โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แผ่นดินทองที่ไม่ใช่ของไทย : ที่ดินสถานทูตอังกฤษ

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 31 ต.ค. 2565 เวลา 03.45 น. • เผยแพร่ 28 ต.ค. 2565 เวลา 11.08 น.
สถานทูตอังกฤษ
อาคารสถานกงสุลอังกฤษเดิม

ข่าวใหญ่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเดือนพฤษภาคมของปี พ.ศ. 2549 เห็นจะได้แก่การตกลงซื้อที่ดินส่วนหนึ่งของสถานทูตอังกฤษโดยกลุ่มธุรกิจกลุ่มหนึ่งเพื่อนำมาพัฒนาในราคาตารางวาละเฉียดๆ ล้านบาท เป็นพื้นที่ที่ขายประมาณ 9 ไร่เศษ หรือกว่า 3,600 ตารางวา ก็เป็นเงินร่วมๆ 4,000 ล้านบาท คงจะไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าที่ดินแปลงนี้คือแผ่นดินทองที่ไม่ใช่ของไทยเพราะเป็นกรรมสิทธิ์ของอังกฤษ

อดไม่ได้ที่เกิดอยากรู้ว่าทางอังกฤษได้ที่ดินผืนนี้มาในราคาเท่าไหร่ และเมื่อไหร่ จึงคว้าหนังสือเท่าที่มีอยู่ค้นเรื่องเดิมดู

อังกฤษเข้ามามีสัมพันธ์กับไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ความสัมพันธ์ขาดตอนไปในตอนปลายของสมัยอยุธยาในช่วงหลังรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อังกฤษได้ริเริ่มความสัมพันธ์กับไทยใหม่ในรัชกาลที่ 2 โดยผู้สำเร็จราชการของอังกฤษในอินเดียส่งนายจอห์น ครอว์เฟิด (John Crawfurd) มาเจรจาในปี พ.ศ. 2364 (ค.ศ. 1821) แต่ไม่ประสบความสำเร็จโดยฝ่ายไทยไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิธีทำการค้าตามข้อเสนอของอังกฤษ ต่อมาในรัชกาลที่ 3 อังกฤษส่ง ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) เข้ามาเจรจาอีกในปี พ.ศ. 2367 (ค.ศ. 1824) สามารถตกลงทำหนังสือสัญญากันได้ในบางส่วน ในปี พ.ศ. 2393 (ค.ศ. 1850) รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษส่ง เซอร์เจมส์ บรูค (Sir James Brooke) เข้ามาเสนอร่างสนธิสัญญาให้ไทยพิจารณา 9 ข้อ ไทยยอมรับได้เพียงข้อเดียว จึงตกลงกันไม่ได้ [1]

ในขณะที่การเจรจากับไทยยังไม่ประสบผลสำเร็จประเทศตะวันตกได้เริ่มรุกเข้ามาแสวงหาที่มั่นทางตะวันออกโดย “อังกฤษยึดได้พม่าตอนใต้เป็นที่มั่นหลังพิชิตพม่าในสงคราม 2 ครั้ง คือ ในปี พ.ศ. 2367-69 (ค.ศ. 1824-26) และปี พ.ศ. 2395-97 (ค.ศ. 1852-54) ในขณะที่จีนต้องยอมจำนนต่ออังกฤษในสงครามฝิ่น ทางตะวันออกฝรั่งเศสกำลังแสวงหาที่มั่นในอินโดจีน ทางใต้อังกฤษกำลังขยายอิทธิพลเข้ามาในแหลมมลายูหลังจากที่ยึดสิงคโปร์และปีนังได้แล้ว แม้แต่ญี่ปุ่นซึ่งเคยดำเนินนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยวมาเป็นเวลา 200 ปีเศษ ก็จำต้องเปิดประเทศ และยอมทำสนธิสัญญาคะนะงะวะ (Treaty of Kanagawa) กับสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2397 (ค.ศ. 1854) และกับประเทศอื่นๆ…

ดังนั้นเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษทรงแต่งตั้ง เซอร์จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) เป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มเชิญพระราชสาส์นมาเจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรีกับไทยในปี พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงต้อนรับอย่างสมเกียรติ จนเป็นที่ประทับใจของอัครราชทูตอังกฤษมาก…การเจรจาก็ประสบความสำเร็จ อังกฤษและไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ต่อกันในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามว่าสนธิสัญญาเบาว์ริง” [2] ซึ่งเป็นต้นแบบให้ไทยต้องทำสนธิสัญญากับประเทศตะวันตกอีกหลายประเทศในเวลาต่อมา

สาระสำคัญประการหนึ่งของสนธิสัญญาเบาริ่งคือการที่ไทยยอมให้อังกฤษจัดตั้งสถานกงสุลเพื่อพิจารณาคดีคนในบังคับอังกฤษโดยไม่ต้องขึ้นศาลไทย หลังลงนามในสนธิสัญญาแล้วในปี พ.ศ. 2399 (ค.ศ. 1856) รัฐบาลอังกฤษก็ส่งนาย ซี.บี. ฮิลเลียร์ (C.B. Hillier) มาเป็นกงสุลคนแรกซึ่งจำเป็นที่จะต้องหาที่ก่อสร้างสถานกงสุลขึ้นเพื่อเป็นที่ทำการ ในเวลานั้นการคมนาคมในกรุงเทพฯ อาศัยแม่น้ำลำคลองเป็นหลักยังไม่มีการตัดถนน สถานกงสุลประเทศต่างๆ จึงเลือกที่จะตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นายฮิลเลียร์ได้พอใจกับที่แปลงหนึ่ง ซึ่งมีหลักฐานเป็นพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 4 ทรงมีไปถึงนายฮิลเลียร์ สาระสรุปได้ว่า

“ส่วนใหญ่ของที่ดินใกล้เคียงกับสถานกงสุลโปรตุเกสนั้นเป็นของชาวมาเลย์และพม่า เราจะดำเนินการให้เจ้าของที่ดินเหล่านั้นขายที่ดินให้กับท่านในราคาตารางวาละ 1 บาท หรือต่ำกว่านั้นตามกฎหมายใหม่ของสยามและราชประเพณี แต่เรามีความลำบากเล็กน้อยเกี่ยวกับส่วนหนึ่งของที่ดินที่ท่านพอใจซึ่งเป็นของพระยาบรบาลสมบัติซึ่งเป็นขุนนางขึ้นกับพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ 2 ซึ่งเราไม่สามารถจะดำเนินการให้ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองขายในราคาดังกล่าวได้” [3] แต่ปรากฏว่าทางกงสุลไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าที่ดินที่ต้องการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานเงินยืมให้เพื่อดำเนินการซื้อที่ดิน [4]

การดำเนินการซื้อที่ดินเป็นไปโดยไม่ราบรื่น โดยมีคนในบังคับของอังกฤษคนหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งเป็นการผิดกฎหมาย ทำให้พระเจ้าอยู่หัวกริ้วและลงทัณฑ์โดยการโบย ซึ่งทำให้กงสุลอังกฤษประท้วงว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสนธิสัญญาที่เพิ่งตกลงกัน เรื่องจึงลงเอยโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินดังกล่าวให้กับทางอังกฤษ ดังปรากฏในจดหมาย ลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2400 (ค.ศ. 1857) จากลอร์ด แคลเรนดอน (Lord Clarendon) ถึงนายชาร์ลส์ เบลล์ (Charles Bell) แห่งสถานกงสุลอังกฤษ มีสาระสรุปได้ว่า

“เราได้รับหนังสือของท่านฉบับที่ 28 ลงวันที่ 4 ธันวาคม ศกที่แล้ว ระบุว่าพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ 1 ได้ทรงแจ้งท่านว่าเป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ที่จะทรงมอบที่ดินที่เลือกโดยอดีตกงสุลฮิลเลียร์ สำหรับเป็นสถานกงสุลอังกฤษ โดยจะมีประกาศในเวลาเดียวกันว่าที่ดินดังกล่าวเป็นการมอบให้เพื่อชดเชยการที่มีการจับกุมและประหารชีวิตคนในบังคับของอังกฤษ และพระองค์ทรงให้คำมั่นว่าจะไม่มีการละเมิดสนธิสัญญาในลักษณะนี้อีก ท่านโปรดกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ 1 ว่า พระราชประสงค์ดังกล่าวเป็นที่พอใจของรัฐบาลของสมเด็จพระราชินี…” มีเกร็ดอีกเล็กน้อยว่าไม่มีการกล่าวถึงและคืนเงินที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ยืมเพื่อดำเนินการซื้อที่ดินผืนนี้แต่อย่างใด [5]

สรุปว่าทางอังกฤษได้ที่ดินเพื่อทำเป็นสถานกงสุลผืนแรกไปฟรี แถมมีเงินที่มีมูลค่าเท่ากับราคาที่ดินติดกระเป๋าไปด้วย

ในปี พ.ศ. 2417 (ค.ศ. 1874) สถานกงสุลอังกฤษแห่งนี้ มีส่วนในเหตุการณ์สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เรียกกันว่า“วิกฤตวังหน้า” โดยเกิดความเข้าใจผิดกันขึ้นระหว่างวังหลวงกับวังหน้าจนถึงกับมีการลากปืนใหญ่เข้าประจำการหันปากกระบอกเข้าเผชิญหน้ากัน และต่อมาวังหน้าได้เสด็จออกจากวังมาประทับที่สถานกงสุลแห่งนี้จนกระทั่งเหตุการณ์ได้คลี่คลายลง โดยอังกฤษได้มีบทบาทสำคัญในการไกล่เกลี่ย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้รับความสนใจจากหนังสือพิมพ์ในอังกฤษนำเสนอเป็นข่าวไว้

ต่อมาเมื่อกรุงเทพฯ เริ่มมีการตัดถนนหนทางการคมนาคมก็เคลื่อนย้ายจากในน้ำขึ้นมาบนบก สถานทูตต่างๆ ที่เคยตั้งอยู่ริมแม่น้ำก็เริ่มมีการเคลื่อนย้ายกัน สถานกงสุลอังกฤษก็เช่นเดียวกัน โดยได้ขอซื้อที่ดินบริเวณสี่แยกถนนวิทยุตัดกับถนนเพลินจิตในปัจจุบันจากบริษัทนายเลิด [6] เมื่อจะซื้อที่ดินใหม่ก็จะต้องมีการใช้เงิน ทางอังกฤษสามารถดำเนินการขายที่ดินที่ตั้งสถานกงสุลเดิมให้กับรัฐบาลไทย เอาเงินที่ได้จากการขายที่ดินไปซื้อที่ดินผืนใหม่นี้ตั้งเป็นที่ทำการสถานทูตอังกฤษเรื่อยมากระทั่งปัจจุบัน

ที่ดินที่ตั้งสถานกงสุลเดิมซึ่งรัฐบาลไทยรับซื้อมาแล้วได้ก่อสร้างเป็นที่ทำการไปรษณีย์กลาง “ที่ทำการแห่งแรกของกรมไปรสนียแลโทรเลข ที่ปากคลองโอ่งอ่าง ซึ่งแล้วเสร็จและเปิดทำการเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426” [7] ตรงกับ ค.ศ. 1883 เรียกว่าไปรสนียาคาร “มีหลักฐานว่าในเดือนกันยายน พ.ศ. 2427 คาร์ดู [ช่างชาวอิตาลี] ได้รับมอบหมายให้ออกแบบหอนาฬิกากลางอาคาร และต่อเติมชั้นบนสุดของอาคารเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชั้นเพื่อใช้เป็นสำนักงาน” [8] ซึ่งต่อมาอาคารนี้ถูกรื้อเพื่อสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าและพระปฐมบรมราชานุสรณ์ ไปสร้างที่ทำการใหม่บนที่ดินสถานกงสุลอังกฤษเดิม

จากหนังสือใกล้มือยังหาหลักฐานไม่ได้ว่าเงินจากการขายที่ดินผืนเดิมกับราคาที่ดินผืนใหม่เป็นราคาเดียวกันหรือไม่ จึงตั้งสมมติฐานว่าเป็นราคาเดียวกัน เพราะนายเลิดไม่ได้ขายที่ดินทั้งหมดที่ตนมีอยู่บริเวณนั้นให้ เพียงแบ่งขายให้ส่วนหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นขนาดที่สมกับเงินที่ทางอังกฤษได้จากการขายที่ดินสถานกงสุลเดิมคืนให้กับรัฐบาลไทย นายเลิดจึงยังมีที่ดินเหลือตกทอดมาถึงลูกหลานสร้างเป็นโรงแรมห้าดาวดำเนินการอยู่จนทุกวันนี้ หากเป็นตามสมมติฐานนี้ก็เท่ากับว่าอังกฤษก็ได้ที่ดินที่เป็นที่ตั้งสถานทูตปัจจุบันมาโดยไม่ต้องควักเงินลงทุนอีกนั่นเอง

ขายที่แผ่นดินทองได้รับเงินหลายพันล้านไปแล้ว ทางอังกฤษยังมีที่ดินของสถานทูตเหลืออยู่ มีขนาดใหญ่กว่าที่ดินที่ขายไปแล้วเสียอีก เมื่อที่ดินที่ขายไปได้รับการพัฒนาแล้วที่ดินที่เหลืออยู่น่าจะยิ่งมีค่าสูงขึ้นอีกเป็นทวีคูณสมเป็นแผ่นดินทองโดยแท้

นับจากปี พ.ศ. 2400 ที่อังกฤษได้ที่ดินผืนแรกไปกระทั่งปี พ.ศ. 2549 ก็เป็นเวลาประมาณ 150 ปี อังกฤษได้รับผลตอบแทนจากเรื่องที่ดินไปปีละ 20 กว่าล้านบาท โดยไม่ต้องลงทุนแม้แต่บาทเดียว

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เชิงอรรถ :

[1] ดู แถมสุข นุ่มนนท์. การทูตไทยสมัยรัตนโกสินทร์. ไทยวัฒนาพานิช, 2528, น. 1-2.

[2] ศ.ดร. เพ็ญศรี ดุ๊ก. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย : ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงสิ้นสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม. พิมพ์ครั้งที่ 2. ราชบัณทิตยสถาน, 2544, น. 6.

[3] ดู Office of the Prime Minister. The Committee for the Publication of Historical Documents. Foreign Records of the Bangkok Period up to A.D. 1932, A.D. 1982, p. 39-41.

[4] เพิ่งอ้าง

[5] เพิ่งอ้าง

[6] ดู เอนก นาวิกมูล. ถิ่นฐานบ้านเรา. พิมพ์คำ, 2546, น. 174.

[7] “100 ปี กรมไปรษณีย์โทรเลข,” น. 57. อ้างใน พีรศรี โพวาทอง. ช่างฝรั่งในกรุงสยาม. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548, น. 118.

[8] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กต. (ล) 21 เล่ม 42 อ้างใน พีรศรี โพวาทอง. ช่างฝรั่งในกรุงสยาม. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548, น. 118.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ธันวาคม 2560

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น