โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

รอบโลก By กรุณา บัวคำศรี : รุ้งสีจาง ชีวิตคนข้ามเพศในเมียนมาร์

PPTV HD 36 Exclusive

อัพเดต 22 ก.พ. 2561 เวลา 07.01 น. • เผยแพร่ 22 ก.พ. 2561 เวลา 07.01 น.

ปัจจุบันสังคมของกลุ่มคนหลากหลายเพศหรือ LGBT ได้รับการยอมรับและเปิดกว้างมากขึ้นในหลายประเทศ  แต่สำหรับเมียนมาร์ ชาว LGBT นั้นยังต้องใช้ชีวิตแบบหลบซ่อน

ในสังคมพม่า  ผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยเป็นกลุ่มคนชายขอบสังคม ที่ไร้สิทธิ์และถูกกดขี่ เพราะความเชื่อแน่นแฟ้นที่ว่า ชายนั้นสูงส่งกว่าหญิง  การเกิดเป็นชายแล้วอยากกลายเป็นหญิงนั้น  ในพม่าถือกันว่าเป็นลดทอนคุณค่าและสถานะของตัวเองลงต่ำเหมือนผู้หญิง

หากเปิดตัวว่าเป็นคนข้ามเพศแล้ว  ส่วนใหญ่มักจะไม่สามารถอยู่ในครอบครัวได้อีกต่อไป นอกจากจะเผชิญกับแรงกดดันจากครอบครัวและสังคมแล้ว  ความยากลำบากอีกประการของชาวเพศหลากหลายในเมียนมาร์คือ รักร่วมเพศถือเป็นความผิดตามกฎหมาย

กฎหมายที่ว่าคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 เป็นกฎหมายที่เป็นมรดกตกทอดจากเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ และกฎหมายนี้ยังคงบังคับใช้จนถึงทุกวันนี้

การมีอยู่ของกฎหมายฉบับนี้กลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบางนายรีดไถ ข่มขู่และเลือกปฏิบัติต่อชาวเพศที่สาม ปัญหาที่เกิดขึ้นมีทั้งพวกเธอเป็นทุกข์ ได้รับความรุนแรงจากครอบครัว  และครอบครัวก็พบความอับอายขายหน้าและสูญเสียความน่านับถือ ทางเลือกเดียวคือการออกจากครอบครัวและเกาะกลุ่มอยู่ด้วยกันเป็นชุมชนคนข้ามเพศ

เมื่อครอบครัวไม่ยอมรับ  สังคมรังเกียจ  เส้นทางอาชีพการงานของพวกเธอก็ตีบตัน  ไม่มีใครอยากรับคนข้ามเพศเข้าทำงานด้วย งานที่รองรับคนข้ามเพศได้มากกว่างานอื่น ๆ คือ การเป็นช่างตัดผมและเสริมสวย

ความสัมพันธ์ในกลุ่มของคนข้ามเพศนี้อยู่บนพื้นฐานของมิตรภาพและความรู้สึกแบบเครือญาติ  ที่นอกจากจะอยู่เป็นเพื่อน ดูแลช่วยเหลือกันแล้ว  ยังมีการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กันอีกด้วย ส่งผลให้อุตสาหกรรมทำผมและเสริมสวยในพม่าขับเคลื่อนไปด้วยกลุ่มคนข้ามเพศเป็นเศรษฐกิจที่เกือบจะผูกขาดโดยคนกลุ่มเดียว

การเป็นเพศทางเลือกยังถูกนำไปเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนาเรื่องผลของกรรม  นั่นคือความเชื่อที่ว่า การเป็นคนเพศทางเลือกนั้นเป็นบาปตั้งแต่ชาติปางก่อน  เนื่องจากทำผิดพลาดไว้  ทำให้ต้องมาทนทุกข์ทรมานในชาตินี้โดยมีพระภิกษุบางรูปเป็นผู้เผยแพร่ความเชื่อ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0