท่ากับเป็นการปิดกั้นทางความคิด ให้เด็กคิดอยู่แต่ในกรอบ ในตัวเลือก ก. ข. ค. ง. เท่านั้น เพราะฉะนั้นถึงเด็กจะคิดได้ คิดเป็น แต่เมื่อถึงคราวต้องวิเคราะห์และนำไปใช้ก็ทำไม่ได้อยู่ดี

5. เรียนไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน

อีกปัญหาที่ทุกภาคส่วนรู้กันอยู่แล้วก็คือตลาดแรงงานบ้านเราต้องการแรงงานระดับไหน โดยแต่ละปีมีบัณฑิตจบปริญญาตรีเดินเข้ามาในตลาดแรงงานปีละไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน ในขณะที่ตำแหน่งงานที่รองรับงานในระดับปริญญาตรีมีเพียง 1.6 แสนตำแหน่ง และมีแนวโน้มว่าแต่ละปีจะลดลงเรื่อย ๆ ด้วย สวนทางกับความต้องการแรงงานระดับ ปวช. ปวส. ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัว ซึ่งเท่ากับว่าเรากำลังผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีเกินความต้องการของตลาดแรงงานไปหลายเท่าตัว เป็นเหตุให้คนตกงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

6. มีปริญญาแต่ไม่มีความรู้

ค่านิยมบ้านเราที่สนใจแต่ใบปริญญา สมัยก่อนอย่างน้อยต้องจบปริญญาตรี แต่ตอนนี้คนแห่เรียนปริญญาโทกันหมด มีปริญญา 2-3 ใบ แต่ถามว่าความรู้ที่ติดมากับใบปริญญามีหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง อย่าลืมว่าใบปริญญาเป็นแค่ใบรับรองว่าอย่างน้อยก็ผ่านหลักสูตรมาแล้ว แต่สิ่งที่ร่ำเรียนมาจะอยู่ในสมองหรือไม่ ปริญญาไม่ได้รับประกันใด ๆ ดังนั้นค่านิยมผิด ๆ เพี้ยน ๆ แบบนี้ควรจะหมดไปเสียที เพราะคนไม่มีปริญญาแต่ความรู้แน่นปึ้กมีให้เห็นถมไป

ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน แต่เป็นเนื้อร้ายที่เรื้อรังสะสมอยู่ในระบบการศึกษาไทยมานาน ซึ่งเรื่องนี้คนมีอำนาจในบ้านเราต่างรู้กันดีว่าการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มต้นและลงมือทำอย่างต่อเนื่อง ต้องมีองค์กรที่พร้อมเป็นเจ้าภาพอย่างชัดเจน ไม่ใช่ทุกคนรับรู้ปัญหาเหมือนกันหมด แต่ไม่มีใครเริ่ม ไม่มีใครพร้อมจะลงมือ ระบบการศึกษาบ้านเราถึงได้ล้าหลังและไม่พัฒนาอยู่แบบนี้ 

ทั้งที่จริงแล้ว การศึกษาควรจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทั้งชาติ แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแล ปล่อยให้เนื้อร้ายกัดกินทั้งระบบ แก้ก็ไม่ได้ เดินหน้าก็ไม่ไหว ผลร้ายก็ตกอยู่ที่ประชาชนตาดำ ๆ ที่ต้องขวนขวายหาทางเลือกกันเอาเอง คนมีโอกาสก็ดีไป มีสิทธิ์เลือกสิ่งที่ดีที่สุด แต่เหล่าประชาชนคนรากหญ้าอย่างเรา ๆ ก็ก้มหน้ารับกรรม ทนกับระบบการศึกษาไทยที่มีปัญหากันต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0