โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ปอบ ผีปอบเป็นอย่างไร? เกิดจากไหน? การไล่-กำจัดปอบทำอย่างไร?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 12 ม.ค. 2567 เวลา 17.32 น. • เผยแพร่ 12 ม.ค. 2567 เวลา 17.26 น.
ภาพปก-ผีปอบ
(ภาพประกอบเนื้อหา ออกแบบโดย AI)

ความเชื่อเรื่อง “ปอบ” หรือ “ผีปอบ” น่าจะมีกำเนิดทางภาคอีสานมากกว่าภาคอื่นๆ ของไทย แต่ก็เป็นที่รู้จักกันทั่วไปแทบทุกภาค

ถ้าเราเปิดพจนานุกรมไม่ว่าฉบับไหน จะให้นิยมหรือคำอธิบายว่า ปอบ เป็นผีจำพวกหนึ่งที่เชื่อกันว่าสามารถเข้าสิงร่างกายของคน กินตับไตไส้พุง ทำให้คนผู้นั้นตายแล้วออกไป

บางฉบับอธิบายยาวออกไปอีกหน่อยว่า ความจริงคนตายตั้งแต่ผีปอบกินตับไตไส้พุงตั้งแต่แรกแล้ว แต่ผีนั้นยังสิงอยู่ทำให้เห็นว่ายังไม่ตาย

แม้ในสารานุกรมไทยก็ไม่ได้อะไรมากไปกว่านี้นัก เพราะสารานุกรมเป็นหนังสือทางวิชาการ เรื่องผีๆ สางๆ คงไม่ใช่เรื่องทางวิชาการแน่ๆ หาไม่แล้วเราคงมีเรื่อง ภูติศาสตร์ หรือผีศาสตร์ ร่ำเรียนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ในรำพันพิลาปของท่านสุนทรภู่ มีข้อความรำพันเกี่ยวกับเรื่องปอบหรือผีปอบว่า

“ทางฝ่ายลูกถูกปอบมันลอบใช้ หาแก้ได้ให้ไปกินเจ้าของ”

ปอบ เป็นตัวอย่างไร?

ผมไม่เคยเห็นตัวปอบหรือผีปอบ แต่ได้ทราบจากคำบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า ตัวเหมือนหนูหรือพังพอน

คนอีสานมักชอบกล่าวถึงคนที่เป็นปอบว่า “หางเต็มกำ” ซึ่งหมายความว่า คนผู้นั้นมีปอบอยู่หลายตัว ขนาดมีหางเต็มกำมือทีเดียว

ผมเคยถามคุณลุงคนหนึ่ง ซึ่งคนทั้งหลายบอกว่าแกเคยเป็นปอบ แต่เวลาผมถามนั้นแกหายเป็นปอบไปนานแล้ว

แกเล่าให้ฟังว่าตัวแกเองไม่เคยเป็นปอบ เคยปรากฏแต่เพียงว่า ในหน้าแล้งแกจะเดินออกจากบ้านไปยังหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก พอออกจากบ้านเดินข้ามท้องทุ่งไปเท่านั้นเอง มองไปข้างหน้าจะเห็นฝุ่นฟุ้งเป็นระยะๆ คล้ายกับมีสัตว์จำพวกอีเห็นหรือพังพอนวิ่งออกหน้า แต่มองไม่เห็นตัว

ตัวแกไปยังไม่ทันถึงหมู่บ้านนั้น ก็มีเสียงเอะอะโวยวายหรือไม่ก็เสียงร้องไห้ดังระงมมาจากหมู่บ้านนั้น แสดงว่าปอบของแกไปเข้าสิงคนเข้าไปให้แล้ว

ผีปอบ เกิดจากอะไร?

คนอีสานเชื่อกันว่า ปอบ เกิดจากการเรียนมนต์ หรือการเรียนเป็นผีฟ้า ผีแถน

คำว่า “มนต์” หรือ “มนตรา” นั้นมีมากมาย ผู้ใดต้องการศึกษาโดยละเอียดโปรดหนังสือ “มนต์โบราณอีสาน” ของท่านมหา (ดร. ปรีชา พิณทอง) มาอ่านดูเถิด

ในที่นี้ผมขอจำแนกชนิดของมนต์อย่างง่ายๆ เป็นสองชนิดคือ “มนต์พุทธ” กับ “มนต์มาร”

มนต์ใดที่เรียนไว้เพื่อป้องกันตนเองจากการเบียดเบียนทำร้ายหรือแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง อาจช่วยเหลือผู้อื่นที่เป็นสุจริตชนในยามจำเป็นได้ เรียกว่า “มนต์พุทธ”

ถ้ามีลักษณะตรงข้าม คือเรียนไว้เพื่อทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น หรือมีรากฐานตั้งอยู่บนกิเลสตัณหา อย่างนี้เรียกว่า “มนต์มาร” เช่นวิชาทอนหนังบังฟัน ปั้นหุ่นปั้นรอย ไท้เศรษฐี (คือมนต์ที่เรียนเพื่อให้ตนเองมั่งคั่งร่ำรวยกว่าผู้อื่น) ทำเสน่ห์ยาแฝด ใส่ไซเอาเงิน เสกข้าวขึ้นลาน (คือเสกเป่าเพื่อให้ข้าวเปลือกจากที่อื่นมาอยู่ในลานข้าวของตนให้มากๆ) เป็นต้น

มีมนต์อยู่ชนิดหนึ่ง ซึ่งผมไม่กล้ารับรองว่าจะขลังหรือศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่เพียงไร และจะไม่เอ่ยชื่อมนต์นั้น ขอบอกเพียงว่าเป็นมนต์สำหรับผู้หญิง เมื่อเสกหรือบริกรรมเสร็จแล้วมีสรรพคุณเพิ่มขนาดของเครื่องเพศได้

“มนต์มาร” เกือบทุกอย่างมักจะมีข้อห้ามซึ่งภาษาอีสานว่า “คะลำ” เอาไว้ เป็นข้อห้ามที่หนักบ้างเบาบ้างตามชนิดของมนต์ เช่น ไม่ให้หันมองลงบ่อ ไม่ให้กินข้าวในบ้านที่กำลังมีงานศพ (เฮือนผีตาย)

มนต์ทุกอย่างจะต้องมีค่ายกครู (คาย ในภาษาอีสาน) ในการเรียน และถ้าเป็นมนต์ในการใช้รักษาการเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่ออาการป่วยนั้นหายแล้วก็มีข้อห้ามว่า ไม่ให้เรียกค่าสมนาคุณหรือค่าครูเกินเท่านั้นเท่านี้ ทั้งนี้รวมไปถึงการเรียนเป็นผีฟ้าผีแถน ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องของผู้หญิง เพราะฉะนั้นไม่ว่าหญิงหรือชายก็มีสิทธิ์จะเป็นปอบกันได้ทั้งนั้น

ผู้เรียนมนต์แล้ว “คะลำ” ไม่ได้หรือเรียกค่าขึ้นครูเกินกำหนดจะเป็นปอบ

ปอบมีหลายชนิด

ปอบที่เกิดจากสาเหตุดังกล่าวมาแล้ว เมื่อมีการ “เสียปอบ” คือให้หมอผี (ปอบ) ชำระหรือกำจัดเสีย บางรายก็จะหายหรือคนที่เป็นปอบนั้นตายไป ปอบก็จะตายตามไปด้วย อย่างนี้เป็นปอบธรรมดา

แต่บางรายไม่อย่างนั้น พ่อแม่เป็นปอบ พ่อแม่ตายแล้ว ปอบไม่ยอมตายตาม เป็นมรดกตกทอดมาให้ลูกหลานอีก มรดกแบบนี้คงไม่มีลูกหลานคนไหนอยากรับ อย่างนี้เรียกว่า “ปอบเชื้อ”

มีปอบอยู่ชนิดหนึ่งเรียกว่า “ปอบแลกหน้า” เช่น นายคำมี ไม่ได้เป็นปอบแต่คนอื่นเป็น เวลาปอบตัวนั้นไปเข้าคนแล้วไม่บอกชื่อตน แต่บอกว่าตัวเป็นปอบของนายคำมีอย่างนี้เป็นต้น คือ เอาชื่อคนอื่นไปแลกกิน เรียกว่าปอบนิสัยเลวก็ว่าได้

เมื่อ “ปอบ” เข้าคน

ภาษาไทยกลางว่าปอบสิง ส่วนทางอีสานว่าปอบเข้า ความจริงก็อันเดียวกันน่ะแหละ เข้าสิงยังไงล่ะ

เวลาปอบเข้าคนนั้นมีอาการต่างๆ กัน บางคนร้องเอะอะโวยวาย บางคนร้องไห้โฮ บางคนล้มฟุบสลบไสลไปในทันทีทันใด บางคนไม่มีอาการดังกล่าวเลย แต่อาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่แล้วก็ทรุดหนักลงไปทันทีทันใดเหมือนกัน บางคนกว่าจะรู้ว่าปอบเข้าสิงก็เวลาผ่านไปแล้วตั้งวันสองวัน

ที่รู้ว่าปอบเข้าหรือปอบสิงนั้น เพราะผีปอบมันออกปากเอง คือบอกว่าข้าคือปอบของคนนั้นคนนี้

แต่บางคนไม่ออกปากเลย ต่อเมื่อคนพากันสงสัยจัดให้มีการ “ไล่ปอบ” ขึ้นจึงได้ออกปาก ปอบชนิดนี้เรียกว่า “ปอบกักกืก” (คำว่า “กืก” แปลว่า “ใบ้” ในภาษาอีสาน)

ไล่ปอบ

เมื่อรู้ว่าปอบสิงใครแล้ว การไล่ปอบก็จะเกิดขึ้น

วิธีไล่ปอบนั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น คั่วพริกให้ควันเข้าจมูก แทงด้วยว่าน เอาสัตว์น่าเกลียดน่ากลัวบางชนิด เช่น คางคก ตุ๊กแก เป็นต้นมาทำให้กลัว (วิธีนี้ส่วนมาใช้กับผู้หญิง) แต่ส่วนมากมักไล่ด้วยคาถาอาคมซึ่งมีหมอผี (ปอบ) ไล่โดยเฉพาะ

ตามปกตินั้นเมื่อทราบแน่ชัดว่าใครถูกปอบเข้าสิงแล้ว มักจะมีการไถ่ถามกันก่อนว่าแกเป็นใคร มาจากไหน มาทำไม ตลอดถึงเรื่องอื่นๆ ที่ต้องการรู้ เช่นโกรธเคืองเขาเรื่องอะไร เรียนอะไรมาถึงได้เป็นปอบ เคยกินคนมาแล้วกี่คน ดังนี้เป็นต้น เสร็จแล้วก็ลงมือไล่ตามวิธีของหมอแต่ละคน เช่น อาจจะผูกข้อมือข้อเท้าไว้แล้วเฆี่ยนด้วยหวาย แทงด้วยว่าน หรือไม้เท้าสำหรับไล่ปอบไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย พร้อมกับกำราบด้วยเสียงอันดังว่า “แก (มึง) จะออกไหม ไม่ออกกูจะเอาตาย” อย่างนี้จนกว่าปอบจะยอมจำนน และรับปากว่าจะออก

อาจารย์บางคนขลังนักเรื่องไล่ปอบ พอปอบเข้าใครคนไปตามอาจารย์มา อาจารย์ยังไม่ทันขึ้นบ้าน เพียงปอบได้ยินเสียงทางนี้ก็เปิดหนีไปแล้ว

นอกจากการไล่ปอบแล้ว ยังมีการกันปอบอีก

การกันปอบนั้นก็กันด้วยมนต์หรือคาถาอาคม โดยผู้ต้องการจะไม่ให้ปอบเข้าบริกรรมคาถาเอาเอง หรือไม่ก็ให้อาจารย์เสกด้ายผูกข้อมือข้อเท้า หรือขึงรอบบริเวณบ้านเรือนที่ปอบชอบแวะมาเยี่ยมเยือนบ่อยๆ

ปอบพ่าย

เมื่อปอบยอมจำนนต่อดอกเตอร์ปอบแล้วก็จะออกหนีไป

วิธีออกหนีมีอยู่สองวิธี คือด้วยการไปถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ และด้วยการอาเจียน

เมื่อทำอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนั้นแล้ว คนที่ถูกปอบเข้าก็จะมีอาการเหมือนคนปกติธรรมดา

กระบวนการกำจัดปอบ

เมื่อชาวบ้านชาวช่องเขาโจษจันกันว่า คนนั้นคนนี้เป็นปอบ คนที่ถูกโจทย์นั้นจำเป็นต้องหาทางขจัดปอบให้สิ้นไปโดยมีทางทำได้อยู่ 3 วิธี คือ

1. เสียปอบ คือเอาหมอที่รู้เวทย์มนต์ในการกำจัดปอบมากำจัดตามวิธีของเขา

2. ไปอยู่เสียที่อื่นที่ห่างไกล สำหรับข้อ 2 นี้ มีทางเลือกอยู่สามทาง คือ ก. เข้าไปอยูในเมืองใหญ่ๆ ข. ไปอยู่ในป่าดงพงพีที่ห่างไกลจากบ้านเดิมมากๆ ถ้าในสมัยก่อนก็ชั่วเดินสองสามคืนนั่นแหละยิ่งดี ค. ไปอยู่บ้านที่ห่างไกลและเข้ารีตเป็นคริสตศาสนิก

ผีปอบคงกลัวหรือละอายแสงนีออน ไม่ก็หนวกหูเสียงรถราหรือเรือบิน เมื่อเข้ามาเมืองใหญ่แล้วจึงไม่ไปกินใครต่อใคร และเมื่อไปอยู่ที่ไกลผู้ไกลคนตามข้อ ข. นั้น ปอบไม่มีอะไรจะกินก็คงตายไปเอง และข้อสุดท้ายไปเข้ารีตอยู่กับคุณพ่อบาทหลวงนั้น เมื่อคุณพ่อบาทหลวงไม่รับรู้เรื่องผีๆ สางๆ ปอบก็เลยอายม้วนต้วน ไม่กล้าจะไปเข้าสิงผู้ใดอีก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “หมู่บ้านผีปอบ” เขียนโดย กิมทอง มาศสุวรรณ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2533

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 ธันวาคม 2565

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ปอบ ผีปอบเป็นอย่างไร? เกิดจากไหน? การไล่-กำจัดปอบทำอย่างไร?

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น