โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

" หวานน้อย..สั่งได้ " สธ.ดันนโยบาย เพิ่มทางเลือกช่วยคนไทยไม่ติดหวาน

สวพ.FM91

อัพเดต 04 มี.ค. 2563 เวลา 20.37 น. • เผยแพร่ 04 มี.ค. 2563 เวลา 20.37 น.

กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มทางเลือก “หวานน้อยสั่งได้” ช่วยคนไทยลดติดหวาน ป้องกันโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน หัวใจ พร้อมหนุนสร้างโรงอาหารปลอดภัยใส่ใจสุขภาพ ส่งเสริมให้วัยทำงานมีสุขภาพดี
(4 มีนาคม 2563) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการ ตรวจเยี่ยมโรงอาหารปลอดภัยใส่ใจสุขภาพ (Healthy Canteen) ของกรมอนามัย และมอบทางเลือกหวานน้อยสั่งได้ ณ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเปิดตัว “โรงอาหารปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ” (Healthy Canteen) เพื่อให้คนวัยทำงานสามารถเข้าถึงอาหารสุขภาพลดหวาน มัน เค็ม โดยเน้นการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเรื่องโภชนาการให้ประชาชนเลือกบริโภคอาหารได้ครบถ้วน เพียงพอและหลากหลาย ซึ่งปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมติดหวานมากขึ้น ทั้งอาหารและเครื่องดื่มรสหวานที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินน้ำตาลสามารถเริ่มต้นได้จากเครื่องดื่มต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เมื่อต้องการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล เช่น ชานม ชาเขียว กาแฟ โกโก้ หรือ นมเย็น แนะนำให้ประชาชนสั่งสูตรหวานน้อย เพื่อลดปริมาณน้ำตาลที่จะได้รับในแต่ละแก้ว หรือลดขนาดเครื่องดื่มเป็นขนาดเล็กลง นอกจากนี้ขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะภาคเอกชนหรือร้านกาแฟที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ในการคิดค้นเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยจำหน่ายในร้านของตนเอง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ แต่หากต้องการดื่มเครื่องดื่มสำเร็จรูปที่มีวางจำหน่าย เช่น น้ำอัดลม นมเปรี้ยว น้ำผลไม้ ควรอ่านฉลากก่อนซื้อ โดยเลือกแบบที่ไม่เติมน้ำตาลเป็นดีที่สุด รองลงมาคือ เติมน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ หากน้ำตาลเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าหวานจัด ควรต้องหลีกเลี่ยง ทั้งนี้ เครื่องดื่มที่ดีที่สุดสำหรับร่างกายคือ น้ำเปล่า โดยควรดื่มอย่างน้อย 6 – 8 แก้วต่อวัน และควรกินอาหารให้ครบถ้วน หลากหลาย และมีคุณค่าทางโภชนาการ เน้นการกินผัก ผลไม้สดในทุกมื้ออาหาร
ทางด้าน แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่า คนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา ซึ่งมากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ถึงกว่า 4 เท่า มากกว่าครึ่งของปริมาณน้ำตาลที่ได้รับมาจากเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมน้ำตาล และข้อมูลจากการศึกษาเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 พบว่า โดยเฉลี่ยในแต่ละวันคนไทยดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยกว่า 3 แก้ว หรือประมาณ 519.3 มิลลิลิตร โดยเฉพาะเด็กอายุ 6 -14 ปี เป็นกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์ มากที่สุด เครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลที่วางจำหน่ายในประเทศไทยพบมีปริมาณน้ำตาลสูงมากเฉลี่ย 9 – 19 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ขณะที่ปริมาณที่เหมาะสมคือไม่ควรมีน้ำตาลมากกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เพราะจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิด โรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดัน หัวใจ หลอดเลือดหัวใจ และฟันผุ
ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข