ถ้าเกิดยุคนี้ที่ประเทศไทย แรดคลิฟ ฮอลล์ (Radclyffe Hall) อาจเป็นนักเขียนนิยายวายขายดีไปแล้ว
แต่เพราะเธอเกิดเมื่อเกือบร้อยปีก่อนในประเทศอังกฤษ ชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับนวนิยายเรื่อง The Wall of Loneliness ของเธอจึงเป็นการถูกศาลตัดสินให้เผาทำลายและถูกระงับการตีพิมพ์ ด้วยข้อหามีเนื้อหาล่อแหลมไม่เหมาะสม เพราะเนื้อเรื่องว่าด้วยความรักความสัมพันธ์ของเพศเดียวกัน ซึ่งอิงมาจากชีวิตจริงของฮอลล์ซึ่งเป็นเลสเบียน
ในขณะที่นิยายเรื่อง Orlando ของเวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf) ที่วางขายในอีกสองเดือนให้หลัง และมีเนื้อหาว่าด้วยความแปลกใหม่มหัศจรรย์แห่งชีวประวัติฉบับพิสดารของเธอ กลับคว้าตำแหน่งนิยายขายดีประจำปีนั้น ทั้งยังคงความอมตะตลอดกาลในหมู่คนรักวรรณกรรม
ชื่อเสียงของวูล์ฟจึงกลบชื่อของนักเขียนหญิงที่กล้าแหกขนบออกมายืนแถวหน้าอย่าง แรดคลิฟ ฮอลล์ ให้ค่อยๆ เลือนหายไปกับกาลเวลา
ไม่ต่างจากการที่โลกรู้จักชื่อของสาวน้อย แอนน์ แฟรงค์ (Anne Frank) จาก The Diary of a Young Girl บันทึกของเธอที่จารึกชิ้นส่วนในหน้าประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 เอาไว้ให้โลกได้รู้เบื้องหลังชะตากรรมของชาวยิว ทั้งๆ ที่ เอสเธอร์ ฮิลล์ซัม (Esther Hillesum) หรือ เอ็ตตี้ ก็เป็นเด็กสาวนักเขียนไดอารี่ที่บันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอาไว้เช่นกัน
อาจจะต่างก็ตรงบันทึกของแอนน์เกิดจากปลายปากกาของเด็กหญิงในวัยที่เพิ่งรู้จักรักครั้งแรก แต่กลับต้องเผชิญชะตากรรมอันโหดร้ายก่อนวัยอันควร ส่วนเอ็ตตี้เริ่มเขียนบันทึกเล่มนี้ในวัย 27 ปี เมื่อเธออาสาไปประจำการที่ Westerbork หนึ่งในค่ายกักกันของนาซีเพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือดูแลคนเจ็บและคนแก่ในค่าย แต่อีกนัยหนึ่งคือ เธอตั้งใจจะไป ‘เป็นหูเป็นตาเพื่อปะติดปะต่อประวัติศาสตร์ของชาวยิว’ ผ่านตัวอักษรของเธอ
An Interrupted Life คือชื่อบันทึกของเอ็ตตี้ที่ถูกตีพิมพ์ในปี 1981 หรือเกือบ 40 ปีให้หลัง หลังจากที่เธอมอบไดอารีเล่มนี้ให้กับเพื่อน ก่อนที่เธอและครอบครัวจะถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกันเอาต์ชวิทช์ไม่นานนัก และพบจุดจบเดียวกับชาวยิวอีกหลายล้านคน
ฮิกุจิ อิจิโย (Higuchi Ichiyo) เป็นสตรีคนเดียวที่ได้รับการจารึกใบหน้าบนธนบัตรญี่ปุ่นที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะเธอคือหนึ่งในบุคคลสำคัญในวงการวรรณกรรมญี่ปุ่น โดยมีสถานะเป็นนักเขียนคนสำคัญแห่งยุคเมจิ
แต่ถ้าลองถือธนบัตรใบละ 5,000 เยน ไปถามคนญี่ปุ่นดูว่าผู้หญิงคนนี้เป็นใคร ร้อยละร้อยแทบจะส่ายหน้าว่าไม่รู้จัก
อิจิโยเป็นอีกหนึ่งหญิงแกร่งที่แหวกขนบดั้งเดิมของสังคมญี่ปุ่น ที่ผู้หญิงต้องเป็นช้างเท้าหลังและถือเป็นสมบัติของพ่อ ก่อนจะถูกส่งต่อไปอยู่ในความดูแลของสามี แต่ด้วยความที่พ่อของเธอมาด่วนจากไปด้วยวัณโรค ทำให้ช้างเท้าหลังอย่างเธอต้องรีบยันตัวเองขึ้นมายืนหยัดเพื่อหาเลี้ยงแม่และน้องสาว โดยอาศัยพรสวรรค์และพรแสวงในการเขียนเป็นอาวุธสำคัญ
ด้วยพื้นฐานชีวิตที่ยากลำบากเป็นทุน ทำให้นวนิยายและเรื่องสั้นของอิจิโยมีเนื้อหาเสียดสีสังคมและความต่ำต้อยทางชนชั้น อีกทั้งด้วยความที่ฐานะไม่ดีจึงต้องพักอาศัยในย่านโคมแดงโยชิฮาระ ที่กลายมาเป็นบ่อเกิดแรงบันดาลใจและแหล่งข้อมูลชั้นยอดในงานเขียนของเธอ ทำให้แม้อิจิโยจะมีโอกาสสร้างผลงานถึงแค่อายุ 24 ปี แต่ใบหน้าของเธอก็ได้รับการจารึกอยู่บนธนบัตรในมือของผู้คนในอีกร้อยปีถัดมา
ชื่อของนักเขียนหญิงทั้ง 3 คนนี้ เป็นเพียงเสี้ยวส่วนจากหนังสือ Forgotten Women: The Writers ที่บันทึกชีวประวัติและผลงานอันน่าทึ่งของกวี นักเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น นักเขียนบันทึก และนักข่าวสตรี รวม 48 ชีวิต
Forgotten Women: The Writers เป็น 1 ใน 4 หนังสือในชุด Forgotten Women ที่ว่าด้วยชีวิตและผลงานของสตรีที่โลกลืม ซึ่งนอกจาก ‘นักเขียน’ แล้ว ยังประกอบไปด้วย ศิลปิน (The Artists) นักวิทยาศาสตร์ (The Scientists) และผู้นำ (The Leaders) จากการเรียบเรียงโดย ซิง เซง (Zing Tsjeng) นักสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่ที่มีเส้นทางการทำงานน่าสนใจไม่แพ้กัน
ปัจจุบัน ซิง เซง เป็นบรรณาธิการบริหาร VICE.com เธอเป็นนักสื่อสารมวลชนเชื้อชาติสิงคโปร์ ที่ย้ายไปเติบโตและใช้ชีวิตในกรุงลอนดอน เซงเชี่ยวชาญทั้งงานเขียน งานข่าว งานสารคดี โดยเฉพาะในด้านสิทธิสตรี LGBTQ การเมือง วัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์
ผลงานของเซงโดดเด่นมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรีด้านสื่อสารมวลขนที่มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ โดยเธอสามารถพาหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยที่ตัวเองบรรณาธิกรณ์ ไปคว้ารางวัลจาก The Guardian ได้สำเร็จ เซงจึงเริ่มฝึกงานกับหนังสือพิมพ์ The Guardian และ DIVA นิตยสารสำหรับเกย์และสาวไบเซกชวลในอังกฤษ โดย เจน ซิสเซลสกา (Jane Czyzselska) บรรณาธิการในขณะนั้น เห็นว่าหน่วยก้านของเซงมีแววไปได้ไกล จึงแนะนำให้เธอประกอบอาชีพนักสื่อสารมวลชน
และราวกับเป็นการตอกย้ำความมั่นใจให้บัณฑิตจบใหม่ไฟแรงอย่างเซง เธอจึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้านสื่อสารมวลชนต่ออีกใบ หลังจากนั้น เธอก็เริ่มทำงานที่นิตยสาร Wonderland ทันทีที่เป็นมหาบัณฑิต
เส้นทางอาชีพของเซงดำเนินไปตามสเต็ป จากนักเขียนไต่เต้าไปเป็นบรรณาธิการ และเติบโตขึ้นเป็นนักประพันธ์ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ได้อย่างดีว่าการลงแรงทำงานอย่างหนักและยืนหยัดเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมเป็นประตูสู่โอกาสดีๆ ในชีวิต
Forgotten Women ยืนยันถึงข้อพิสูจน์นั้นได้อย่างยอดเยี่ยม โดยแสดงให้เห็นว่าเซงอุทิศตนเพื่อเป็นกระบอกเสียงด้านสิทธิสตรีในการนำเรื่องราวที่ไม่เคยได้รับการเล่าขานมาบอกต่อในวงกว้าง ผ่านการเรียบเรียงเนื้อหาที่เข้าใจง่าย และได้ทีมนักวาดภาพประกอบฝีมือดีชุดใหญ่มาร่วมสร้างสรรค์ภาพเหมือนของเหล่าสตรีทั้ง 192 ชีวิต ในรูปแบบที่ร่วมสมัยและมีสีสันกว่าภาพถ่ายพอร์ทเทรทสีขาวดำ
ความตั้งใจของเซงไม่ต่างจากคนทำงานด้านนิตยสารและหนังสือพิมพ์อีกเป็นจำนวนมาก ที่ฝันเอาไว้ว่าอยากเขียนหนังสือสักเล่ม เธอเองก็คิดว่าคงลุกขึ้นมาเขียนหนังสือตอนอายุมากกว่านี้ แต่ในเมื่อโอกาสและความพร้อมเข้ามาทักทายเธอในช่วงวัย 30 ปี จึงเป็นความลงตัวในทุกๆ ด้านที่ทำให้เซงสามารถเขียนหนังสือจบ 4 เล่ม ไปพร้อมๆ กับความสามารถในการรับผิดชอบต่อหน้าที่หลักอย่างการเป็นบรรณาธิการควบคู่ไปด้วยอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
จุดเริ่มต้นของหนังสือชุด Forgotten Women เริ่มต้นจาก 2 ส่วนผสมหลัก คือ วัตถุดิบที่สุกงอมในตัวเซงที่มาพร้อมโอกาสในการตีพิมพ์ ด้วยความที่เซงเป็นหนอนหนังสือตัวยง เธอจึงขวนขวายหาเรื่องราวชีวิตของบรรดาผู้หญิงเก่งในหลายแวดวงทั่วโลกมาอ่านสะสมไว้ในคลังสมองอยู่แล้ว จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอมีโอกาสได้รู้จักกับ โรมิลลี มอร์แกน (Romilly Morgan) บรรณาธิการประจำสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง เซงจึงเล่าเรื่องของสาวๆ ที่โลกลืมเหล่านี้ให้โรมิลลีฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น อารมณ์เหมือนเพื่อนสาวเม้าเรื่องชาวบ้านสู่กันฟัง
โรมิลลีเองก็รู้สึกประทับใจในเรื่องเล่าเกี่ยวกับบรรดาสาวเก่งในอดีตไม่น้อย ดังนั้น ทันทีที่เธอย้ายมาทำงานที่สำนักพิมพ์ Octopus เธอจึงโยนไอเดียนี้ให้กับทีมงาน และได้ข้อสรุปว่า น่าจะทำหนังสือชุด Forgotten Women ขึ้นมาจริงๆ โรมิลลีจึงไปทาบทามเซงให้มารับหน้าที่นักเขียน และหลังจากที่เซงเขียนบทเกริ่นนำพร้อมทั้งตัวอย่างเนื้อหาของ Forgotten Women ขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2017 โรมิลลีก็นำโปรเจคท์นี้ไปโชว์ในงาน London Book Fair และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากนั้น เซงก็เซ็นสัญญาเขียนหนังสือทั้ง 4 เล่มในซีรี่ส์สตรีที่โลกลืมชุดนี้ แล้วเริ่มลงมือทำงานทันที
ด้วยความที่หนังสือแต่ละเล่มในชุด Forgotten Women มีตัวละครมากถึง 48 คน ทำให้นอกจากเซงกับโรมิลลีจะช่วยกันคัดเลือกบุคคลที่น่าสนใจกันเองแล้ว ยังได้ ดร. จีนา ลูเรีย วอล์กเกอร์ (Dr Gina Luria Walker) ผู้ดูแล New Historia Project ภายใต้สังกัดศูนย์วิจัย The New School มาร่วมคัดเลือกอีกแรง
New Historia Project เป็นโครงการสร้างแพลทฟอร์มดิจิตอลเพื่อเชื่อมโยงคนอ่านรุ่นใหม่ให้มีโอกาสรู้จักผู้หญิงเก่งระดับโลกที่ไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อน ดังนั้น การทำงานร่วมกันระหว่าง New Historia Project กับซีรีส์หนังสือ Forgotten Women จึงเอื้อซึ่งกันและกัน เพราะ ดร.จีนา เองก็มีส่วนในการก็โยนรายชื่อของผู้หญิงเก่งที่โลกลืมมาเสนออีกหลายสิบชื่อ
ในช่วงแรก เซงจะเลือกแต่ผู้หญิงที่มีประวัติชีวิตโดดเด่นและเป็นเจ้าของผลงานที่น่าสนใจ วัดง่ายๆ ว่าเรื่องราวของพวกเธอต้องเข้มข้นและรู้สัก ว้าว พอที่จะอยากเอาไปเล่าต่อให้เพื่อนฟัง โดยเซงยอมรับว่าเล่มที่เธอทำงานง่ายที่สุดก็คือ The Writers แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเล่มที่หลอนความรู้สึกของตัวเองมากที่สุดเช่นกัน เพราะแน่นอนว่าในฐานะนักเขียน เซงจึงอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบทักษะการเขียนของตัวเองกับนักเขียนรุ่นใหญ่เหล่านั้น
และเป็นเพราะโจทย์คือการเขียนถึงบุคคลที่โลกไม่จดจำ ทำให้ขั้นตอนในการทำงาน ‘ยาก’ ตั้งแต่การเข้าถึงข้อมูลในการเขียน โดยเซงต้องพยายามขุดข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการต่างๆ (บรรณานุกรมในตอนท้ายของแต่ละเล่มจึงเต็มไปด้วยรายชื่อหนังสืออ้างอิงยาวเป็นหางว่าวราวกับวิทยานิพนธ์) เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เธอเลือกหยิบจับชีวิตมาเล่ามักได้รับการเอ่ยถึงในเอกสารทางวิชาการ แต่มิอาจก้าวข้ามมาสู่ฟากฝั่งของการรับรู้ในวงกว้างได้เลย
เซงจึงต้องไปสิงสถิตอยู่ตรงมุมหนังสือวิชาการคลุ้งฝุ่นใน British Library เพื่ออ่านเอกสารมากมาย รวมถึงค้นคว้าหานิยายและหนังสือฉบับดั้งเดิม ซึ่งเป็นผลงานของนักเขียนหญิงในหมวด The Writers มาอ่าน ซึ่งทำให้เธอมีความหวังอยู่ลึกๆ ว่า หากหนังสือ Forgotten Women: The Writers ทำให้ชื่อของนักเขียนหญิงเหล่านี้ได้รับการพูดถึงอีกครั้ง งานเขียนของพวกเธออาจได้รับการนำกลับมาตีพิมพ์ซ้ำก็เป็นได้
โชคดีที่เซงเป็นคนอ่านหนังสือเร็วและแตกฉาน ดังนั้น หลังจากอ่านหนังสือและข้อมูลต่างๆ จนหมดแล้ว เธอจะใช้เวลาช่วงเย็นหลังเลิกงานในการนำข้อมูลที่ได้มาย่อย แล้วเขียนเป็นประวัติของแต่ละคน (ความยาว 750-1,000 คำ) รวมถึงในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่เธอก็ไม่มีข้อยกเว้นให้การผลิตต้นฉบับสำหรับงานเขียนเล่มนี้ โดยเซงจะต้องเขียนประวัติย่อให้เสร็จอย่างน้อยๆ 3 คนทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ก่อนจะร่างโครงเรื่องคร่าวๆ ว่าจะบรรยายถึงแต่ละชีวิตยังไง แล้วค่อยเก็บรายละเอียด และเลือกวาทะเด็ดมาชูโรงในขั้นตอนสุดท้าย
หนึ่งในสิ่งที่เซงได้เรียนรู้จากการทุ่มเทเพื่องานเขียนชุดนี้ ก็คือประวัติศาสตร์มนุษยชาติมักซ้ำรอยเดิม ความเกลียดชังและการหยามเหยียดมนุษย์ด้วยกันเองยังคงเกิดขึ้นในทุกยุคสมัย แต่ไม่ว่าจะเป็นในห้วงเวลาใดก็ตาม จะมีผู้หญิงลุกขึ้นมายืนหยัดต่อสู้เพื่อความถูกต้องเสมอ เซงยืนยันว่าทุกปัญหาที่เราพบเจอในยุคนี้ล้วนเคยเกิดขึ้นเมื่อร้อยปีที่แล้วทั้งนั้น
ดังนั้น การทำความรู้จักผู้หญิงผู้ไม่เคยเป็นที่รู้จักผ่านหนังสือชุดนี้ จึงเป็นการทบทวนประวัติศาสตร์มนุษยชาติชั้นดี เพราะอดีตจะช่วยให้เราเข้าใจปัจจุบันมากขึ้น และมองออกว่าควรจะก้าวไปสู่อนาคตในทิศทางใด
อ้างอิง
- Agenda by the Editors.Zing Tsjeng’s Forgotten Women. https://www.foldmagazine.com/zing-tsjengs-forgotten-women
- Isabel van Zeller.Zing Tsjeng: Journalist, Author and Role Model. https://www.aceandtate.com/journal/portraits/zing-tsjeng-journalist
ความเห็น 0