โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ถอดบทเรียนโควิดประเทศไทย ตั้งแต่จุดเริ่มระบาดใหญ่ สู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

The Bangkok Insight

อัพเดต 14 ส.ค. 2565 เวลา 05.40 น. • เผยแพร่ 14 ส.ค. 2565 เวลา 05.40 น. • The Bangkok Insight
ถอดบทเรียนโควิดประเทศไทย ตั้งแต่จุดเริ่มระบาดใหญ่ สู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

"หมอขวัญชัย" บันทึกบทเรียนโควิดประเทศไทย นับแต่เริ่มระบาดใหญ่จากอู่ฮั่น จนถึงปัจจุบันหลังโควิดไม่เป็นโรคติดต่ออันตราย

นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo ถอดบทเรียนจากการระบาดวิทยาของโควิด-19 ในไทย สู่ชีวิตหลังโควิดไม่เป็นโรคติดต่ออันตราย โดยระบุว่า

โควิดประเทศไทย
โควิดประเทศไทย

ถอดบทเรียนจากระบาดวิทยาของโควิดประเทศไทย สู่การใช้ชีวิตหลังจากโควิดไม่เป็นโรคติดต่ออันตราย

1. การระบาดระลอกแรกของเชื้อสายพันธุ์อู่ฮั่นในประเทศไทย (มกราคม 2563 - เมษายน 2564)

เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการระบาดยาวนานกว่า 1 ปี มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตน้อยเมื่อเทียบกับระลอกอื่นๆ จึงไม่ได้แสดงรายละเอียดไว้ในกราฟ แต่พอจะสรุปเหตุการณ์ที่สำคัญๆได้ดังนี้

เริ่มมีรายงานผู้ป่วยโควิดรายแรกในประเทศไทยในวันที่ 14 มกราคม 2563 ต่อจากนั้นก็มีรายงานประปรายครั้งละไม่กี่คน ส่วนใหญ่นำเข้ามาโดยนักท่องเที่ยวต่างชาติและติดต่อไปยังผู้ที่สัมผัสใกล้ชิด

แต่ในที่สุดก็มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนรัฐบาลต้องประกาศให้โควิดเป็นโรคติดต่ออันตรายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้สามารถออก และบังคับใช้กฎหมาย เพื่อควบคุมการระบาดได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

การระบาดเป็นวงกว้างครั้งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2563 โดยเริ่มจากการติดต่อในสถานบันเทิง/สนามมวยก่อน และกระจายไปทั่วประเทศ จึงมีการตั้ง ศบค. ขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม 2563 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการระบาดของโควิดทั่วประเทศขึ้น ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการต่ออายุประกาศฉบับนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

แม้จะสามารถควบคุมการระบาดใหญ่ครั้งแรกได้อย่างรวดเร็ว แต่ต่อมาก็มีการระบาดเล็ก ๆ ขึ้นอีกหลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งสามารถควบคุมได้ภายในเวลาอันสั้น ทำให้ในช่วงเวลา 1 ปี 4 เดือนของการระบาดระลอกแรกนี้ มีผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 28,863 ราย เสียชีวิต 94 ราย คิดเป็นอัตราการป่วยตาย 0.33%

รูปที่ 1 แสดงระบาดวิทยาของโควิดประเทศไทยตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน (มกราคม 2563-สิงหาคม 2565)

จะเห็นว่าในการระบาดระลอกแรกของโควิดนี้ แม้จะยังไม่มีทั้งยารักษาและวัคซีนป้องกันโรคเลย แต่ประเทศไทยกลับสามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

สาเหตุหลักมาจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชนคนไทยทั่วประเทศ ในการปฏิบัติตามมาตรการภาครัฐ รวมทั้งมีการป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด

หลังจากที่มีการวิจัยและผลิตวัคซีนป้องกันโควิดสำเร็จในช่วงปลายปี 2563 หลายประเทศก็เริ่มต้นฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้ผลิตวัคซีนและประเทศที่ร่ำรวย

ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาต่างดิ้นรนเสาะหาวัคซีนเพื่อนำไปฉีดให้กับประชาชนในประเทศของตนแต่ส่วนใหญ่ไม่ประสบผลสำเร็จ

สุดท้ายประเทศไทยสามารถจัดหาวัคซีนชนิดเชื้อตาย ซึ่งผลิตโดยบริษัทในประเทศจีนในจำนวนจำกัด เพื่อนำมาฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ก่อน โดยเริ่มต้นฉีดล็อตแรกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564

2. การระบาดของเชื้อสายพันธุ์อัลฟ่า (เมษายน 2564 - มิถุนายน 2564)

ยังไม่ทันที่ประเทศต่างๆทั่วโลกจะสามารถระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนจำนวนมากได้ เชื้อไวรัสโควิดก็เริ่มมีการกลายพันธุ์

สายพันธุ์แรกที่น่ากังวลคือ สายพันธุ์อัลฟา ที่เกิดขึ้นในอังกฤษ ตามด้วยสายพันธุ์เบตา ที่เกิดขึ้นในอัฟริกาใต้ ซึ่งใช้เวลาไม่นานเชื้อกลายพันธุ์ทั้ง 2 ชนิด ก็แพร่กระจายไปจนกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลก แทนที่สายพันธุ์อู่ฮั่น

การระบาดใหญ่ของเชื้อสายพันธุ์อัลฟาในประเทศไทย เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564 ซึ่งก็คล้ายกับระลอกแรกคือ เชื้อถูกนำเข้าโดยนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้เกิดการระบาดในสถานบันเทิง และในที่สุดก็กระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว

เชื้อสายพันธุ์อัลฟามีความสามารถในการแพร่กระจายสูงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ทำให้แม้จะมีการระบาดเป็นช่วงสั้น ๆ เพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่กลับมีผู้ติดเชื้อมากกว่าระลอกแรกเกิน 5 เท่าคือ 160,965 ราย เสียชีวิต 1,308 ราย คิดเป็นอัตราการป่วยตายสูงถึง 0.81%

สาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในช่วงนั้น ประเทศไทยยังจัดหาวัคซีนได้ในจำนวนจำกัด ซึ่งเพียงพอสำหรับฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และด่านหน้าเท่านั้น ไม่สามารถระดมฉีดให้กับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ได้

ประกอบกับการที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขี้นจำนวนมากในระยะเวลาสั้น ๆ ส่งผลกระทบต่อระบบการดูแลรักษาพยาบาลของประเทศเป็นอย่างมาก

3. การระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตา (มิถุนายน 2564 มกราคม 2565)

เพียงไม่กี่เดือนหลังจากการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์รุ่นแรก เชื้อสายพันธุ์เดลตาก็เกิดขึ้นในประเทศอินเดียและแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เชื้อสายพันธุ์เดลตามีความสามารถในการแพร่กระจาย สูงกว่าสายพันธุ์อัลฟาและเบตามาก รวมทั้งยังก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงมากกว่าอีกด้วย

เชื้อสายพันธุ์เดลตาเริ่มระบาดในประเทศไทยในเดือนมิถุนายน 2564 และกินเวลายาวนานถึง 6 เดือน ทำให้มีผู้ติดเชื้อมากถึง 2,410,354 ราย เสียชีวิต 20,296 ราย คิดเป็นอัตราการป่วยตายสูงถึง 0.84%

ประเทศไทยเริ่มได้รับวัคซีนชนิดเวคเตอร์ ซึ่งผลิตโดยบริษัท แอสตราเซเนกา ประเทศไทย เป็นจำนวนมากพอสมควร จึงระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศเป็นครั้งแรกในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 โดยเริ่มต้นจากประชาชนในกลุ่มเสี่ยง 608 ก่อนและขยายไปยังประชาชนทั่วไปในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของการผลิตในระยะแรก ทำให้คนไทยได้รับการฉีดวัคซีนในอัตราที่ไม่สูงมากนัก ประกอบกับกว่าจะได้รับวัคซีนชนิด mRNA เข้ามาใช้ภายในประเทศก็ล่วงเข้าสู่ช่วงปลายปี 2564 ดังนั้นต้องใช้เวลาถึง 6 เดือนจึงสามารถฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มได้เกิน 60% ของประชากรในวันที่ 1 ธันวาคม 2564

การระดมฉีดวัคซีนในประเทศไทยแม้จะช้าไปบ้าง แต่ก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมและลดความสูญเสียจากการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้า เพราะหากในช่วงนั้นประเทศไทยไม่มีวัคซีน เชื่อว่าน่าจะมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิดมากกว่านี้หลายเท่าตัว

4. การระบาดของเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1/BA.2 (มกราคม 2565 - มิถุนายน 2565)

ในช่วงปลายปี 2564 แม้จะมีการระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้กับประชาชนทั่วโลกอย่างกว้างขวาง แต่กลับเกิดการระบาดของเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนขึ้น โดยเริ่มจากทวีปอัฟริกาและกระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

เนื่องจากเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน มีความสามารถในการแพร่กระจายสูงกว่าสายพันธุ์เดลตาหลายเท่า แถมยังสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีนอีกด้วย

การระบาดของโอไมครอนในประเทศไทย เริ่มขึ้นในเดือนมกราคม 2565 โดยในช่วง 6 เดือนแรก เกิดจากเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.1/BA.2 ซึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อมากถึง 4,012,941 ราย

แต่ยังโชคดีที่เชื้อโอไมครอนก่อโรคที่ไม่รุนแรงเท่าเชื้อสายพันธุ์เดิม ร่วมกับมีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบและได้รับเข็มกระตุ้นเพิ่มขึ้นมากซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรงได้

ทำให้แม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าช่วงที่เดลตาระบาดเกือบ 2 เท่า แต่กลับมีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าเกือบ 3 เท่า คือ เพียง 8,588 ราย คิดเป็นอัตราการป่วยตายเพียง 0.21% เท่านั้น ต่ำกว่าเชื้อสายพันธุ์อัลฟาและเดลตาราว 4 เท่า

5. การระบาดของเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 (มิถุนายน 2565 - ปัจจุบัน)

เมื่อเริ่มควบคุมสถานการณ์ได้ ประเทศไทยก็ค่อย ๆ ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิดลงตามลำดับ จนกระทั่งกำลังจะมีการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565

แต่ในช่วงดังกล่าวกลับเกิดการระบาดของเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ขึ้นในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2565 มาจนถึงปัจจุบัน

เชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 มีความสามารถในการแพร่กระจายสูงกว่าสายพันธุ์เดิมทั้งหมดที่เคยมีมา และสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อสายพันธุ์เดิมทุกชนิด และการฉีดวัคซีน จึงเป็นที่จับตาว่าอาจจะทำให้เกิดการระบาดหนักทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย

ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ภาครัฐได้ปรับระบบข้อมูลโควิด โดยรายงานเฉพาะจำนวนผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรง และรับไว้รักษาในรพ.เท่านั้น ทำให้แม้หลายฝ่ายจะเชื่อว่าการระบาดระลอกนี้ น่าจะมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก แต่จำนวนผู้ป่วยรายวันในกราฟกลับต่ำมาก

สาเหตุหลักเกิดจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ มีไม่มากนักที่อาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในรพ. ซึ่งยืนยันได้จากข้อมูลที่มีผู้เสียชีวิตเพียง 1,540 รายในช่วง 2 เดือนของการระบาดระลอกนี้ และอัตราการเสียชีวิตจากโควิดเฉลี่ยรายวันก็ต่ำกว่าช่วง 6 เดือนที่เชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.1/BA.2 ระบาดเกือบ 2 เท่า

จะเห็นว่า แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดไปแล้วเกือบทั้งหมด รวมทั้งยังมีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ แต่ประเทศไทยก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เป็นที่น่าพอใจ

ภาครัฐจึงวางแผนจะประกาศปรับโควิดจากการเป็นโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก มาลาเรีย ฯลฯ) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

ถือว่าเป็นการสิ้นสุดการระบาดใหญ่ของโควิดประเทศไทย เพื่อให้คนไทยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติมากที่สุด และสามารถอยู่ร่วมกับโควิดได้อย่างปลอดภัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0