โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ภูมิภาค

กรมธรณี จ่อเฝ้าระวัง ‘เกาะเจมส์บอนซ์’ หรือเกาะตะปู จ.พังงา หวั่นถล่ม

MATICHON ONLINE

อัพเดต 30 มี.ค. 2564 เวลา 10.03 น. • เผยแพร่ 30 มี.ค. 2564 เวลา 10.03 น.
เฝ้าระวัง-เขาตะปู-หวั่นถล่ม

กรมธรณี จ่อเฝ้าระวัง ‘เกาะเจมส์บอนซ์’ หรือเกาะตะปู จ.พังงา หวั่นถล่ม

กรมธรณี จ่อเฝ้าระวัง ‘เกาะเจมส์บอนซ์’ หรือเกาะตะปู จ.พังงา หวั่นถล่ม เร่งลงพื้นที่สำรวจ เม.ย-พ.ค. นี้ เพื่อเฝ้าระวัง ชี้เป็นเขาสูงชัน เหมือนเกาะทะลุ ที่เกิดเหตุหินถล่มมาแล้ว

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) พาสื่อมวลชนลงพื้นที่หลังเกิดเหตุหินถล่มที่เกาะทะลุ เมื่อเดือนตุลาคม 2563 เพื่อเฝ้าระวังการเคลื่อนตัวของหิน

นายมนตรี กล่าวว่า ลักษณะทางธรณีวิทยาบริเวณเกาะทะลุหรือเกาะแม่อุไร เป็นหินตะกอนเนื้อประสานชนิดหินปูนเนื้อโดโลไมต์ (dolomitic limestone) อายุยุคเพอร์เมียน (251-299 ล้านปี) มีสีเทา เนื้อแน่น เป็นมวลหนา ไม่แสดงชั้นหิน มีรอยแตกรอยร้าวมากมาย เปราะแตกหักง่าย ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในภูมิภาคเขตมรสุม มีอากาศร้อนชื้น มีปริมาณน้ำฝนมาก และเกิดคลื่นซัดอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยในการเร่งการผุกร่อนของหินอย่างรวดเร็ว จึงเกิดเหตุหินถล่มดังกล่าวขึ้น ซึ่งการถล่มของหินเกาะทะลุ เป็นการถล่มแบบล้มคว่ำลงมาตามลาดเขา อีกทั้งอยู่ในเขตกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ซึ่งมีแนวแตกหลักอยู่ในแนวดิ่ง โดยหินถล่มที่เกาะทะลุมีน้ำหนัก 254,016 กิโลกรัม หรือประมาณ 254 ตัน

นายมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับการเฝ้าระวัง เบื้องต้นกรมทรัพยากรธรณี โดยสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 4 ได้มีการแนะนำให้กันพื้นที่โดยรอบของพื้นที่เกาะแม่อุไร รวมถึงพื้นที่รอบหินที่ถล่มรัศมี 100 เมตร และห้ามไม่ให้เรือประมง เรือท่องเที่ยวเข้าในพื้นที่ เนื่องจากอาจมีเศษหินที่ยังค้างอยู่บริเวณด้านบนเกาะร่วงหล่นลงมา และหินถล่มอาจมีการเคลื่อนตัวหรือแตกหักเพิ่มมากขึ้น พร้อมเฝ้าระวังติดตามการเคลื่อนตัวของหิน หรือการแตกเพิ่มเติมของหินจนกว่าหินจะมีเสถียรภาพที่มั่นคง

นายมนตรี กล่าวอีกว่า ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือโลกร้อนที่ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อชายฝั่งและหมู่เกาะแน่นอนในอนาคต ทั้งพายุเกิดถี่ขึ้น ลมที่พัดน้ำทะเลจนเกิดคลื่นขนาดใหญ่ หรือสตอร์มเซิร์จ และอัตราการกัดเซาะสูง โดยตามข้อสมมติฐานด้านธรณีวิทยา อย่างในยุคน้ำแข็ง เมื่อโลกมีอุณหภูมิสูง น้ำทะเลถดถอยลง เราจะเห็นหลักฐานจากชั้นดินชั้นหินต่างๆ หรือซากวาฬโบราณอายุกว่า 3,300 ปี ที่บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร พบซากห่างจากชายฝั่ง 12 กม. ถือเป็นหลักฐานธรณีวิทยาของน้ำทะเลถอยร่นลงมา

“จากกรณีของเกาะทะลุถล่ม และปราสาทหินพันยอด เกาะเขาใหญ่ จ.สตูล เกิดเหตุถล่ม โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ได้กำชับให้บูรณาการภายในหน่วยงาน ทั้งการดูธรณีสัณฐานแบ่งเป็นระบบหาด เน้นแหล่งท่องเที่ยวอุทยานเป็นหลักทั้งธรณีพิบัติภัยและการท่องเที่ยว พื้นที่เปราะบาง เช่น เกาะตะปู หรือ เกาะเจมส์บอนด์ พบมีโอกาสได้รับผลกระทบสูง แต่เบื้องต้นยังไม่มีการศึกษาลงลึกในรายละเอียด ทำให้กรมทรัพยากรธรณีและกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชวางแผนจะลงพื้นที่สำรวจช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงปิดการท่องเที่ยวช่วงมรสุมของภาคใต้ เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นฟู ภาพรวมเกาะตะปูมีความชันเป็นหน้าผาสูง ติดกับระดับน้ำทะเลที่ถูกกัดกร่อนโดยคลื่นลม ถือเป็นจุดเสี่ยงภัยดินถล่ม อาจมีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ” รองอธิบดีกรมฯธรณี ย้ำ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0