โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แก้ปัญหาอย่างไรไม่ให้ท้อ - ดังตฤณ

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 22 ส.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • ดังตฤณ
Background photo created by freepik - www.freepik.com
Background photo created by freepik - www.freepik.com

ตอนท้อ จิตใจห่อเหี่ยวแห้งแล้ง

คุณจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่คู่ต่อสู้ของปัญหา

พร้อมจะยกธงขาว หมอบราบยอมแพ้อยู่กับที่

 

ตอนเกิดสติ จิตใจตื่นตัวขึ้น

คุณจะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มสูสี 

มีกำลังวังชาทัดเทียมกับปัญหาบ้างแล้ว

 

ตอนมีสมาธิ จิตใจชุ่มชื่นกระตือรือร้น

คุณจะรู้สึกว่าตัวเองมีพลังอยู่เหนือปัญหา

เอาชนะปัญหาได้อย่างง่ายดาย

และงุนงง ไม่เข้าใจเลยว่า

ทำไมชาวโลกเจอปัญหาแล้วต้องท้อกัน

 

หากมองปัญหาเป็นคู่ต่อสู้

กดดันจิตให้คิดท้อ

เค้นจิตให้คิดว่าชีวิตลำบาก

หรือบีบจิตให้คิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไข

ไม่มีวันที่อะไรๆ จะดีขึ้น

คุณจะอ่านเกมออกว่า ณ ขณะนั้น

ต้องแก้ไขกันที่อารมณ์หน่อยแล้ว

อย่าเพิ่งไปฝืนเดินหน้าแก้ปัญหา

ด้วยอาการขบเขี้ยวเคี้ยวฟันกรอดๆ เลย

 

ขอให้จำไว้ว่า เมื่อใดใจคุณแห้งแล้ง

เมื่อใดใจไร้ความชุ่มชื่น

เมื่อนั้นมโนภาพแห่งความหวังจะไม่เกิด

เหมือนเห็นตัวเองเป็นลูกหนู

ที่ไม่มีทางพร้อมจะต่อสู้กับราชสีห์นั่นแหละ

คุณจะเกร็งเนื้อเกร็งตัวสู้ไปอย่างซังกะตาย

ไม่หายเหนื่อย ไม่อาจบอกตัวเองเต็มปากว่า

เดี๋ยวจะชนะ เดี๋ยวจะหายเหนื่อยเสียทีแล้ว

 

วิธีง่ายๆที่จะมีสติ

คือ หายใจยาวๆ ครั้งหนึ่ง

ให้รู้สึกถึงความมีกายที่ยังใช้งานได้ดี

 

วิธีง่ายๆ ที่จะมีสมาธิ

คือ ปรับจิตที่กำลังเลื่อนลอยให้เข้าโฟกัส

ถามตัวเองว่า จุดจบของปัญหาที่ต้องการอยู่ตรงไหน

 

ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน

ความสำเร็จทั้งหลายไหลมาจากใจ

ขอแค่ให้ใจเล็งจุดจบของปัญหา

เห็นจุดจบของปัญหาเป็นเป้าหมายกระจ่างชัด

การออกแรงขยับไม้ขยับมือง่ายๆ จะเกิดขึ้นเอง

 

อย่างเช่น จะให้งานเสร็จทันกำหนด

แทนการเอาแต่มโนว่า ไม่ไหว ไม่ทันแน่

ซึ่งจะมีผลให้ร่างกายอ่อนเปลี้ย อยากงอมืองอเท้า

เปลี่ยนเป็นนึกภาพออกชัดๆ ว่า ต้องทัน

และทันก่อนกำหนดด้วย

ซึ่งจะมีผลให้มือไม้ขยับเริ่มก้าวแรกที่เล็กที่สุด

คือ เอากระดาษปากกามาขีดเขียน 

วางแผนซอยงานออกเป็นชิ้นๆ

กำหนดไปเลยว่าชิ้นหนึ่งน่าจะกี่ชั่วโมง หรือกี่วัน

 

พอกายใจของคุณจะเคลื่อนไหว 

ทำงานประสานกันระหว่างหัวคิดกับมือไม้

ทำเรื่องเล็กที่สุดในนาทีหนึ่งๆ ให้สำเร็จได้ทุกครั้ง

ก็จะขจัดความฝืดฝืน ท้อแท้ หมดเรี่ยวหมดแรงได้ทุกครั้ง

คล้ายนักทำสมาธิที่ไม่อิ่มไม่เบื่อ

ไม่วอกแวกกับสิ่งรบกวนจิตใจ

ไม่ติดเบ็ดเหยื่อล่อให้หลงออกนอกเป้า

กระทั่งสนุกกับการทำจิตให้เกิดสมาธิซ้ำๆ ได้ทุกวัน!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0