นับวันกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยิ่งเพิ่มพลังแรงมีผลต่อการผลิตสินค้าทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งผลผลิตที่มาจากสวนยางพาราก็ยังถูกกระแสบีบให้ต้องทำตามมาตรฐานสากลที่เรียกว่า “การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน”
บรรดาประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ กลุ่มสหภาพยุโรป หรือญี่ปุ่น ยึดมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (Forest Stewardship Council) หรือเรียกย่อๆ ว่า FSC มาหลายปีแล้ว แต่บ้านเราเพิ่งเริ่มใช้มาตรฐาน FSC กับผลผลิตจากยางพาราเมื่อปี 2563 นี่เอง
ปีที่แล้วประเทศไทยปลูกยางพารามากกว่า 23 ล้านไร่ ส่งออกยางธรรมขาติปีละ 4.3 ล้านตัน มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศ 1.67 แสนล้านบาท แต่มีสวนยางที่ผ่านมาตรฐาน FSC เพียงแค่ 1 แสนไร่
อนาคตธุรกิจยางไทยจะมีความเสี่ยงสูง หากไม่เร่งปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานสากล เพราะนานาชาติงัดมาตรฐานนี้มาอ้างไม่ซื้อผลผลิตจากไทย
เมื่อไม่นานมานี้ คุณณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ออกมาเปิดเผยว่า บริษัทมิชลิน ผู้ผลิตยางรถยนต์แห่งฝรั่งเศส และบริษัทอิเกีย เจ้าของห้างเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ของโลกส่งสัญญาณเตือนจะไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ยางของไทยถ้าไม่ได้มาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนภายใน 2 ปี
คุณกรณ์บอกว่า จะต้องกระตุ้นให้เกษตรกรปลูกยางพาราเร่งปรับตัว ทั้งวิธีจัดการปลูกยางและการผลิตยางใช้กระบวนการรับรองตามมาตรฐานสากลซึ่งจะทำให้ขายสินค้าในราคาที่สูงขึ้นกว่าปกติถึง 40 เปอร์เซ็นต์
ก่อนหน้า บริษัทพิเรลลี่ ผู้ผลิตยางรถยนต์ของอิตาลีออกประกาศว่า พิเรลลี่เป็นบริษัทแห่งแรกในโลกที่ผลิตยางรถยนต์รุ่น พี ซีโร่ ตามมาตรฐาน FSC นำไปใช้กับรถบีเอ็มดับเบิลยู รุ่น เอ็กซ์ 5 ไฮบริด
ผู้ผลิตยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลก ใน 10 อันดับ อาทิ มิชลิน บริดจสโตน ก็มีพิเรลลี่ เป็นหนึ่งในนั้น ได้นำมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนมาใช้ในการผลิตสินค้าเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างผลกำไรให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางของสหประชาชาติ
พิเรลลี่วางเป้านำยางธรรมชาติที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลมาใช้ผลิตยางรถยนต์ตั้งแต่ปี 2560 หลังจากเชิญนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เกษตรกรชาวสวนยาง และโรงยางมาพูดคุย จากนั้นเดินตามแผนจนกระทั่งสามารถผลิตยางรถยนต์ที่ผ่านมาการรับรอง FSC ยี่ห้อแรกในโลก ฉลองครบรอบ 150 ปีของบริษัท
ย้อนกลับไปดูที่มาของ FSC เกิดจากการประชุมสุดยอดว่าด้วยสิ่งแวดล้อมโลก (Earth Summit) ที่กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 2535 ในเวลานั้นองค์กรภาคเอกชน อาทิ กลุ่มอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม กลุ่มชนพื้นเมือง องค์กรชุมชนท้องถิ่น ผู้ค้าไม้ กลุ่มผลิตสินค้าจากไม้ เห็นว่า ชาวโลกพากันบุกรุกทำลายป่าอย่างมโหฬาร แม้รัฐจะสนับสนุนให้ปลูกป่าทดแทนแต่ก็ไร้มาตรฐาน
ปีถัดมาในการประชุมป่าไม้ของทวีปยุโรป ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ร่วมกันเห็นชอบให้จัดวางมาตรฐานในการบริหารป่าไม้ทั่วโลกอย่างยั่งยืน ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและเพื่อรับประกันว่า ไม้ รวมถึงสินค้าไม้ที่ไม่ได้มาจากป่าธรรมชาติ แต่เป็นไม้ที่ปลูกด้วยวิธีการจัดการบริหารอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
หลักเกณฑ์ที่สำคัญของ FSC กำหนดให้พื้นที่ปลูกป่ายางผ่านกระบวนการถูกต้องตามกฎหมาย ป่ายางพาราจะต้องไม่อยู่ในเขตป่าสงวนหรือที่ดินสาธารณะ เจ้าของสวนยางต้องให้ความเคารพในสิทธิของชนพื้นเมือง คนท้องถิ่น และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน
ก่อนที่จะได้รับใบรับรองมาตรฐาน FSC เจ้าของสวนยางจะต้องผ่านการอบรมวิธีใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีอันตราย กระบวนการกรีดยางรีดน้ำยางจะไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม กระทบต่อชุมชน รวมถึงรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ
มาตรฐาน FSC แพร่หลายไปทั่วโลก มีพื้นที่ป่าราว 1,200 ล้านไร่ที่ได้รับมาตรฐานสากลนี้ใน 120 ประเทศ
สินค้าที่ผ่านการรับรองจะติดฉลาก FSC ผู้ผลิตที่ติดฉลาก FSC บนสินค้าบอกว่าจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ดูดีในสายตาของผู้บริโภคที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม เพราะหมายถึงผู้ผลิตมีความรับผิดชอบต่อโลก และสินค้าเหล่านั้นมียอดขายเพิ่มขึ้นด้วย
กลับมาที่ประเด็นพื้นที่สวนยางพาราในบ้านเรา มีคำถามว่าปล่อยให้ปลูกยางพารามากเกินไปหรือเปล่า เมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการของตลาดโลกซึ่งมีผลต่อราคายาง ทำให้พ่อค้ากดราคา
เวลานี้ราคายางแผ่นดิบในบ้านเราเหลือกิโลกรัมละ 43 บาทเศษ เทียบกับปี 2554 สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ราคายางเคยพุ่งทะลุ 172 บาท/กิโลกรัม
แนวโน้มตลาดยางโลกยังคงผันผวน ราคาพุ่งทะยานเหมือนในอดีตมีโอกาสเป็นไปได้ยาก แหล่งรับซื้อยางรายใหญ่อย่างสหภาพยุโรป ทยอยออกกฎระเบียบใหม่ๆ นอกเหนือจากมาตรฐาน FSC ที่มีอยู่แล้ว เช่น กฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์ปลอดจากการทำลายป่าหรือทำให้ป่าเสื่อมสภาพ
การออกกฎหมายใหม่ๆ เหล่านี้จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับตลาดยางมากขึ้นไปอีก
ถ้าชาวสวนยางของบ้านเราเมินโลกที่ให้ความสำคัญกับกระแสเขียว ไม่ควบคุมการปลูกยางตามมาตรฐาน FSC ปล่อยให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าธรรมชาติ ไม่จำกัดพื้นที่การปลูกยางหรือลดพื้นที่สวนยางลง
ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐไม่ได้ผลักดันสร้างงานวิจัยพัฒนาเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ยางใหม่ๆ ให้มีมูลค่าสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้เข้าสู่ภาวะถดถอย คาดเดาไว้ล่วงหน้าราคายางดิบของไทยมีแต่ทรงกับทรุดเท่านั้น •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
ความเห็น 0